นโยบายรับมือโลกรวน ฉบับกลุ่มเปราะบาง

ภาวะโลกร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงเรื่องของธรรมชาติ แต่ยังส่งผลถึงความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเปราะบางที่มักได้รับผลกระทบมากกว่าผู้อื่น และมีข้อจำกัดในการปรับตัว 

การจัดอันดับดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ ปี 2568 (Climate Risk Index 2025) โดย German Watch ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ประเทศเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ชัดเจนขึ้น ทั้งพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง และอุณหภูมิที่ผันแปร สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกิดการย้ายถิ่นฐาน

นอกจากนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ก่อตั้งโดยองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ยังพบว่า สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลก

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ ขับเคลื่อนนโยบายการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสร้างความพร้อมและเพิ่มความสามารถในการปรับของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงของมนุษย์” โดยย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยกันกำหนดทิศทางที่ต้องทำร่วมกัน

ADVERTISMENT

3 กลุ่มเปราะบางเสี่ยงผลกระทบ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว (Adaptive Capacity)

1.กลุ่มเด็ก ซึ่งกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่า เมื่อปี 2564 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศ ที่เด็กมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบ

ADVERTISMENT

2.กลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวและสุขภาพส่งผลให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเมื่อเกิดภัยพิบัติ และเป็นกลุ่มเปราะบางมีสัดส่วนสูงสุดที่จะได้รับผลกระทบ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตประชากรที่เด็กเกิดน้อย วัยทำงานขาดแคลน แต่ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องการการดูแล

3.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งขาดแคลนในทุกมิติ อาทิ ทรัพยากรทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถย้ายที่อยู่อาศัยไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีศักยภาพในการรับมือน้อย

“แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) ประกอบด้วย สาขาหลัก 6 สาขา ได้แก่ 1.การจัดการน้ำ 2.การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3.การท่องเที่ยว 4.สาธารณสุข 5.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ 6.การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์

วราวุธกล่าวต่อว่า กระทรวง พม. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องในสาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ มีการจัดตั้งกลไกในการดูแลกลุ่มคนเปราะบางจากภัยพิบัติที่มีชื่อว่า ศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable : DCCV ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

โดยเริ่มนำร่องใน 14 จังหวัดภาคใต้ และภาคเหนือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ปรับตัว และการให้ความช่วยเหลือดูแลเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ อาทิ ภาคใต้ มีการสั่งการผ่านระบบปฏิบัติการออนไลน์ (Online Operation System : OOS)

สำหรับการดำเนินงานของกระทรวง พม. ในระยะต่อไปนั้น มีการออกแบบระบบที่สนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงระบบความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม การยกระดับการคุ้มครองทางสังคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงที่อยู่อาศัย

การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่กลุ่มเปราะบางเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถปรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แผนภัยพิบัติ 5 ด้าน

อีกทั้งยังได้มีความร่วมมือกับ ธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งกระทรวง พม. ขับเคลื่อนงานด้านมิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Social Dimensions of Climate Change) เพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้สามารถรับมือและปรับตัวได้ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยการดำเนินงานที่สำคัญคือ การจัดทำแผนที่ภัยพิบัติ 5 ด้าน ประกอบด้วย แผนที่ภัยพิบัติ และการบูรณาการข้อมูล, การคำนวณมูลค่าผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่ภัยพิบัติศึกษาแผนปฏิบัติการของจังหวัดกับท้องถิ่น และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร พม.

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีนโยบายระยะยาวสำหรับการดูแลกลุ่มเปราะบาง ไม่เฉพาะแต่กรณีที่เกิดเหตุขึ้นฉับพลันในลักษณะภัยพิบัติเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุการณ์ที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น (Slow Onset Events) เช่น อุณหภูมิค่อย ๆ สูงขึ้น หรือระดับน้ำทะเลค่อย ๆ ยกระดับขึ้น หรือสภาพอากาศร้อน หนาว ฝน แล้ง ค่อย ๆ ปรับรูปแบบ หรือค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น

โดยการยกระดับการคุ้มครองทางสังคมผ่านกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว หรือสร้างขึ้นใหม่ เช่น การปฏิบัติงานของอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หรือผู้บริบาลผู้สูงอายุ หรือหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. (สถาน-บ้าน-นิคม) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงที่อยู่อาศัย ที่สนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางสามารถรับมือและปรับตัวได้ และการคิดค้นวิธีการรับมือและสร้างความตระหนักรู้ให้กับกลุ่มเปราะบาง

อาทิ การพัฒนาระบบข้อมูล และการใช้ AI เข้ามาช่วย ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้นำกลไกของห้องปฏิบัติการนโยบาย (Policy Lab) เข้ามาช่วย ทำให้แนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางในประเทศไทยมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา

4 นโยบาย รับมือโลกรวน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวสรุปข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า ร่างนโยบายและกรอบการดำเนินการการคุ้มครองทางสังคมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้รับมอบจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ทำการศึกษาและพัฒนาในครั้งนี้ได้ถอดบทเรียนจากต่างประเทศและการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ได้กรอบนโยบายหลัก 4 ประเด็น

1.การสนับสนุนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์

2.การยกระดับกลไกภายในกระทรวง พม. ให้สามารถดำเนินการคุ้มครองทางสังคมแก่กลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของกลุ่มเปราะบาง

4.การบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กลุ่มเปราะบางสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

“นโยบายเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ เชื่อมโยงและสนับสนุนกัน และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์มาก นโยบายเหล่านี้ได้นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป” ดร.วิจารย์ย้ำ

อนุกูล ปีดแก้ว
อนุกูล ปีดแก้ว

ขณะที่ อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบหลากหลาย การสูญเสียรายได้และทรัพย์สินของมนุษย์

“เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยตรง ในการสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางสามารถมีการเตรียมความพร้อม รับมือ และปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบนโยบายการคุ้มครองทางสังคมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกรอบการดำเนินงานร่วมกัน การขับเคลื่อนดำเนินการดังกล่าวจะเกิดผลได้ โดยได้รับความร่วมมือกับทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ นโยบายการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงของมนุษย์ในครั้งนี้ จะได้นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป