โลกร้อน มงลง ยืนหนึ่งคนไทยห่วงใยมากที่สุด

เปิด 3 อันดับ เรื่องคนไทยห่วงใยสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน คว้าอันดับ 1 เป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญมากที่สุด ตามด้วย ปัญหาขยะมูลฝอยที่จัดการไม่ถูกต้อง และ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนดูปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่คนไทยห่วงใย-กลุ้มใจที่สุด จากผลสำรวจสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กันหมด หากไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขก็จะส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการ TEI กล่าวว่า ผลสำรวจที่คนไทยห่วงมากเป็นอันดับ 1 คือ ปัญหาโลกร้อน 20.3% ซึ่งปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงเกินกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส

หลายคนให้เหตุว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้เกิดผลกระทบการแปรปรวนสภาพอากาศที่ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ภัยแล้งในบางพื้นที่ การสูญเสียระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบต่อแหล่งอาหารการเกษตรและสุขภาพของมนุษย์

ที่สำคัญ เรื่องขยะมูลฝอย จัดการไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาที่คนไทยให้ความสำคัญตามมาติด ๆ คือ 19.1% ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นถึง 28-29 ล้านตันต่อปี หากบริหารจัดการขยะไม่ดี ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขอนามัย สุขภาพเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

ADVERTISMENT

รวมทั้งมองว่า ปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ยังไม่สามารถจัดการได้ถูกต้อง เพราะประชาชนยังไม่คัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง อาจยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญ

ดร.วิจารย์เสนอแนะว่า ควรสร้างความตระหนักรู้ ปลูกฝัง การคัดแยกขยะตั้งแต่เด็ก เริ่มที่สถานศึกษา และชุมชน ขณะเดียวกันภาครัฐต้องมีระบบจัดการที่ดี ควรมีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ใช้ชัดเจน ขณะเดียวกันควรสร้างความตระหนักรู้ถึงการคัดแยกขยะว่า จะมีประโยชน์อย่างไรกับตัวเอง รวมทั้งการส่งเสริมให้เอกชนลงทุนในการจัดการขยะมูลฝอยครบวงจร

ADVERTISMENT

ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว หรือ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็เป็นปัญหาสำคัญ จัดอยู่ในอันดับ 3 คือ 13.1% ซึ่งมาจากมลพิษการจราจรที่มีผู้ใช้ยานพาหนะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการปล่อยควันรถบนท้องถนน และการเผาในพื้นที่เกษตรบริเวณชานเมืองและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่มีลักษณะอากาศนิ่ง ไม่เอื้ออำนวยต่อการกระจายตัวของอากาศด้วย

“ปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพฯเป็นปัญหาใหญ่ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่กระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพของคนระยะยาว ดังนั้นต้องเร่งรัดแก้ไข เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ”

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ก็เป็นปัญหาตามมา เป็นสิ่งที่ผู้คนกังวลเป็นอันดับที่ 4 ด้วยคะแนน 8.2% ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่า การสูญเสียในข้อนี้เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพเป็นดัชนีชี้วัดระบบนิเวศที่สำคัญ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์

“หากความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แสดงถึงความสมดุลกำลังล่มสลาย”

ดร.วิจารย์เสริมว่า การสูญเสียในด้านนี้มีผลกระทบในวงกว้างกับมิติอื่น ๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิต อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจคือ การขยายพื้นที่เมือง ประกอบกับการจัดการพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม รุกล้ำพื้นที่ป่า หรือพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ลดลง และนำมาสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จึงต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม ควบคุมพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ประมง จัดโซนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ผลสำรวจที่ทาง TEI ดำเนินการยังได้สำรวจเหตุการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่ ๆ ด้วย อาทิ เรื่องกากแคดเมียม 15,000 ตัน ในโรงงานสมุทรสาคร, ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ, ขยะพลาสติก และขยะพลาสติกในทะเล ที่มาเป็นอันดับ 5 ประเด็นละ 7.4%

ถัดมาคือ สถานการณ์น้ำท่วมเชียงราย 5.3% ปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์รุกล้ำน่านน้ำไทย 5.7% พะยูนตายที่ตรัง 2.5% และกากสารเคมีและไฟไหม้โรงงานที่พระนครศรีอยุธยาอีก 1.6%

ดร.วิจารย์กล่าวว่า ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นเพิ่มว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกเรื่องล้วนสัมพันธ์กัน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น เพราะหากลงมือทำโดยไม่ได้รับความร่วมมือก็ไม่สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้ พร้อมมีข้อเสนอถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเร่งมาตรการและจัดการปัญหาอย่างจริงจัง เข้มงวด และรวดเร็ว