Womenomics เกษตรกรหญิงแกร่ง @ เขานาใน สุราษฎร์ธานี

ขมิ้นที่ดี คือขมิ้นที่มีสารเคอร์คิวมินอยด์ (Curcuminoid) สูงและได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication)

จากการประเมินของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่พบว่าขมิ้นชันที่วิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคุณสมบัติทางยา ที่มีสารสำคัญมากกว่าค่ามาตรฐานของขมิ้นชันทั่วไป จึงเป็นอีกแหล่งเพาะปลูกขมิ้นชันที่ดีที่สุดของไทย

โดยได้ขึ้นทะเบียนรับรอง GI ผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นสู่การรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรหญิง และถือกำเนิดเป็น “Womenomics” พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน สะท้อนผ่าน “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เขานาใน” ที่พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

หนูเรียง จีนจูด-จูนจิ โอตะ
หนูเรียง จีนจูด-จูนจิ โอตะ

นางหนูเรียง จีนจูด ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน และประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เขานาใน กล่าวว่า สยามคูโบต้าได้สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน เมื่อปี 2564 โดยต่อยอดการปลูกขมิ้นและสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูป

แรกเริ่มจากสวนปาล์มต้นที่อายุมากกว่า 20 ปี ด้วยการตัดรากปลูกขมิ้นชันระหว่างที่รอโค่นต้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และได้นำวิธีการ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS ที่ใช้เทคนิคการเพาะปลูก ผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร มีแบบแผนตั้งแต่การปฏิรูปพื้นที่ การเตรียมดิน การเพาะปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังเก็บเกี่ยว แปรรูป และขนส่งผลผลิต

ซึ่งการได้เครื่องจักรมานี้ช่วยสร้างผลผลิตได้ไร่ละ 1,273 กิโลกรัม สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป ช่วยสร้างรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน ส่วนขมิ้นที่เหลือได้นำไปบดหยาบขายได้กิโลกรัมละ 500 บาท อบแห้ง กิโลกรัมละ 300 บาท ขายเป็นอาหารสัตว์ อาหารวัวขุน ช่วยให้วัวไม่ท้องอืด ส่วนที่เหลือนำไปทำน้ำมันต่อ ไม่ปล่อยให้เหลือทิ้งแม้แต่น้อย

ADVERTISMENT

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาในมีสมาชิก 35 คน พื้นที่การเกษตร 600 ไร่ ปลูกยางพารา 390 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 210 ไร่ และขมิ้นชัน 100 ไร่

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังสร้างธนาคารขมิ้น 6 สายพันธุ์ ได้แก่ ขมิ้นชัน ขมิ้นแดงสยาม ขมิ้นดำ ขมิ้นขาว ขมิ้นด้วง และขมิ้นอ้อย เพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์ ช่วยลดต้นทุน สร้างรายได้เพิ่มอีกทาง

นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ทำอย่างไรก็ได้ให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้ โดยเฉพาะ BCG ซึ่งทุกจังหวัดในไทยได้ดำเนินตาม SDGs 17 ข้ออยู่

“สุราษฎ์ธานีพร้อมและตั้งใจดำเนินการร่วมกับชุมชนเขานาใน และภาคเอกชนที่สนับสนุน เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เขานาใน เป็นที่แรกใน 14 จังหวัดภาคใต้ ตัวผมกับแม่หนูเรียงและชาวบ้านได้ยอมเสียสละที่ดินเพื่อความเจริญของชุมชนสุราษฎร์ธานี และอยากจะขยายต่อยอดไปอีก 19 อำเภอต่อไป”

ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เขานาใน โซนอาคารแปรรูปสมุนไพร และโซนแปลงส่งเสริมการปลูกขมิ้นชันด้วยระบบ KAS

เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาในอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็มีความมุ่งมั่นจะพัฒนาศักยภาพ เป็นพลังขับเคลื่อนให้ศูนย์เรียนรู้มีความพร้อมในการต้อนรับเหล่าเกษตรกรและผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาอีกด้วย

นายจูนจิ โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า หลังจากสยามคูโบต้าเข้ามาศึกษาวิเคราะห์พื้นที่การเกษตรของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้แล้ว พบว่าต้นทุนการปลูกขมิ้นน่าสนใจ ทั้งเตรียมการขอมาตรฐานรับรองสินค้า พร้อมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และวางแผนช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์

สำหรับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ได้จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้การศึกษาดูงาน เรียนรู้วิธีการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งรวมความรู้ด้านการเกษตรเท่านั้น

แต่ยังเป็นชุมชนเกษตรต้นแบบ ใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจรในการปลูกพืชสมุนไพร และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการผลิตสมุนไพร เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน และต่อยอดรายได้ให้เศรษฐกิจของจังหวัด ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป

นายจูนจิกล่าวว่า สยามคูโบต้ามีนโยบายการดำเนินธุรกิจในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมบนพื้นฐานความยั่งยืน

จึงมุ่งเน้นไปยังเกษตรกรผู้ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพึ่งพาตนเองได้ เกิดความรักและภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเอง ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ผ่านกิจกรรม 3 ด้านคือ การเกษตร การตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่ม-การพัฒนาศักยภาพบุคลากร

ทั้งนี้ สยามคูโบต้ามีแผนจะพัฒนาศูนย์เรียนรู้ต่อไป เพื่อให้เกิด “การทำธุรกิจชุมชนต้นแบบ” โดยเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และศูนย์นวดแผนไทยของสุราษฎร์ธานีด้วย พร้อมส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปตลาดต่างประเทศ

ท้ายที่สุดคือพัฒนาต่อยอดความยั่งยืนสู่เป้าหมาย “ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน” หรือ Smart Farming Model ของภาคใต้ พร้อมเป็นพลังแห่งการส่งต่อไปยังพี่น้องเกษตรกรและภาคการเกษตรต่อไป