ชวนทำ “โฮมีโอพาธีย์-ชี่กง” ศาสตร์สุขภาพ-สมดุลกายใจ

ธรรมชาติทรงพลังกว่าที่คิด ศักยภาพของร่างกายมนุษย์ก็เช่นกัน เมื่อไรที่ร่างกายและจิตใจเสียสมดุล อาการป่วยไข้จะถามหาทันที

แม้การแพทย์แผนปัจจุบันจะทันสมัยมาก แต่มีบางจุดที่แผนปัจจุบันยังหาคำตอบไม่ได้ การรักษาสุขภาพสมดุลจึงเป็นการสร้างความยั่งยืนเชิงสุขภาพที่น่าสนใจ

เวที “กายใจยั่งยืน ด้วยวิถีพลังแห่งชีวิต” ส่วนหนึ่งของงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน หรือ Sustainability Expo 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้เปิดโอกาสร่วมกันค้นหาพลังดังกล่าว

พร้อมชวนรู้จักแพทย์ทางเลือกและศาสตร์ดูแลสุขภาพที่เป็นภูมิปัญญาตะวันออก กับ 2 ศาสตร์สุขภาพ คือ โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) การแพทย์ทางเลือกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และ “ชี่กง” ศาสตร์และศิลป์ของจีนในการออกกำลังกาย

อาทินันท์ พีชานนท์
อาทินันท์ พีชานนท์

งานนี้ “อาทินันท์ พีชานนท์” กรรมการ และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกิจกรรม ในฐานะผู้ชื่นชอบการออกกำลังกายด้วยศาสตร์ดังกล่าว เช่นเดียวกับ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

แพทย์หญิงพัชรินทร์ ตันติวรวิทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เล่าว่า โฮมีโอพาธีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์ แต่เกิดมานาน 200 ปีแล้ว ที่เยอรมนี โดยนายแพทย์ Samuel Hahnemann เป็นการแพทย์แผนใหม่ที่มีหลักคิดตรงข้ามกับการรักษาที่เราคุ้นเคย เช่น กรดในกระเพาะเยอะ รักษาด้วยยาลดกรด ไข้สูงรักษาด้วยการให้ยาลดไข้ น้ำร้อนลวกให้ใช้น้ำแข็งประคบ ฯลฯ

ADVERTISMENT

แต่โฮมีโอพาธีย์ ใช้แนวคิด Like with Like คือการใช้ความเหมือนรักษา เช่น น้ำร้อนลวกให้ใช้น้ำอุ่นประคบ น้ำอุ่นจะดึงความร้อนจากผิว ความร้อนจะไม่ทำลายเนื้อเยื่อชั้นในที่โดนน้ำร้อนลวก แต่ถ้าใช้น้ำแข็งจะทำให้ผิวด้านนอกเย็น หายแสบร้อน แต่ความร้อนในเนื้อเยื่อด้านในจะยิ่งถูกผลักลึก ทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง เป็นต้น

“การรักษาแบบนี้เป็นมิตรกับธรรมชาติ ที่อยู่ฝั่งเดียวกับร่างกาย เวลามีไข้เป็นสัญญาณที่บอกว่าเราควรนอนพัก และดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อให้กลไกร่างกายขับพิษออกมาได้เอง” พญ.พัชรินทร์อธิบาย

หัวใจสำคัญของโฮมีโอพาธีย์ คือการมองผู้ป่วยเป็น “คน” ไม่ได้มองแยกเป็นอวัยวะ เป็นการรักษาองค์รวม แพทย์ต้องซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ทั้งการใช้ชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก ความกังวล หรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่อาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลจนป่วย ต่างจากการแพทย์ปัจจุบันที่มีแพทย์เฉพาะทางมากมาย อาทิ ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องพบแพทย์หลายสาขา ทั้งหัวใจ ไต เบาหวาน

ดร.สีมา มาเฮส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโฮมีโอพาธีย์ระดับโลก บอกว่า วารสารทางการแพทย์ระดับโลกชี้ว่า โฮมีโอพาธีย์ใช้รักษาได้ผลดีกับโรคทุกชนิด ตั้งแต่ภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคหัวใจ โรคผิวหนัง มะเร็ง ทั้งระดับความรุนแรงน้อยไปจนถึงมากและรักษายาก

พญ.วรางคณา ทองคำใส จักษุแพทย์ สภากาชาดไทย เล่าตัวอย่างผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนมานานกว่า 15 ปี ที่ทนทุกข์กับอาการปวดศีรษะรุนแรงเดือนละ 2-3 ครั้ง แพทย์ได้ซักประวัติละเอียดทั้งการกิน การอยู่ การนอน และทำงานอะไร เมื่อวินิจฉัยแล้ว แพทย์ได้สั่งยาแบบโฮมีโอพาธีย์ให้ครั้งเดียว จากนั้นอาการดีขึ้นมา 3 ปีแล้ว

การรักษาแบบนี้เป็นการให้ยา ซึ่งไม่ใช่ยาแผนปัจจุบันที่เป็นเคมีสังเคราะห์ แต่เป็นการนำดอกไม้ พืช สมุนไพรมาสกัดโดยไม่ใช้สารเคมี เพื่อให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด

แต่การเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ คือ กรณีกระดูกแตกหัก หรือการรักษาฟัน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ แต่โฮมีโอพาธีย์ช่วยเรื่องบริหารความเจ็บปวดได้

พัชรี ยังเจริญ นักบำบัดไฮมีโอพาธีย์แนวดั้งเดิม และเป็นผู้แทนจาก Thai Coordinate for International Academy for Classical Homeopathy สรุปสั้น ๆ ว่า “ร่างกายเราก็เหมือนสนามเล็ก ๆ ของควอนตัมฟิสิกส์ เมื่อได้รับพลังงานลบมาก ๆ จะสะสมที่จุดหนึ่งของร่างกายจนเกิดเจ็บป่วย โฮมีโอพาธีย์จึงนำผู้ป่วยกลับสู่สมดุลทั้งกายใจนั่นเอง”

“สุรศักดิ์ องอาจถาวร” อาจารย์สอนชี่กง กล่าวเสริมว่า ชี่กงเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติ มีวิถีเป็นพลังศาสตร์และศิลป์ในการดูแลจิตและกายที่เชื่อมด้วยพลังงาน โดยดึงศักยภาพกายและจิตออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ชี่” คือ ลมปราณ การฝึกชี่กง คือการฝึกเพื่อบริหารจัดการ หรือปรับสมดุลของพลังงานในร่างกาย เป็นประโยชน์ในเชิงป้องกัน รักษาสุขภาพและการบำบัด การฝึกชี่กงบำบัดโรคทางกาย เช่น กลุ่มโรคภูมิคุ้มกัน เลือด ไขมัน โรคยากอย่างมะเร็ง ขึ้นกับภาวะของร่างกายแต่ละคน ส่วนของการบำบัดจิต เริ่มตั้งแต่การทำจิตให้นิ่ง สบาย เบิกบาน รับรู้อารมณ์ และการส่งเสริมปัญญา

ศาสตร์การฝึกตนของคนทั่วโลก อยู่บนพื้นฐานของการจัดการพลังงาน เช่น จีนฝึกชี่หรือปราณ อายุรเวชจะมองเรื่องจักระหรือจุดรวมพลังงานในร่างกาย ชาวโพลีนีเชียน เรียกสิ่งเดียวกันว่า Mana ฮาวายเรียก Ha อียิปต์เรียก Ka ชาวฮีบรูเรียกว่า Ruach และกรีก คือ Pneuma

“ถ้าเราดูลึกระดับพิมพ์เขียว หรือ Blue Print ของชีวิต จะมีลักษณะหมุนวนต่อเนื่องเป็นวงจร สัมพันธ์กันไปเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นว่า ความยั่งยืนของตัวเรามีความสัมพันธ์กับความยั่งยืนกับทุกสิ่งรอบตัว ดังนั้น การสร้างความยั่งยืน ต้องเริ่มที่ตัวเรา” สุรศักดิ์กล่าวและย้ำว่า

การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เราไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องพลังงานในร่างกายอย่างจริงจัง

“ถ้าร่างกายเป็นฮาร์ดแวร์ พลังงานข้างในก็คือซอฟต์แวร์ การฝึกชี่กงคือการประสานวงจรพลัง กับร่างกายและการฝึกจิตไปพร้อม ๆ กัน เป็นการนำพลังงานในทุกระดับของร่างกายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การฝึกพลังในร่างกายของเรา ทุกคนทำได้ ฝึกได้ เท่ากับเรามีหมออยู่ในตัวเรา เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้อย่างยั่งยืน”

การดูแลสุขภาพตัวเอง ถือเป็นมิติสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย หรือใช้ความพยายามใด ๆ ที่เกินความสามารถ

นอกจาก “ความตั้งใจและการมีวินัย” เท่านั้น เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน