กทม.ขยายโครงการ “ไม่เทรวม” เพิ่มความร่วมมือผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการและภาคประชาชนจากการแยกขยะง่าย ๆ 4 หมวด ขยะทั่วไป-เศษอาหาร-รีไซเคิล-ขยะอันตราย ช่วยลดงบประมาณและลดคาร์บอนจากขยะอาหารอย่างยั่งยืน
กทม. ขยายโครงการ “ไม่เทรวม X เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์” โดยได้มีการจับมือร่วมกับผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง แม็คโคร-โลตัส ในการไม่เทรวมทุกสาขา แยกขยะ 50 เขตทั่วเมือง ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต โดยเริ่มต้นทดลอง 9 เขตต้นแบบ ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ได้ดำเนินการครบ 50 เขตแล้วเรียบร้อย
สำหรับความร่วมมือกับ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ มีร้านค้าทั้งแม็คโครและโลตัส รวม 424 สาขาในกรุงเทพมหานคร มีขยะเปียกประมาณ 20 ตันต่อวัน ดังนั้นการแยกขยะออกมาทำให้ขยะที่เหลือสามารถนํากลับไปใช้ใหม่ ไม่ต้องไปลงที่หลุมฝังกลบ จะมีผลที่ช่วยให้ขยะลดลง มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับที่ได้ออกข้อบัญญัติ กทม. ที่เพิ่งผ่านสภา กทม. เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยมีข้อกำหนดว่า ถ้าประชาชนหรือครัวเรือนมีการแยกขยะจะเก็บค่าเก็บขยะ 20 บาทต่อเดือน ถ้าไม่แยกขยะจะเพิ่มเป็น 60 บาท
ซึ่งจริง ๆ แล้วโครงการนี้ กทม.เริ่มมานานแล้ว เป็นความร่วมมือกับเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อม จากนั้นพอข้อบัญญัติออก คงใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ในการบังคับใช้โดยขอความร่วมมือจากรายใหญ่ก่อน
แยกขยะง่าย ๆ ใน 4 หมวด แยกแล้วเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทเหมือนเดิม
- ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร, ซองบะหมี่, ถุงขนม, กล่องโฟม และผ้าอ้อมสำเร็จรูป
- ขยะเศษอาหาร เช่น เศษผักผลไม้, เศษอาหาร และเศษเนื้อสัตว์
- ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ, พลาสติก, แก้ว และโลหะ
- ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ, แบตเตอรี่, ถ่านไฟฉาย, ยาหมดอายุ, กระป๋องสเปรย์ และขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ
(อ้างอิงข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร)
โดยผู้ทิ้งสามารถระบุข้อความบนถุงขยะเพื่อความสะดวกในการคัดแยก ในส่วนของรถขยะ กทม. ได้เน้นย้ำแล้วว่า “รถขยะไม่เทรวมแน่นอน” ทุกการคัดแยกขยะล้วนมีความหมายและสร้างความยั่งยืนได้จริง
โครงการ ‘ร้านนี้ ไม่เทรวม’
ทั้งนี้ ยังมีแผนการขยายความร่วมมือผ่านเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อลดค่าใช้จ่ายกำจัดขยะ ในปีงบประมาณ 2568 โดย กทม. จะมีการจัดทำข้อมูลผู้ประกอบการร้านอาหารที่สมัครใจแยกขยะ ผ่านแคมเปญ ‘ร้านนี้ ไม่เทรวม’
เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ภาคประชาชน ในฐานะ ‘หุ้นส่วนของเมือง’ จะได้ร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการที่แยกขยะจากเศษอาหารตั้งแต่ต้นทางด้วย โดย กทม. จะจัดแสดงข้อมูลและที่ตั้งของร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการบนเว็บไซต์ https://greener.bangkok.go.th/
ในส่วนของร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ ‘ร้านนี้ ไม่เทรวม’ จะเปิดรับลงทะเบียนแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่สมัครใจ ร่วมผลักดันการแยกและลดขยะอินทรีย์จากต้นทาง ให้การกำจัดขยะที่ปลายทางมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2567 ผู้ประกอบการที่สมัครใจแยกขยะ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://bit.ly/3MZrK5I