อายิโนะโมะโต๊ะ ทุ่ม 5 พันล้าน สู่ Net Zero ด้วยวัฏจักรอาหารยั่งยืน

นพดล จิตรมั่น-สมิชฌน์ เพ็ชร์ดี
นพดล จิตรมั่น-สมิชฌน์ เพ็ชร์ดี

อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ประกาศแผนงานด้านความยั่งยืนประจำปี 2568 ชูหลัก “วัฏจักรอาหารยั่งยืน” พร้อมก้าวสู่ Net Zero คาดใช้เม็ดเงินราว 3,000-5,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาลงทุนด้านความยั่งยืนแล้วมากกว่า 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2561

อุตสาหกรรมอาหารท้องถิ่นและทั่วโลกจะต้องปรับตัวเพื่อความยั่งยืน ในการรับมือกับอุปสรรคจากสภาพอากาศรุนแรง และนวัตกรรมเทคโนโลยี

เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกประจำปี 2568 พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญธุรกิจหรือแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม, ผู้บริโภคจะให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพและความสุขของตัวเอง

พร้อมกับใส่ใจอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก และเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ ๆ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนด้านการดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรที่สร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทด้านอาหารชั้นนำ ประกาศแผนงานด้านความยั่งยืนประจำปี 2568 ชูหลัก “วัฏจักรอาหารยั่งยืน” สร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนใน 4 มิติ สอดคล้องเมกะเทรนด์ด้านอาหารที่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนด้านการดำเนินงาน เพื่อสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ

พร้อมเดินหน้าเต็มสปีดในการลดคาร์บอนและการตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ ยกระดับโครงการ Thai Farmer Better Life Partner ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่กาแฟ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความ “กินดี มีสุข” แก่สังคมและเกษตรกรไทย

ADVERTISMENT
สมิชฌน์ เพ็ชร์ดี
สมิชฌน์ เพ็ชร์ดี

สร้างความยั่งยืน คือหัวใจหลัก

สมิชฌน์ เพ็ชร์ดี ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของอายิโนะโมะโต๊ะ คือ “การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจอาหาร” มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจให้เติบโต ผ่านการใช้องค์ความรู้ด้าน “AminoScience” อันเป็นความเชี่ยวชาญหลักของบริษัท มาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหารที่โดดเด่นด้วยรสชาติอร่อย มีโภชนาการที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินการที่ลดผลกระทบ พร้อมช่วยฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม

ในปี 2567 อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในสโคป 1-2 ลงได้ถึง 92.1% และลดในส่วนของสโคป 3 ลง 2% โดยได้มีการวางเป้าเพิ่มเติมภายในปี 2569 จะเป็นกลางทางคาร์บอน และสโคป 3 จะลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 10%

ADVERTISMENT

“ก๊าซคาร์บอนในไทยส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม จึงเริ่มดำเนินโครงการร่วมมือกับเกษตรกรในการให้ความรู้เพื่อจัดการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ ให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน”

ด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติก ในส่วนของปี 2567 ดำเนินการเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลแล้วกว่า 55.9% ตั้งเป้าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2573

4 วัฏจักรอาหารยั่งยืน

เป้าหมายหลักของอายิโนะโมะโต๊ะในปี 2568 จะโฟกัสไปที่ “วัฏจักรอาหารยั่งยืน” ที่มุ่งเน้นไปที่ 4 มิติหลัก ได้แก่ จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การลดพลาสติก และการลดขยะอาหาร ควบคู่ไปกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในอนาคต ต่อไป

1.จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างให้เกิดระบบการจัดซื้อวัตถุดิบแบบหมุนเวียนและยั่งยืน บริษัทตั้งเป้าหมายในการบรรลุผลสำเร็จให้ได้ 75% ภายในปี 2568 โดยมุ่งเน้นเรื่องการติดตามและทำการตรวจสอบกลับได้ ซึ่งรวมถึงการจัดหาวัตถุดิบที่ยั่งยืน และไม่ไปรุกล้ำระบบนิเวศหรือรบกวนสิ่งแวดล้อม

รวมไปถึงวัตถุดิบสำคัญอย่างเมล็ดกาแฟ ได้เพิ่มสัดส่วนการซื้อเมล็ดกาแฟที่ยั่งยืนขึ้น ตามเกณฑ์หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) 10% กับกรมส่งเสริมการเกษตร และจัดซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่ไม่ทรมานสัตว์ 100% ในช่วงปีที่ผ่านมา

2.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการดำเนินงานตามแนวทาง Ajinomoto Bio-cycle ที่เป็นกลไกความร่วมมือกับภูมิภาคท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการจัดการการผลิตและการเกษตรอย่างยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โดยโรงงานการผลิตทั้งหมด 7 แห่ง เป็นโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาใช้ในการจัดการภายในโรงงาน ในปีนี้ อายิโนะโมะโต๊ะได้ตั้งเป้าหมายในการตรวจสอบ Carbon Footprint ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าเพื่อการดำเนินงานลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง

3.การลดพลาสติก บริษัทมุ่งเน้นการลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ ด้วยการลดการใช้พลาสติกใหม่ และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการรีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดการฝังกลบ

4.การลดขยะอาหาร ปัจจุบัน 6 โรงงานของอายิโนะโมะโต๊ะสามารถพิชิตเป้าหมายการลดขยะอาหารได้ 100% ส่วนโรงงานเบอร์ดี้สามารถลดขยะอาหารได้สำเร็จ 82% ซึ่งนับเป็นผลสำเร็จที่ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับชุมชนข้างเคียงรอบพื้นที่โรงงานเพื่อส่งเสริมเรื่องการลดขยะอาหาร

ด้วยการนำเอาวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตรสดี และเบอร์ดี้ ไปทำอาหารสัตว์หรือปุ๋ยแจกจ่ายตามชุมชน สำหรับการดำเนินงานเพื่อช่วยลดขยะอาหารในบริบทของครัวเรือน บริษัทได้มีการผลักดันผ่านโครงการ “Too Good To Waste กินหมดลดโลกร้อน” ที่รณรงค์ให้ผู้บริโภคร่วมลดขยะอาหารผ่าน “สูตรอาหารรักษ์โลก” ที่อร่อยแล้วยังดีต่อโลก

ซึ่งในปีที่ผ่านมา อายิโนะโมะโต๊ะมีแคมเปญการครีเอตเมนู “Too Good To Waste” ร่วมกับร้านอาหารชื่อดัง อาทิ ร้านเป็นลาว และร้านจิรกาล เพื่อหวังจุดประกายการลดขยะอาหารให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน

“บริษัทมีแผนที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างวัฏจักรอาหารยั่งยืนในอนาคตต่อไป” นายสมิชฌน์กล่าว

นพดล จิตรมั่น
นพดล จิตรมั่น

บริษัทต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม

นายนพดล จิตรมั่น ผู้จัดการหน่วยงานผลิตและพัฒนา บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เป็นบริษัทต้นแบบทางธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีการดำเนินงานหลัก 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์สำหรับพืช และอาหารสำหรับสัตว์ โดยปีที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้ถึง 30%

และสานต่อโครงการ Thai Farmer Better Life Partner เป็นปีที่ 5 เพื่อยกระดับผลผลิตและความรู้แก่เกษตรกรไทย ปัจจุบันมีพี่น้องเกษตรกรเข้าร่วมทั้งหมด 1,300 ครัวเรือน โครงการนี้ช่วยให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 30%

5 พันล้าน สู่ Net Zero 2573

สำหรับเป้าหมายในปี 2573 บริษัทมุ่งดำเนินธุรกิจแบบ Net Zero พร้อมขยายวัตถุดิบทางการเกษตรที่ตรวจสอบกลับได้เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนเพาะปลูกไปจนถึงหลังเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถดำเนินการลด CO, Scope 3 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การจะเป็น Net Zero นับเป็นความท้าทาย คร่าว ๆ ได้มี Trace ไว้ในแต่ละเทคโนโลยี คาดใช้เม็ดเงินประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท การลงทุนด้านความยั่งยืนมีการลงทุนแล้วมากกว่า 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2561 ในส่วนของงบฯลงทุนแจงได้เป็น โรงไฟฟ้างบฯลงทุน 1,500 ล้านบาท/โรง โซลาร์เซลล์ 110-120 ล้านบาท และจะขยายต่อไปตามเฟส”

ทั้งนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่ขับเคลื่อนความยั่งยืน ได้แก่ โครงการมันสำปะหลังสู่ความยั่งยืน มีแผนการดำเนินงาน 5 กิจกรรมหลัก คือ 1.AFDG One Stop Service ครบวงจรทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ ด้วยการสร้างเครือข่ายเพื่อการเกษตรกับพาร์ตเนอร์ เช่น คูโบต้า ในเรื่องการเตรียมดิน เก็บเกี่ยว และสตาร์ตอัพการเกษตร ListenField พัฒนาแอปพลิเคชั่นการเกษตรที่มีการพยากรณ์อากาศ การเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยว และการตรวจสอบกลับได้

2.นำระบบ Al มาสร้าง Supply Chain เพื่อช่วยในการจับคู่โรงงานแป้งและเกษตรกร 3.ร่วมมือกับโรงแป้ง ในการรับมันสำปะหลังของโครงการ “Thai Farmer Better Life Partner” 4.พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ปุ๋ยชีวภาพ/สารกระตุ้นชีวภาพเพื่อเสริมการเจริญเติบโตของพืช และการจัดการน้ำ

5.Farm School สานต่อโครงการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและกาแฟเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทย

กาแฟสีเขียวสู่ความยั่งยืน ในฐานะที่อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นผู้ผลิตกาแฟ “เบอร์ดี้” ที่เป็นกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มเจ้าตลาดในประเทศไทย บริษัทจึงพร้อมสนับสนุนการเติบโตของเกษตรกรไทยอย่างครบวงจร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตาม “หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)” กับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ควบคู่ไปกับการไม่ทำให้เกิดมลพิษ และเกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและเป็นธรรมในระยะยาว