
ความยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์การท่องเที่ยวไทยที่มาแรงในปี 2025 ธุรกิจท่องเที่ยวต่างต้องปรับตัวให้สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจุบันเรื่องของความยั่งยืนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจไปแล้ว รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวยุคใหม่นั้นต่างมองหาและให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว หรือวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม และประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการเดินทางเท่านั้น แต่ยังมองหาและให้ความสนใจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น
จากรายงานของ Sustainable Travel Study ของ Expedia Group พบว่า นักท่องเที่ยวยุคใหม่พร้อมที่จะจ่ายแพงกว่าให้กับบริการที่พัก การเดินทาง หรือแบรนด์ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โรงแรมสีเขียว หรือ Green Hotel จึงได้กลายเป็นจุดหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนรู้จักโรงแรมสีเขียวจาก finbiz by ttb และแนวทางการเปลี่ยนโรงแรมธรรมดาเป็นโรงแรมสีเขียว เพื่อสร้างจุดแข็งและเป็นทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนมากขึ้นแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืน
ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่
โรงแรมสีเขียว คือ โรงแรมที่มีการบริหารจัดการ และดำเนินงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร โดยที่การดำเนินงานของโรงแรมสีเขียวนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์พลังงาน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การลดขยะ และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคม
ในขณะเดียวกันยังคงรักษาการให้บริการที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานสูงให้แก่ผู้เข้าพัก ซึ่งเป็นความได้เปรียบสำหรับธุรกิจโรงแรมในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันหากธุรกิจยังไม่เร่งปรับเปลี่ยนก็อาจจะทำให้เสียโอกาสได้เช่นกัน
การที่โรงแรมควรเปลี่ยนมาเป็น Green Hotel เนื่องจากสามารถช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน หลายส่วนของธุรกิจการเดินทาง ท่องเที่ยว และโรงแรม ส่งผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากการบริโภคที่มากเกินไป หรือปัญหานักท่องเที่ยวเกินระดับที่เหมาะสม ที่อาจส่งผลให้คนหรือสัตว์สูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
รวมไปถึงการพังทลายของดิน มลพิษ และการเพิ่มแรงกดดันที่อาจทำให้สัตว์บางประเภทสูญพันธุ์ได้ และยังพบว่าธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีมาตราส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ระดับ 96 ในขณะที่อุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกันมีค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ระดับ 80
นักท่องเที่ยวยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จากเทรนด์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้เติบโตขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นเช่นกัน ธุรกิจโรงแรมจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน และให้ความสำคัญกับรูปแบบในการดำเนินการให้ตอบโจทย์กับความยั่งยืน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
รวมไปถึงลูกค้ามีความกังวลเพิ่มมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และผลกระทบของการเดินทางและการท่องเที่ยว จึงหันมาเลือกพักในโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hotel มากขึ้น นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังมองหาจุดหมายปลายทางที่หลีกหนีจากสภาพอากาศที่รุนแรง
เช่น พายุเฮอริเคน น้ำท่วม และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความยั่งยืนมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว เมื่อวางแผนการเดินทางและกิจกรรมที่สามารถทำได้ในจุดหมายปลายทางนั้น
และความยั่งยืน คือ ผลกำไรของธุรกิจ ความต้องการของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจของ Expedia Group ร่วมกับ Wakefield Research พบว่า 69% ของนักท่องเที่ยวมองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3 ใน 5 ของนักท่องเที่ยว เลือกวิธีเดินทางและที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบบทั่วไป
“โรงแรมที่ไม่ปรับตัว หรือไม่ปรับเปลี่ยนเป็น Green Hotel มีโอกาสที่จะสูญเสียรายได้ และเสียลูกค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้ รวมไปถึงสูญเสียโอกาสในการแข่งขันในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ”
ยกระดับสู่ Green Hotel
หากผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมอยากจะยกระดับเพื่อเป็นโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานของ Green Hotel ในไทย ได้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไว้ 7 ข้อ
1.นโยบายด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางการดำเนินงานด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีทั้งผู้บริหารและพนักงานร่วมดำเนินการ
2.การพัฒนาบุคลากร เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำงานด้านบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.การรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือจากบุคลากรของโรงแรม รวมไปถึงลูกค้าที่มาใช้บริการ
4.มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงคุณภาพ ราคา และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต
5.มีการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยมีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการจัดการของเสียและมลพิษให้หมดไป หรือไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
6.การมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ด้วยการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
7.การประเมินประสิทธิภาพเพื่อการปรับปรุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำข้อมูลการดำเนินงานด้านการให้บริการดังกล่าวไปใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป
นอกจากนั้นยังมีมาตรฐานโรงแรมสีเขียวระดับสากลอีกหลายมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ที่ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน LEED มาตรฐาน Green Key มาตรฐาน Earthcheck และมาตรฐาน GSTC
การยกระดับโรงแรมสู่ Green Hotel ดึงดูดนักท่องเที่ยวสายกรีนยุคใหม่ ในยุคที่ความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตผู้คน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมยุคใหม่ต้องก้าวให้ทันกับความต้องการ และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน สร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์และได้ใจนักท่องเที่ยวสายกรีนยุคใหม่ ที่มองหาที่พักสายกรีน อยู่สบาย และรักษ์โลก ไปพร้อม ๆ กัน