55 ปี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ย้อนรำลึกเส้นทางความเอื้ออาทร

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ

13 ตุลาคม 2567 วันสถาปนาครบรอบ 55 ปี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พร้อมก้าวสู่ปีที่ 56 เดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนางานบริการโลหิตอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งรณรงค์จัดหาโลหิต ความก้าวหน้าด้านวิชาการ และเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านเวชศาสตร์บริการโลหิต เพื่อยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยของโลหิตที่ได้รับบริจาค

ภายใต้วิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางการให้บริการโลหิต เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต และผลิตภัณฑ์ด้านบริการโลหิตของประเทศได้เพียงพออย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และปลอดภัยสูงสุดต่อผู้บริจาคโลหิต ผู้ป่วย ด้วยมาตรฐานสากล”

ในโอกาสนี้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงชวนทำดีร่วมบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อให้มีโลหิตสำรองคงคลังเพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ สามารถบริจาคโลหิตได้เป็นประจำทุก 3 เดือน ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ หน่วยรับบริจาคประจำที่ 7 แห่ง (Fixed Station) และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และในวาระ 55 ปี แห่งการสถาปนาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

ที่สำคัญ “โลหิต” ยังไม่สามารถผลิตด้วยกรรมวิธีอื่นได้ ต้องได้มาจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ซึ่งร้อยละ 77 ได้นำไปให้ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดเฉียบพลัน เช่น ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดและผู้ที่คลอดบุตร

ขณะที่ร้อยละ 23 นำไปรักษาผู้ป่วยโรคเลือดชนิดต่าง ๆ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย และมะเร็งชนิดต่าง ๆ การบริจาคโลหิต 1 ครั้ง สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต

ADVERTISMENT

จุดเริ่มต้นของศูนย์บริการโลหิตฯ

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมสันนิบาตกาชาด ครั้งที่ 17 ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่มีมติให้สภากาชาดแต่ละประเทศจัดตั้งงานบริการโลหิตขึ้น

โดยยึดถืออุดมคติว่า “ผู้บริจาคโลหิตต้องมาด้วยจิตศรัทธา ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน หรือหวังผลตอบแทนแต่อย่างใด” ประเทศไทยจึงจัดตั้งแผนกบริการโลหิตขึ้นในกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2495 เพื่อสนองต่อข้อเสนอ
ของสภากาชาดสากล

ADVERTISMENT

ปี 2508 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และมอบให้สภากาชาดไทย รับไปดำเนินการ จากนั้นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2509 แผนกบริการโลหิต กองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย ได้ยกฐานะขึ้นเป็น “ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย” มีนายแพทย์เฉลิม บูรณะนนท์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติคนแรก

รำลึกเส้นทางประวัติศาสตร์

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2496 หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พร้อมพระประยูรญาติได้ประทานเงินสร้างตึกรังสิตานุสรณ์ ใช้เป็นที่ทำการของแผนกบริการโลหิต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “ตึกรังสิตานุสรณ์”

วันที่ 6 เมษายน 2496 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ลงพระนามในใบสมัครเป็นผู้บริจาคโลหิต เลขที่ 00001 ของประเทศไทย

วันที่ 13 ตุลาคม 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “อาคารศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ” จึงถือเอาวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ

วันที่ 27 มีนาคม 2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ” เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ โดยได้รับพระราชทานนามอาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ” เป็นอาคารสูง 11 ชั้น ปัจจุบันเป็นอาคารที่ทำการของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

บทบาทหน้าที่ศูนย์บริการโลหิตฯ

หวังสิ่งตอบแทน ให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ ทั้งในรูปโลหิต ส่วนประกอบโลหิตและผลิตภัณฑ์โลหิต

นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางห้องปฏิบัติการและข้อมูลด้านบริการโลหิตของประเทศ ธำรงไว้ซึ่งระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากล

ตลอดระยะเวลา 55 ปี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ยึดหลักการดำเนินงานบริการโลหิตภายใต้ค่านิยมองค์กร “คุณภาพ รับผิดชอบ เอื้ออาทร” มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรให้เติบโต ก้าวหน้าสู่ความสำเร็จ โดยได้รับการยอมรับจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) แต่งตั้งให้เป็น ศูนย์ฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์บริการโลหิตประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตั้งแต่ปี 2547 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ความก้าวหน้าของงานในปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ระบุว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้มีการพัฒนางานบริการโลหิตในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับกลยุทธ์การจัดหาโลหิต และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก

ส่วนทางด้านวิชาการ มีการศึกษาวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในงานบริการโลหิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยยึดมั่นในนโยบายคุณภาพ “มุ่งมั่นให้บริการโลหิตและผลิตภัณฑ์โลหิตที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล ด้วยการบริหารระบบคุณภาพที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก จริยธรรม ความเสมอภาค และความพึงพอใจของผู้รับบริการ”

ส่งผลให้งานบริการโลหิตของประเทศไทย พัฒนาสู่ความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่สำคัญด้านต่าง ๆ อาทิ

ด้านการรณรงค์จัดหาโลหิต : การบรรจุความรู้เรื่องโลหิตและการบริจาคโลหิต เป็นหนึ่งในกิจกรรมพิเศษของยุวกาชาด หลักสูตรอบรมลูกเสือ ยุวกาชาด ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปลูกฝังค่านิยมแห่งการให้ในกลุ่มเยาวชน ให้สมัครใจเป็นผู้บริจาคโลหิตในอนาคต อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การจัดกิจกรรมเชิญชวนบริจาคโลหิตให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ตามวาระโอกาส และเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ตลอดทั้งปี

ด้านความปลอดภัยของผู้บริจาคโลหิต : โครงการ Harm Free Care เพิ่มคุณภาพความปลอดภัยหลังการบริจาคโลหิต ผู้บริจาคปลอดภัยไม่เป็นอันตรายจากการเป็นลม เพิ่มจุดบริการวัดความดันโลหิต ประเมินอาการผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ และผู้บริจาคโลหิตที่มีประวัติเป็นลม หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลังการบริจาคโลหิต

ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ : การผลิตน้ำยาตรวจหมู่โลหิตสำหรับตรวจหาแอนติเจน Dia บนผิวเม็ดเลือดแดง เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับตรวจหมู่โลหิตชนิดใหม่ที่ค้นพบ สามารถตรวจหาแอนติเจน Dia ในคนที่มีหมู่โลหิต ABO ได้ทุกหมู่

การผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากพลาสมา อาทิ แฟกเตอร์ VIII นำไปใช้ในผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเลือดออกง่าย หรือฮีโมฟีเลีย เอ, อิมมูโนโกลบูลิน นำไปใช้เสริมการรักษาเฉพาะโรค เช่น โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน, อัลบูมิน นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีอาการช็อกจากการขาดสารน้ำ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากการติดเชื้อ

การผลิตส่วนประกอบโลหิต LDPPC เป็นเกล็ดเลือดเข้มข้นชนิดที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำมาก ลดการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการรับโลหิตได้

การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจยืนยันผล HLA ของผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเพื่อความถูกต้องรวดเร็ว ในการทดสอบความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อผู้บริจาค กับผู้ป่วย

การตรวจหมู่โลหิตเชิงลึกระดับโมเลกุล เพื่อหาหมู่โลหิตพิเศษ “Rh+ (Asian-type DEL)” หรือหมู่โลหิต “อาร์เอชเดล
ชนิดเอเชี่ยน” ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่มีความเหมาะสม ลดความเสี่ยง และเพิ่มความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น

ด้านการบริหารระบบคุณภาพ : การได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 9001:2015, ISO 15189:2012, ISO 15190:2020, GMP, มาตรฐานทางวิชาการของห้องปฏิบัติการราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย

และล่าสุด ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพงานเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตระดับสากล WMDA Full Standards Certification จากองค์กรระดับโลก WMDA เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567