Gen S คนเจนใหม่หัวใจยั่งยืน ร่วมสร้างโลกจากไลฟ์สไตล์ที่ดี

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนผ่านจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) เข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ทั้งเชื่อมั่นว่า โลกที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกคน

งาน “GC Sustainable Living Symposium 2024 : GEN S GATHERING” กับแนวคิด “ยั่งยืน # ยาก” จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่ พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยรวมพลคน Gen S ซึ่งเป็นคนเจนใหม่ หัวใจยั่งยืน ที่มีความหลากหลายอาชีพ หลายธุรกิจ ไม่จำกัดเพศและวัย ได้ร่วมกันกะเทาะความคิดกันและกัน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างแรงกระเพื่อมให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น

สรุปแล้ว ไม่ว่าใครก็เป็น Gen S หรือ Generation Sustainability ได้ เจเนอเรชั่นที่ไม่ได้หมายถึงเพศหรืออายุ แต่หมายถึงกลุ่มคนที่ยั่งยืนด้วยแนวคิดและไลฟ์สไตล์

ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน

“วารี หน่อแก้ว” หรือ “ยายหนิง” คุณแม่ของนักแสดงสาว ชมพู่-อารยา ตัวแทน Gen Baby Boomer วัย 70 ปี ที่ผสานธรรมชาติเข้ากับการใช้ชีวิต เล่าถึงบรรยากาศของธรรมชาติเมื่อก่อนกับยุคนี้มีความแตกต่างกันมาก

เมื่อก่อนยายหนิงอยู่นครพนม-สปป.ลาว ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรที่หลากหลาย การทำการเกษตรเป็นเรื่องง่าย เพราะดินที่อุดมสมบูรณ์ ผิดกับในยุคปัจจุบันที่เมืองหลวงเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง เต็มไปด้วยควันรถ ส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม ปลูกผักได้ยากไม่เหมือนเก่าก่อน

ADVERTISMENT

การเผยแพร่การปลูกผักกับลูกสาวอย่าง ชมพู่-อารยา และหลาน ๆ มีการทะเลาะกันเล็กน้อย แต่ด้วยเป้าหมายที่อยากให้ลูกหลานได้กินของดี อยากมีที่ดินให้ลูกหลานได้วิ่งเล่นบนพื้นดินจริง ๆ เริ่มต้นจากที่ตัวเองก่อน

“อยากให้คนเจนใหม่ ๆ คิดว่า การใช้ชีวิตในเมือง เราจะโหยหาของที่เราเคยได้กิน ของที่เคยใช้ อากาศที่เย็นสบาย เพราะเงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง เพียงเริ่มต้นจากความคิดที่จะลงมือทำ จากต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ถ้าสำเร็จมันก็ดีนะ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็เอาใหม่ ตั้งเป้าหมาย เพื่อโลกที่ไม่ร้อนไปกว่านี้ หรือคิดเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยากเลย” ยายหนิงฝากทิ้งท้าย

ADVERTISMENT

สถาปนิกกับเมืองที่เต็มไปด้วยสติ

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกรักษ์สิ่งแวดล้อม ตัวแทน Gen X ที่นำวัสดุอัพไซเคิลเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์อย่างแพร่หลาย กล่าวว่า ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย มี 2 หน้าที่หลัก ๆ คือ หน้าที่สอนหนังสือ

แม้ว่าจะสอนให้ออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงานแต่ก็ยังสร้างขยะจำนวนมาก จึงได้มีแนวคิดที่นำขยะมาใส่ในอาคารต่าง ๆ และต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

และอีกหน้าที่หนึ่งคือ การทำงานวิจัย สิ่งที่น่าสนใจคือ ความถี่ของการตีพิมพ์งานวิจัยที่พูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อนและขยะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ต่อไปสิ่งเหล่านี้จะเป็นกระแสหลักในอนาคตอย่างแน่นอน

“ผมเพิ่งตระหนักได้ว่า ถ้าจะทำในรุ่นเรามันต้องสร้าง มันต้องทำ ผมเป็นสถาปนิกที่ตั้งคำถามตลอดว่า เราพรากเอาที่อยู่ของสัตว์มาเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์หรือไม่ ปัจจุบันจึงมีแนวคิดเมืองใหม่ที่เปลี่ยนเมืองตัวเองกลับไปสู่ธรรมชาติมากขึ้น เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสติ ทำอะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ใช่การเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” รศ.ดร.สิงห์กล่าว

ชะลอชีวิตให้ยืนยาว

ภิพัชรา แก้วจินดา หรือ เพชร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PIPATCHARA ตัวแทน Gen Y ที่มาพร้อมกับแฟชั่นรักษ์โลก บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นต้องการทำแบรนด์ว่า ด้วยแพสชั่นที่อยากทำอะไรกับพี่สาว จึงได้เริ่มทำแบรนด์ที่เป็น Fashion For Community ใช้งาน Art & Craft เป็นตัวเชื่อมระหว่างชุมชนและงานแฟชั่น ผ่านการถักทอจากคนท้องถิ่นภาคเหนือ สร้างขึ้นเป็น Community ของ PIPATCHARA

ความท้าทายมีอยู่แล้วในทุกอาชีพ ส่วนของ PIPATCHARA มี 2 เรื่อง คือเรื่องการบริหารจัดการชุมชนให้เกิดความยั่งยืนผ่านการดูแลกันและกัน และการที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของการรีไซเคิลมากขึ้น

อย่างคอลเล็กชั่นพลาสติกกำพร้าที่นำฝาขวดน้ำไปทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เป็นการถ่ายทอดเรื่องราว Fashion For Community ไม่ใช่ในแง่ของการนำขยะมาแปรรูป แต่เป็นการนำพลาสติกไปสู่ชุมชน เพื่อสานต่อ ถักทอให้ออกมาเป็นเสื้อ 1 ตัว

“แฟชั่นมีส่วนเกี่ยวโยงกับธุรกิจค่อนข้างเยอะ เพชรหาที่ปรึกษาที่เขามีความรู้ ความเข้าใจด้านธุรกิจ บัญชี สังคม สิ่งแวดล้อม และนำตัวเองไปอยู่ในสังคมที่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพชรเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้แลกเปลี่ยนกันได้เมื่อมีการพูดคุยกัน เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้จริง” ภิพัชรากล่าว

คอนเทนต์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องง่าย

Go Green Girls ครีเอเตอร์วัยใส โดนใจสายกรีน ตัวแทนคน Gen Z ที่ถ่ายทอดมุมมองรักษ์โลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เล่าว่า ในยุคปัจจุบันที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟน มีโซเชียลเป็นของตัวเอง และด้วยความเชื่อที่ว่า

ทุกคนมีความตระหนักรู้ในเรื่องของภาวะโลกร้อนอยู่แล้ว จึงได้คิดถ่ายทอดเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัวมาเล่าให้ฟังและได้ผลตอบรับอย่างดี ผ่านแนวคิดที่ว่า “เปลี่ยนแค่นี้ก็กรีนละ”

ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากจะบอกเล่าเรื่องกรีนให้คนวัยเดียวกัน แต่ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว พบว่ามีคนหลากหลายช่วงวัยมากที่มาติดตามช่องทางต่าง ๆ โอกาสของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์คือ การเข้าถึงคนได้ทุก ๆ คน

ทุกคนสามารถเป็น Gen S ได้หมด Gen S ที่ว่าคือเป็นเจเนอเรชั่นหรือกลุ่มคนที่ไม่จำกัดอายุที่มุ่งมั่นเรื่องความยั่งยืนด้วยแนวคิดและไลฟ์สไตล์ ทั้งสามารถช่วยแบ่งเบาภาระโลก สามารถสร้างความยั่งยืนได้ในรูปแบบของตัวเอง

“สิ่งแวดล้อมคือ สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา การที่เรากรีนขึ้น ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างเดียว แต่ตัวเราต้องดีขึ้นตามไปด้วย ไม่ต้องถึงกับหักดิบ เลือกทำที่ตัวเองสะดวกได้เลย ปลายทางคือการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเหมือน ๆ กัน ถ้าค่อย ๆ เปลี่ยน ค่อย ๆ ยั่งยืนมันจะอยู่ได้นานกว่า และดีกว่าอย่างแน่นอน” สาว ๆ Go Green Girls กล่าวเพิ่มเติม

จากนี้โลกคงไม่เย็นลงอีกแล้ว

เด็กชายปานพุฒิ ศักตยาวนิช หรือ “น้องปานพุฒิ” เด็กรุ่นใหม่หัวใจกรีน ๆ อายุเพียง 9 ขวบ ในฐานะตัวแทน Gen Alpha ที่สนใจเรื่องการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกว่า

ในโลกปัจจุบัน ทุกอย่างคงไม่เหมือนเดิม ประเทศไทยทุกวันนี้ร้อนเกินจะทนไหว ไม่สามารถรับได้อีกต่อไปแล้ว ด้วยความที่อยากให้โลกใบนี้คงอุณหภูมิเท่านี้ไปนาน ๆ น้องปานพุฒิเริ่มปรับพฤติกรรมที่ตัวเอง ปรับทัศนคติใหม่ เริ่มต้นง่าย ๆ จากการกินข้าวให้หมดจาน และถอดปลั๊กทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน อีกทั้งน้องปานพุฒิยังได้สอนให้พ่อแม่และเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนคัดแยกขยะอีกด้วย

“มาเป็น Gen S ด้วยกันเยอะ ๆ นะครับ เพราะความยั่งยืนไม่เท่ากับยากครับ” น้องปานพุฒิฝากทิ้งท้าย