
ถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกพูดถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจกับเทรนด์รักสุขภาพมากยิ่งขึ้น กอปรกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนที่มีความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และให้ความสนใจกับการบริโภคโปรตีนจากพืช ทำให้ถั่วเหลืองพ๊อปพูลาร์ขึ้นอย่างมาก
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สถานการณ์ในประเทศไทยในปี 2567 มีผลผลิตถั่วเหลืองภายในประเทศรวม 22,737 ตัน และไทยมีพื้นที่ปลูกลดลง เนื่องจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำเมื่อเทียบกับพืชแข่งขันชนิดอื่น ๆ จึงต้องพึ่งการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ โดยในปี 2566 จำเป็นต้องนำเข้าจำนวนถึง 3.28 ล้านตัน มูลค่า 69,955.10 ล้านบาท
ประกอบกับรายงานจาก Madre Brava เปิดเผยว่า การเผาตอซังพืชในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม-เมษายน) เป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากความชื้นต่ำทำให้ฝุ่นสะสมในอากาศ ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน และภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาทำให้การไหลเวียนของอากาศไม่ดี ส่งผลให้ PM 2.5 ไม่สามารถกระจายตัวได้
และที่สำคัญ การเผาเพื่อการเกษตรอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยมากกว่า 34,000 รายต่อปี
มรภ.ศรีสะเกษปิ๊งไอเดีย
จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในจังหวัดยากจนของภาคอีสาน มีครัวเรือนคนจน 21,053 ครัวเรือน มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 113,451 คน
เมื่อวิเคราะห์ศักยภาพครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้าครอบคลุมทุนดำรงชีพ 5 ด้าน พบว่าทุนที่มีศักยภาพมากที่สุดของจังหวัดคือ ทุนมนุษย์, ทุนกายภาพ, ทุนเศรษฐกิจ, ทุนธรรมชาติ และทุนทางสังคม ตามลำดับ
จากการศึกษาของโครงการวิจัย “การแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดศรีสะเกษ” พบสภาพปัญหาและสาเหตุความยากจน ได้แก่ คนจนในจังหวัดศรีสะเกษไม่มีงานทำที่จะสร้างรายได้ และไม่สามารถทำการผลิตได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากขาดแหล่งน้ำ ส่งผลให้ไม่สามารถออมเงินได้และมีภาระหนี้สิน
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษจึงได้พัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ เพื่อระบุครัวเรือนยากจนอย่างแม่นยำ ในชื่อ “ฮักแพง แบ่งปัน สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ” เป็นระบบข้อมูลที่สนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัด
โดยได้รับเงินทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำที่สุด ได้แก่ ปัตตานี, อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, ชัยนาท, สุรินทร์, ยโสธร, สกลนคร, มุกดาหาร, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, นราธิวาส, อุบลราชธานี, ลำปาง, พัทลุง, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, พิษณุโลก, เลย, ยะลา และศรีสะเกษ

ถั่วเหลืองแก้จน
โครงการวิจัย “การแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยกระบวนการจัดการพื้นที่สำหรับพืชเกษตรมูลค่าสูง จังหวัดศรีสะเกษ” หรือ Sisaket Equity System-SES เป็นการพัฒนาโมเดลห่วงโซ่คุณค่าในการกระตุ้นแรงจูงใจให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างทางการเกษตรในช่วงหลังเก็บเกี่ยว เปลี่ยนเป็นแปลงเพาะถั่วเหลือง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ ศรีสุวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัยเปิดเผยว่า ถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงเปิดโอกาสให้ครัวเรือนที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกผ่านความร่วมมือกับกลุ่มนาแปลงใหญ่
“นอกจากสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นพืชที่ช่วยฟื้นฟูคุณภาพดิน สามารถลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเตรียมพื้นที่ฤดูกาลทำนารอบถัดไป”
ปัจจุบันมีการเพาะปลูกถั่วเหลืองบนพื้นที่รวมกว่า 60 ไร่ ในพื้นที่ตำบลหนองแก้ว จังหวัดศรีสะเกษ โดยใช้เวลาเพาะปลูกราว ๆ 3 เดือน มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 2,500-4,000 บาทต่อไร่ หากผลิตเต็ม Capacity จะได้กำไรราว 6,000 บาทต่อไร่ และเมื่อนำไปแปรรูปจะสามารถเพิ่มกำไรได้อีก 30%
ซึ่งการสร้างมูลค่าถั่วเหลืองจากการแปรรูปจะถูกนำไปเป็นผลิตภัณฑ์หมูยอเจปันสุข สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 38% ผลิตภัณฑ์เท็มเป้ 3 ถั่วรวมสุข สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 42% คิดคำนวณจากการขายถั่วเหลือง 20 บาทต่อกิโลกรัม
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน 3,015 บาทต่อเดือน มีครัวเรือนคนจนที่ได้รับผลประโยชน์จำนวน 117 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ยังมีการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัทปัจจัยชีวี (ศีรษะอโศก) ในการพัฒนาโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการขยายโอกาสทางตลาดและเพิ่มความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่นต่อไป
“การปลูกถั่วเหลืองสามารถช่วยลดการเผาตอซังข้าวได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากเกษตรกรสามารถพลิกหน้าดินและปลูกถั่วเหลืองต่อได้เลย จังหวัดศรีสะเกษเองเป็นจังหวัดหนึ่งที่เผชิญหน้าภาวะฝุ่น PM 2.5 อย่างหนักเช่นกัน”

ลดฝุ่นพิษ ลดสถิติเสียชีวิต
ด้าน วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava ระบุว่า คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานในประเทศไทย การศึกษาภาวะโรคทั่วโลกรายงานว่า มลพิษจากฝุ่นละอองในบรรยากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย โดยในปี 2564 พบผู้เสียชีวิตกว่า 53,356 ราย
ขณะที่รายงานอีกฉบับ ซึ่งใช้ข้อมูลการวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นดินพบว่า การได้รับ PM 2.5 เป็นเวลานานส่งผลให้มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการเชิงนโยบายที่หลากหลายเพื่อลดมลพิษทางอากาศ อย่างไรก็ตาม การจำกัดการเผาเพื่อการเกษตรยังคงเป็นความท้าทาย จากการประเมินโดยกรมควบคุมมลพิษแห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการความร่วมมือเรื่องสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด (CCAC) พบว่าการเผาเพื่อการเกษตรเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มากที่สุดในประเทศไทย โดยในปี 2563 ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง มีส่วนทำให้เกิด PM 2.5 มากกว่า 35% ของทั้งหมด
“ทุก ๆ การเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความเสี่ยงสัมพันธ์ของการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น 8%”
โปรตีนพืช ทางด่วนสู่ Net Zero
วิชญะภัทร์จึงมีข้อเสนอแนะอันดับแรกจากการประเมินนี้ ได้แก่ ลดการเผาตอซังพืชในที่โล่ง และสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน หรือการปรับสมดุลแหล่งโปรตีน โดยแทนที่โปรตีนจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลด้วยโปรตีนจากพืช จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับการเผาตอซังพืชได้
โดยรายงานพบว่า หากสามารถแทนที่การผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลในสัดส่วน 50% ด้วยโปรตีนจากพืช ประเทศไทยสามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับการเผาตอซังได้มากกว่า 1 แสนราย ภายในปี 2593
นอกจากนี้ หากสามารถสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนให้ถึง 50% ภายในปี 2593 จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากถึง 1.3 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่า 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 35.5 ล้านเมตริกตันต่อปี