
ตื่นตัวกันอีกครั้ง เมื่อสถาบันการศึกษาระดับชั้นนำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาวิชาการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายใต้หัวข้อ “CBS : Boost Your Business Wisdom” ณ Chulalongkorn Business Cinema ตึกไชยยศสมบัติ 1
เป้าหมายเพื่อเติมวิตามินเข้มข้นสำหรับเสริมภูมิภาคธุรกิจ ผ่านการระดมองค์ความรู้จากคณาจารย์และนักกลยุทธ์ระดับแนวหน้าทุกเสาหลักของธุรกิจ เป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อนำสู่ความสำเร็จที่มากกว่าความยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากนี้ไปนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการต้องก้าวไปให้เหนือกว่าความยั่งยืน เช่น การตลาดที่นักการตลาดในยุคปัจจุบันควรให้ความสำคัญคือ การตลาดในรูปแบบ Regenerative Marketing ซึ่งเป็นแนวคิดการตลาดที่เน้นการสร้างคุณค่าผ่านการฟื้นฟูทรัพยากรต่าง ๆ
ด้วยการมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในระยะยาว การตลาดแบบนี้ไม่ได้มุ่งหวังแค่การเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการสร้างคุณค่ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งโดยรวมแล้ว Regenerative Marketing เป็นการสร้างแบรนด์และประสบการณ์ที่ไม่เพียงแค่ทำให้ธุรกิจเติบโต แต่ยังช่วยโลกให้ดีกว่าเดิมอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
โดยทุกหัวข้อต่างสะท้อนถึงแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เทคโนโลยี และกลยุทธ์ธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของโลกธุรกิจปัจจุบันและในอนาคต ทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังสามารถนำแนวคิดใหม่ ๆ ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจหรือองค์กรเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในโลกธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน
งาน “CBS : Boost Your Business Wisdom” มีหัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
ภาควิชาการตลาด : Regenerative Marketing : New Generation of Marketing ได้กล่าวถึงการตลาดฟื้นฟู (Regenerative Marketing) สร้างมูลค่าด้วยการฟื้นฟูสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าการลดผลกระทบ ผู้ที่ปรับตัวได้จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่และแข่งขันได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ : Thailand Ahead : The Outlook in Business Strategy, Technology, Regionalization, and Sustainability สรุปว่า ธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้สมดุลกับ Mega Trends อย่าง ESG, Regionalization และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การบูรณาการแนวโน้มเหล่านี้เข้ากับกลยุทธ์องค์กรจะช่วยให้ธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน
ภาควิชาการบัญชี : Beyond Financial Metrics : ESG and SDG Reporting ชี้ว่า ปัจจุบันบทบาทของนักบัญชีมีความสำคัญมาก ๆ จึงต้องปรับตัวเพื่อรายงานข้อมูล ESG และ SDG เพิ่มขึ้นอย่างตรงไปตรงมา
เพราะนอกเหนือจากตัวชี้วัดทางการเงินแบบดั้งเดิมแล้ว สิ่งที่เป็นตัวเลขจะช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้บริโภคสามารถประเมินศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว รวมถึงสามารถประเมินผลกระทบทางจริยธรรมและความยั่งยืนของธุรกิจได้เช่นกัน
ภาควิชาธนาคารและการเงิน : ESG and Digital Society กล่าวถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เป็นการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องบริหารจัดการพอร์ตให้สมดุลระหว่าง “เทคโนโลยี” และ “ความยุติธรรมทางสังคม” เช่น การใช้พลังงาน การคุ้มครองแรงงาน รวมถึงปัญหาการฟอกเงิน ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีและยั่งยืนร่วมกัน
ภาควิชาสถิติ : Sustainability in the Digital World : Balancing Innovation and Responsibility มีข้อสรุปเช่นเดียวกับภาควิชาการบัญชี และภาควิชาธนาคารและการเงิน
โดยกล่าวถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และบล็อกเชน ว่าสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการจัดการทรัพยากรได้ แต่ก็ก่อทำให้เกิดปัญหา อาทิ การใช้พลังงานที่สูงขึ้น และมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยนโยบาย Thailand 4.0 และเศรษฐกิจ BCG เข้ามาช่วย โดยเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหม่ แม้จะทำให้การลงทุนสูงขึ้น มีต้นทุนมากขึ้น และบางกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ให้ได้อย่างลงตัว
“CBS : Boost Your Business Wisdom” จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของคณะ ที่มุ่งมั่นและอยากสนับสนุนให้ทุก ๆ ธุรกิจได้มีเครื่องมือ พร้อมทั้งความรู้ในทุก ๆ ด้านของการประกอบธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวสู่โลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและแข่งขันกันอย่างรุนแรง