
อุตสาหกรรมไทยเตรียมรับผลกระทบ หลัง พ.ร.บ.Climate Change เริ่มบังคับใช้ จากงานวิจัยพบมีเพียงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มพลังงาน และสถาบันการเงิน ที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยง
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม มองเป็นเรื่องการลงทุนและภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ย้ำผู้ประกอบการที่ไม่เร่งปรับตัวอาจส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต

ผศ.ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ และอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องเร่งด่วนระดับโลกที่ต้องร่วมมือจากทุกประเทศ
ประเทศไทยได้เข้าร่วมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มีเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
ความท้าทายคือ อุตสาหกรรมไทยจะคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas-GHG) ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับข้อตกลงได้หรือไม่ เมื่อ “พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ พ.ร.บ.Climate Change กำลังมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่น่าจับตา และเป็นที่มาของโครงการวิจัย “เราพร้อมหรือยังต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ : วุฒิภาวะด้านการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในอุตสาหกรรมไทย” จากนักวิจัย มจธ.
ทั้งมีการวิเคราะห์ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการรับมือ และนำเสนอนโยบายที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเก็บข้อมูลจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation-AF) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิให้ทุนวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) จากเดิมมีเพียงทุนวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.ปฏิภาณกล่าวว่า งานวิจัยนี้ใช้เวลา 2 ปี (พ.ศ. 2565-2567) เก็บข้อมูลจาก 200 บริษัท ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า “ภาคอุตสาหกรรมไทยแม้จะรับรู้เรื่อง Climate Change แต่ยังให้ความสนใจน้อยมาก”
“แม้ไทยจะตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 แต่ภาคเอกชนกลับไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะ 2 ปีก่อน หลายบริษัทมองว่า Climate Change ไม่ได้กระทบธุรกิจโดยตรง”
ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะมีผลโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะงบการเงินของบริษัทจาก พ.ร.บ.ลดโลกร้อน หรือ พ.ร.บ.Climate Change ซึ่งใช้บังคับแล้ว ทำให้อุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่าน และจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติน้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ
ซึ่งพบว่ามีเพียงอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ตื่นตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ และเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีทรัพยากรพร้อมลงทุน
ตรงข้ามกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ ภาคการเกษตร ภาคบริการ ที่มีความพร้อมต่ำ และเห็นว่าเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.ปฏิภาณเสริมว่า สถาบันการเงินมีการปรับตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และนำมาสู่การต่อยอดงานวิจัย โดยนำ Machine Learning มาประยุกต์ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ (Climate Risk Disclosure) ในรายงานประจำปี ซึ่งเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมสีเขียว
“สังคมไทยตระหนักถึง Climate Change มากขึ้น แต่ยังขาดแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน ภาครัฐต้องมีมาตรการบังคับและจูงใจควบคู่กัน พร้อมกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนเพียงจุดเดียว เพื่อลดความซ้ำซ้อนและอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ”
ที่สำคัญ ต้องบรรจุ Climate Change ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อปลูกฝังการรับผิดชอบต่อสังคม แม้ทั่วโลกจะพยายามแก้ปัญหา แต่ยังไม่มีประเทศใดรับมือได้อย่างสมบูรณ์ บางประเทศเลือกย้ายฐานการผลิตแทนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้แต่ประเทศฟินแลนด์ หรือนอร์เวย์
หากไม่เร่งลงมือทำในวันนี้ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะยิ่งล่าช้า ส่วนอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเร็ว จะมีความได้เปรียบในอนาคต
งานวิจัยเปิดมุมมองใหม่อีกว่า การบริหารความเสี่ยงขององค์กรเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องมองถึงปัญหาระดับโลกด้วย ทุนวิจัยจากอาซาฮีถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการตื่นตัว
ที่ท้าทายคือ Climate Change เป็นเรื่องยาก และอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในเรื่องก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero หากโลกนี้ไม่ร่วมมือกัน
ยิ่งการแก้ปัญหาแบบย้ายฐานผลิตในประเทศอื่นหรือทดแทนด้วยการรับซื้อคาร์บอนเครดิต ยิ่งทำให้การปล่อยก๊าซไม่ได้ลดลง เพราะก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจะส่งผลกระทบในอีก 30 ปีข้างหน้า
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาจากยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศที่พัฒนาแล้วยิ่งต้องรับผิดชอบ เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา
ทำให้เกิดคำถามจากประเทศในแถบเอเชียว่า ทำไมต้องให้ประเทศเขาทำ Net Zero ซึ่งแท้จริงแล้ว Net Zero คงไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งที่ต้องทำ แต่ทุกประเทศต้องทำมากกว่า
สรุปปัจจัยสู่ความสำเร็จที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Net Zero ได้ คือ ผู้นำต้องมีความชัดเจนและจริงจัง มิเช่นนั้นเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จะไม่มีทางเป็นจริง