กลุ่ม Green มาหามิตร จุดประกายสังคมสีเขียว-ธุรกิจยั่งยืน

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง มีฝนตกหนักสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ทำให้เกิดวิกฤตทั้งน้ำท่วม กรีนบอมบ์ และ PM 2.5 ศูนย์การค้า “MBK” จึงผนึกพันธมิตรสายกรีนมาช่วยสร้างสรรค์สร้าง “สังคมสีเขียว” อย่างจริงจัง โดยมี “กลุ่มมาหามิตร” เป็นเสาหลักค้ำยัน อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.), CHULA ZERO WASTE, สยามพิวรรธน์, ธนาคารกรุงศรีฯ, อลิอันซ์ อยุธยา, โรงแรมศิวาเทล, GC YOU เทิร์น และเครือข่าย

โลกรวน ช้าเกินกว่าจะแก้

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์
พรพรหม วิกิตเศรษฐ์

“พรพรหม วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ภาคพลังงานมีการปล่อยคาร์บอนมากถึง 60% กว่า 30% มาจากภาคขนส่ง เราต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด อาคารต้องประหยัดพลังงาน ครัวเรือนต้องร่วมมือ

“กทม.ลดขยะได้แล้ว 10% จากความร่วมมือขององค์กรใหญ่ ๆ ที่ช่วยแยกขยะ แต่คนที่ต้องช่วยในเรื่องนี้คือ ภาคประชาชนกว่า 2 ล้านครัวเรือนในกรุงเทพฯ”

ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในเรื่องรถขยะ โครงการ “ไม่ เท-รวม” จึงนำอัตราทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาคำนวณการเก็บค่าธรรมเนียม ภายในปี 2568 จะมีมาตรการและรายละเอียด และขอแนะนำให้ใช้ขนส่งมวลชนและรถอีวี

“ทุกคนต้องตระหนักให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ต้องเริ่มที่ตัวเรา ต้องสร้างค่านิยมเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นเรื่องปกติและสามารถทำได้” พรพรหมกล่าว

กอปร ลิ้มสุวรรณ-วอลิสรา ศิวยาธร-วิภวี จันโททัย
กอปร ลิ้มสุวรรณ-วอลิสรา ศิวยาธร-วิภวี จันโททัย

คนยังไม่อินเรื่องสิ่งแวดล้อม

“กอปร ลิ้มสุวรรณ” หัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste เสริมว่า โลกร้อนเป็นปัญหากระทบทุกคน การสร้างสังคมสีเขียวควรเริ่มจากชุมชนเป็นรายบุคคล

ADVERTISMENT

โครงการ Chula Zero Waste เป็นการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบ สถานศึกษาเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ช่วยปลูกฝังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม

“เน้นย้ำขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว หลายคนชอบพูดเรื่องแยกขยะ แต่อยากให้ลดขยะมากกว่า เริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรม จากแก้วพลาสติกเป็นกระบอกน้ำก็ช่วยลดขยะแล้ว”

ADVERTISMENT

คนส่วนใหญ่ยังไม่อินเรื่องสายกรีน อยากเชิญชวนให้เริ่มจากการแชร์ข้อมูลสร้างคอมมิวนิตี้ที่น่ารักและยั่งยืน

โรงแรมตระหนักมาตลอด

“อลิสรา ศิวยาธร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ กล่าวว่า โลกรวนย้อนกลับไม่ได้ มนุษย์คือผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งน้ำทะเลหนุนกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่เกิดปัญหาน้ำท่วมเท่านั้น แต่ส่งผลต่อแหล่งน้ำสะอาดในทุกภาคส่วนด้วย

โรงแรมเป็นภาคส่วนขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งตระหนักมาตลอดในเรื่อง Zero Waste และการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยมีการเลี้ยงหนอนแมลงวันเพื่อจัดการเศษอาหารที่เหลือ ทั้งเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศอุดหนุนเกษตรกรไทย และใช้ของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบ

“อยากเห็นประเทศไทยมีกฎหมายที่เข้มแข็ง มีการจัดการที่เข้มข้น ต้องเด็ดขาดในสักวันหนึ่ง” อลิสรากล่าวย้ำ

ขยะที่ทิ้งคือภาระ

“วิภวี จันโททัย” Sustainability Leads บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต บอกว่า มลพิษแก้ได้ ปัญหาดิน น้ำ อากาศ หากร่วมมือกัน และจะเป็นเรื่องดีที่สุด หากสามารถคุมอุณหภูมิโลกไว้ได้

บริษัทมีความจริงจังในเรื่องแยกขยะ ด้วยการจัดทำมาตรการเชิงบังคับให้พนักงานทุกคนนำขยะมาแยกทิ้งที่สถานี การตอบรับดีมาก วันนี้เราลดขยะได้แล้วจาก 1,500 กิโลกรัม/เดือน เหลือไม่ถึง 200 กิโลกรัม/ปี

“ทุกครั้งที่ทิ้งขยะ นั่นคือเรากำลังเพิ่มภาระให้คนอื่น แม้จะเป็นงานของเขา แต่เราทำให้ง่ายขึ้นได้ ขยะอันตรายมีผลต่อชีวิต เราต้องไม่ทำร้ายคนอื่น ช่วยได้ต้องช่วย”

พุทธชาด ศรีนิศากร
พุทธชาด ศรีนิศากร

โลกใบนี้รอไม่ไหวแล้ว

“พุทธชาด ศรีนิศากร” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด ศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอากาศในเมืองอยู่ในระดับวิกฤตมาก บางพื้นที่หายใจแล้วเลือดกำเดาไหล ตอนนี้อากาศเย็นสบายเพราะเกษตรกรยังไม่ได้เผาไร่

“ตอนนี้โลกไม่ไหวแล้ว ทั้งร้อน แล้ง ดินสไลด์ โลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว กระทบหมดทุกคน”

ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องใหญ่ เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก ทุกภาคส่วนต้องเริ่มทำอะไรบ้างแล้ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ศูนย์การค้าเน้นเรื่องลดก๊าซคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ให้ผู้เช่าคัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะอาหารที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นตอของก๊าซคาร์บอนจำนวนมากในแต่ละปี

ส่วนของอาคารได้ดำเนินงานลดการใช้พลังงาน เช่น ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา ซึ่งจะติดครบทั้ง 8 BU ภายในปี 2568 และใช้หลอดไฟ LED ทั้งหมด พร้อมนำ AI มาคำนวณค่าความเย็น ซึ่งช่วยประหยัดไฟได้มากหลายเท่า

“ทุกคนเริ่มได้ที่ตัวเรา 3R ไม่จำเป็นต้องบริโภคเยอะ อาจลดการซื้อเสื้อผ้า ใช้ถุงพลาสติกซ้ำ แยกขยะ และรู้จักรีไซเคิล ก็ช่วยโลกใบนี้ได้แล้ว เราเป็นหนึ่งในระบบนิเวศวิทยา คนกรีนไม่ได้เป็นตัวประหลาด หากระบบมีการเปลี่ยน เสื่อมโทรมก็กระทบเราทุกคน” พุทธชาดกล่าวปิดท้าย