‘ชุมชนบ้านป่าดำ’ พลังของคน 3 วัย ต้นแบบ ‘เศรษฐกิจ-กายใจ’ เข้มแข็ง

ชุมชนบ้านป่าดำ หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นตัวอย่างชัดเจนในเรื่อง “การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยอาศัยพลังของทุกคนในชุมชน และมี “ผู้นำ” ที่เข้มแข็งเป็นแบบอย่าง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับคนรุ่นหลัง

ซึ่ง 1 ใน 6 ชุมชนต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือก โครงการอำเภอบูรณาการป้องกันปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (แอลกอฮอล์) ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ปี 2567 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยมี นายศิลาศักดิ์ วินันต์ หรือ “พ่อหลวงบ้านป่าดำ” ผู้ใหญ่บ้าน เป็นแกนนำคนสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง

พ่อหลวงศิลาศักดิ์เล่าว่า เริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นคณะทำงานเครือข่าย การป้องกัน แก้ไข ปัญหา เหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุ จังหวัดลำพูน เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยตระหนักดีว่าการจะทำให้ชุมชนลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอื่น ๆ ได้นั้น ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดี

แม้ว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะฝังรากลึกในวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะในงานประเพณีและเทศกาลต่าง ๆ แต่พ่อหลวงเลือกที่จะยืนหยัดในแนวทางงดเหล้าและส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักถึงผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพและสังคมอย่างต่อเนื่อง

ศิลาศักดิ์ วินันต์
ศิลาศักดิ์ วินันต์

8 มาตรการ “ร้านคุณธรรม”

1.งานศพปลอดเหล้า 2.ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ต้องมีใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิต 3.ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉพาะเวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. เท่านั้น 4.ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

5.ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับคนที่เมาจนครองสติไม่ได้ 6.ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ของแต่ละเดือน 7.ไม่ขาย ไม่ดื่ม ไม่สูบในวัด โรงเรียน สถานที่สาธารณะ และสถานที่อื่น
ที่กฎหมายกำหนด 8.ไม่ทำการโฆษณา ส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ADVERTISMENT

มาตรการ 8 ข้อนี้ อ้างอิงจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และได้รับความร่วมมือจากร้านค้าในชุมชนเป็นอย่างดี

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนลดลง คือ การตระหนักถึงปัญหาเรื่องสุขภาพ เนื่องจากชุมชนได้เห็นถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ฯลฯ” พ่อหลวงบ้านป่าดำกล่าว

ADVERTISMENT

พลังคนสามวัย

นอกจากให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน จากแนวคิด พื้นที่ว่างสร้างอาหาร พ่อหลวงและชุมชนบ้านป่าดำได้พัฒนา โครงการครัวชุมชนคนสามวัยใส่ใจสุขภาพ โดยนำพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในชุมชนมาใช้ให้เกิดแหล่งประโยชน์ ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดสารพิษ/ผักอินทรีย์ มีสุขภาพดี และเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อในพื้นที่

ทั้งยังเป็นจุดนัดพบรวมพลังของคน 3 ช่วงวัย ได้แก่ “วัยเด็ก” มีบทบาทในการเรียนรู้และช่วยเหลือผู้ปกครองในการทำเกษตรอินทรีย์ “วัยทำงาน” เป็นแรงหลักในการบริหารจัดการและส่งเสริมการเกษตรปลอดสารพิษ/เกษตรอินทรีย์ และ “ผู้สูงอายุ” ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทำปุ๋ยหมัก การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และการปรุงอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น

พร้อมสร้างแกนนำคนรุ่นใหม่ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของชุมชนบ้านป่าดำให้คงอยู่ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ลูกหลานของคนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ สืบทอดความรู้จากคนรุ่นเก่าที่กำลังจะสูญหายไป

ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิดและพฤติกรรม จากการทำการเกษตรแบบเคมี ค่อย ๆ ปรับวิธีการคิด สู่การทำการเกษตรปลอดภัยจากสารพิษ การใช้สารชีวภาพ ทดแทนการใช้สารเคมี สามารถทำได้จริงในแปลงปลูกของครัวชุมชนจากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ฝึกปฏิบัติผ่านกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมกันสร้าง ความรัก ความผูกพัน เกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ได้ปฏิบัติและทดลองทำในที่สุด

ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของทุกภาคส่วนในชุมชน ทำให้เกิดพลังความสามัคคี ของคนทั้ง 3 วัย เกิดความภาคภูมิใจ และมองเห็นคุณค่าของเด็กและเยาวชน ในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง

โครงการนี้ไม่ได้เป็นเพียงการส่งเสริมการลดละเลิกแอลกอฮอล์ แต่ยังเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยชุมชนได้จัดทำปฏิทินอาหารตามฤดูกาลที่แสดงถึงอาหารพื้นบ้านที่หาได้ในแต่ละช่วงปี เช่น ผักหวานป่า เห็ดเผาะ และแมลงกินได้ รวมถึงปฏิทินประเพณีวัฒนธรรม การอนุรักษ์ประเพณีสำคัญ เช่น ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่จับต้องได้พบว่า อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง เนื่องจากร้านค้าในชุมชนสมัครใจเข้าร่วมร้านคุณธรรม ที่ไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะเมื่อการบริโภคเหล้าลดลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นและปัญหาสุขภาพลดลง และเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เช่น ยาดมสมุนไพรและน้ำมันหอมระเหย

สำหรับแนวทางการในอนาคต ชุมชนบ้านป่าดำมีแผนที่จะขยายผลโครงการโดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้แนวคิดลดเหล้า เพิ่มสุขตั้งแต่ยังเล็ก รวมถึงพัฒนาโครงการนวัตกรรมทางสังคม เช่น ธนาคารเวลา ที่ให้คะแนนสะสมสำหรับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสามารถนำไปแลกสิ่งของจำเป็นได้ต่อไป