ส.อ.ท.-สธ. ผุดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตั้งเป้า’68 มูลค่า 6.9 แสนล้านบาท

ส.อ.ท.จับมือ สธ. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพไทย จัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ยา อาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจ-ลงทุนในประเทศ

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจ มุ่งผลักดันผ่าน 7 นโยบายด้านเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.9 แสนล้านบาทในปี 2568 ส่งผลต่อการเพิ่ม GDP ของประเทศ

โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีนวัตกรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จะช่วยเสริมพลังการขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพได้เป็นอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้รับฟังปัญหาและอุปสรรค ดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบในการขออนุมัติ อนุญาตด้านผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต นำเข้า ขาย รวมทั้งการโฆษณา เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการพิจารณาให้รวดเร็วมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

จากการที่ได้หารือร่วมกับ ส.อ.ท. ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น การให้คำปรึกษาด้านกฎระเบียบ การฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการ การส่งเสริมให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขเชื่อมั่นและใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมที่ผลิตได้ในประเทศ

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะในสถานบริการของรัฐ และผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นในประเทศเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และส่งเสริมกลไกของบัญชีนวัตกรรมเพื่อการจัดซื้อภาครัฐ

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่เตรียมพร้อมยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ประกอบกับแนวโน้มกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เข้ามารักษาในไทย และสถานการณ์ที่ไทยและต่างประเทศกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้เกิดกระแสที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันรุนแรงในสินค้าประเภทเดียวกันกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ดังนั้นการส่งเสริมเศรษฐกิจโดยเน้นการผลิต การบริโภคภายในประเทศ จะเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถรอดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวได้

7 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม

เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในสินค้าภายใต้คลัสเตอร์สุขภาพและความงาม โดย ส.อ.ท.ได้จัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ซึ่งประกอบด้วย 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ยา อาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท.และกระทรวงสาธารณสุข ที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามในเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ ซึ่งเรามีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสุขภาพในอาเซียน และจะเดินหน้าพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตั้งแต่การพัฒนาด้านวัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอนาคตต่อไป

นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม มีการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ทั้งในเชิงกฎระเบียบและมาตรฐานการผลิต การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม และการส่งเสริมระบบสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

4 นโยบายสำคัญ

1. การสร้างความเข้มแข็งในเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม
2. การยกระดับสู่อุตสาหกรรมใหม่
3. การปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
4. การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังมีการนำเสนอแนวทางความร่วมมือขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย โดยจะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ ส.อ.ท. เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการลงทุนในประเทศ โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

1. การส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อส่งเสริมประเทศไทยเป็น Medical & Wellness Hub พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.9 แสนล้านบาท เพื่อหวังกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและ GDP ของประเทศในปี 2568
2. การสร้างกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ระหว่างภาครัฐและเอกชน แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1.1 พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นนวัตกรรม
1.2 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
1.3 การส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่วิจัย พัฒนาขึ้นในประเทศและส่งเสริมให้มีการใช้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในสถานบริการของรัฐ
3. แถลงข่าวดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ