
กว่า 65 ปี ที่บริษัท ดานอน สเปเชียลไลซ์ นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจส่งมอบโภชนาการที่สำคัญให้แก่คนไทยหลากหลายช่วงวัย เป็นหนึ่งในผู้ผลิตโยเกิร์ตรายใหญ่ระดับโลก ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน B Corp หรือการรับรององค์กรที่ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส ตั้งแต่สวัสดิการพนักงาน ไปจนถึงห่วงโซ่อุปทานและวัตถุดิบที่ใช้
แดนิช ราห์มัน ผู้จัดการทั่วไป ดานอนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดานอน ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับแนวคิด One Planet. One Health หมายถึง ทุกครั้งมนุษย์ที่ดื่มหรือบริโภคสิ่งใดก็ตาม สามารถกำหนดชะตากรรมของโลกได้ การบริโภคไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสถานที่ปลูกและวิธีการปลูกด้วยเช่นกัน

ดังที่ อ็องตวน รีบูด (Antoine Riboud) ซีอีโอของดานอนในถ้อยแถลงเมื่อปี พ.ศ. 2515 ว่า ความยั่งยืนไม่ได้จบลงที่โรงงานหรือประตูสำนักงาน การต่อสู้ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเติบโตทางธุรกิจ และผลกระทบทางสังคมเป็นสิ่งที่สามารถร่วมจับมือดำเนินการไปด้วยกันได้
เมื่อผสานกับแนวคิดโมเดลคู่ขนาน หรือ “Dual Project” สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลนี้ การผนวกเป้าหมายทางธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นรากฐานในการดำเนินงานของดานอนมาอย่างยาวนาน
ซึ่งการสร้างคุณค่าให้กับทั้งผู้ถือหุ้นและสังคมจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ถือเป็นสิ่งที่บริษัทภาคภูมิใจและใช้เป็นปรัชญาองค์กร สิ่งนี้ยังขับเคลื่อนกรอบการดำเนินงาน Danone Impact Journey หรือ DIJ ที่มุ่งเน้นเสาหลัก 3 ด้าน คือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผู้คนรวมถึงชุมชน
“เราจะขับเคลื่อนความยั่งยืนได้อย่างไร เราจะเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ได้อย่างไร เราจะสามารถพาผู้คนก้าวข้ามความแตกต่างได้อย่างไร เพราะความยั่งยืนที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นไม่สามารถสร้างผลกระทบได้ และประสิทธิภาพที่ปราศจากความยั่งยืนล้วนไม่มีอนาคต” แดนิช ราห์มัน กล่าวทิ้งท้าย
Danone Impact Journey
กลยุทธ์ Danone Impact Journey มีแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผู้คนรวมถึงชุมชน ในตลอดกระบวนการในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จากเกษตรกรและชุมชน ส่งต่อถึงผู้บริโภคและครอบครัว
ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งลดผลกระทบต่อโลก ด้านสุขภาพ ที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพของผู้คนด้วยการพัฒนาโภชนาการในผลิตภัณฑ์ และด้านของผู้คนรวมถึงชุมชน โดยส่งเสริมความหลากหลายและการสนับสนุนชุมชนโดยรอบ

นัฏฐ์ภัสสร ธรรมศิรารักษ์ ผู้อำนวยการแผนกโครงการปฏิบัติการและการจัดซื้อ ดานอนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งในผู้นำทีม Danone Impact Journey ของดานอน ประเทศไทย บอกเล่าเพิ่มเติมว่า วัตถุดิบที่เราทั้งหมดต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืนและรับผิดชอบ ความพยายามในด้านความยั่งยืนไม่ใช่เพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรม
ตัวอย่างเช่น โครงการ Triple Zero ที่โรงงานดานอนที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ซึ่งมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน น้ำเสีย และขยะให้เป็นศูนย์ รวมถึงมุ่งสร้างบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนด้วยการรีไซเคิล หรือใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้แบบ 100% ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
ภายในปี 2568 ดานอนมีเป้าหมายในการเป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) กลุ่มแรกที่ได้รับการรับรอง B Corp ในระดับโลก เพื่อสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านโภชนาการ บุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม
พาเกษตรกรปรับตัวยั่งยืน
นัฏฐ์ภัสสรบอกเล่าถึงแนวทางลดคาร์บอนเพิ่มเติมว่า ดานอนใช้ฟาร์มนมวัวภายในประเทศจากจังหวัดสระแก้ว ในพื้นที่ของสหกรณ์วังน้ำเย็น โดยเริ่มโปรเจ็กต์จากพื้นที่ทดลองเริ่มต้น 50 ฟาร์ม โดย ณ ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครเริ่มทำเกี่ยวกับการจัดการนมวัว
ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นส่วนที่สามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ปริมาณมาก ดานอนได้สร้างลานตากมูลวัวให้กับเกษตรกร เมื่อเริ่มแห้งแล้วคาร์บอนกับมีเทนจะน้อยลง ซึ่งสามารถนำไปขายเป็นปุ๋ยได้ ช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งคือข้อเสียของเมืองไทยคืออากาศที่ร้อน ส่งผลให้วัวมีผลผลิตน้อย จึงได้มีการศึกษาจากประเทศอื่น ๆ ถึงวิธีการเลี้ยงให้ได้ผลผลิตที่ปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น จึงมุ่งไปที่การจัดอาหาร โดยหารือกับกรมปศุสัตว์ และนักวิชาการที่มีความรู้ ปรับเปลี่ยนอาหารจากฟางมาเป็นข้าวโพดหมัก จะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นได้
ในช่วงแรกดานอนได้ให้การสนับสนุนเป็นเงินทุน เนื่องจากต้นทุนทางอาหารที่สูง แต่เมื่อเกษตรกรสามารถหาเงินทุนเพิ่มเติมได้จากการขายมูลวัว ก็จะสามารถสร้างเงินหมุนเวียนในการทำให้อาหารสัตว์ดีขึ้นได้ และนำพาไปสู่การปรับตัวทั้งระบบได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
ภาวะโลกเดือดกับน้ำนมวัว
การมีโลกร้อน โลกเดือด มีส่วนกระทบไม่มากก็น้อย ในความเป็นจริงแล้วภาวะโลกเดือดกระทบทั้งหมด ทั้งธุรกิจ ไม่ใช่แค่กับวัว รวมไปถึงกระทบถึงตัวเราทุกคนด้วยเช่นกัน เรื่องที่เป็นห่วงอย่างมากคือเรื่องของน้ำ เนื่องจากการเลี้ยงวัวใช้น้ำในปริมาณมาก ทำให้ต้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มมากขึ้น
“แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อพูดถึงความยั่งยืน ถ้ามีการดำเนินการต่อไปอีก 2-3 ปี เมื่อเกษตรกรพออยู่ไหว สามารถขายนมได้เพิ่มมากขึ้น มีมูลวัวที่นำไปขายเป็นปุ๋ยได้ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เขาก็จะเริ่มเรียกว่าความยั่งยืนแล้ว เราจะโฟกัสตรงนั้นมากกว่า” นัฏฐ์ภัสสรกล่าวย้ำ
ตอนนี้ดานอนไม่เน้นเรื่องการลงทุนในจำนวนมาก แต่เน้นเรื่องการลงทุนอย่างเห็นผล ในทุก ๆ ครั้งที่ลงทุนจะต้องมั่นใจว่าสามารถวัดผลได้ โดย Danone Global จะมีระบุไว้ชัดเจนว่า กิจกรรมต่าง ๆ จะใช้เงินทุนเท่าไหร่ และทางบริษัทมีเงินบัตเจ็ตสนับสนุนเท่าไหร่
เกษตรกรเป็นหัวใจของเมืองไทย หากสามารถช่วยเหลือสิ่งใดได้นอกจากการทำธุรกิจนับเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากในช่วงโควิดที่ผ่านมาเกษตรกรมีการขายวัวทิ้งจำนวนมาก และกลุ่มปศุสัตว์เพิ่งกลับมาเติบโตได้ไม่นาน สิ่งนี้ทำให้รู้สึกว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง และหากสามารถทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่บริษัทภาคภูมิใจอย่างมาก