
K9 ย่อมาจาก Canine หรือ “สุนัขตำรวจ” สุนัขประเภทพิเศษ ๆ ที่มีความชาญฉลาด เป็นพันธุ์เฉพาะ และได้รับการฝึกฝนอย่างหนักตามมาตรฐานสากล เพื่อทำหน้าที่ซับซ้อนที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ เช่น ดมกลิ่นหาผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หรือดมกลิ่นหาวัตถุต้องสงสัยจำพวกระเบิดตามสนามบิน ซึ่งไม่ใช่สุนัขทุกตัวจะสามารถทำได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมักมีสุนัขสายพันธุ์เฉพาะเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่ได้รับการฝึกให้เป็นสุนัขตำรวจ
บางตัวอาจมี “ความถนัดด้านการตรวจจับ” เนื่องจากสุนัขมีตัวรับกลิ่น 225 ล้านตัวในจมูก (เทียบกับ 5 ล้านตัวในมนุษย์) มนุษย์จึงใช้ความสามารถเฉพาะของสุนัขประเภทนี้ให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับอาชญากรรม

เมื่อพูดถึงกิจกรรมทางอาชญากรรม สุนัขมักจะตรวจจับยาเสพติด วัตถุระเบิด สารเร่งปฏิกิริยา (เมื่อสืบสวนการวางเพลิง) และหลักฐานอื่น ๆ ที่เกิดเหตุ สุนัขปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกที่ ส่วนใหญ่มักจะค้นหาวัตถุระเบิดและยาเสพติดผิดกฎหมายที่สนามบินและเขตชายแดน
หรือบางตัวที่ถนัด “การค้นหาและกู้ภัย” งานตำรวจส่วนใหญ่คือการค้นหาเหยื่อที่สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกลักพาตัว หรือคนหาย ในกรณีการค้นหาและกู้ภัย สุนัขสามารถฝึกให้ค้นหาเหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่และซากศพของมนุษย์ที่เสียชีวิตได้ดี
สุนัขสามารถค้นหาในซากปรักหักพังหลังจากการระเบิดครั้งใหญ่ แผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติอื่น ๆ ทั้งสามารถเดินทางเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรในป่า เพื่อค้นหาผู้เดินป่าที่สูญหาย หรือคนที่ถูกฝังหลังหิมะถล่ม สุนัขบางตัวสามารถค้นหาศพของเหยื่อที่จมน้ำตายใต้น้ำในมหาสมุทรและทะเลสาบได้ด้วยซ้ำ ความสามารถของสุนัขในการค้นหาพื้นที่ขนาดใหญ่ในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นต้น
สี่ขากู้ภัย K9 ไทยดังทั่วโลก
สุทธิเกียรติ โสภณิก ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Foundation) ซึ่งมีภารกิจหลักในการค้นหาและกู้ภัยผู้ประสบภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (DDPM) กระทรวงมหาดไทย และในฐานะหัวหน้าชุดทีมสุนัขค้นหา (K9 USAR THAILAND) เป็นหน่วยงานสุนัขกู้ภัยแห่งชาติกล่าวว่า
“สุนัขกู้ภัยแห่งชาติ” เป็นทีมที่รัฐบาลไทยตั้งขึ้น โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกด้านไว้ด้วยกัน ซึ่งทีมสุนัขกู้ภัยทั้งประเทศมีเพียง “ทีมเดียว” เราทำเรื่องนี้มานานแล้ว มีประวัติและผลงานเป็นที่ประจักษ์
ในด้านการฝึกนั้น ผู้อำนวยการระบุว่าต้องใช้เวลามากกว่า 3-4 เท่า กล่าวคือถ้าเป็นสุนัขดมยา (ยาเสพติด) แค่ 6 เดือนก็ออกไปปฏิบัติงานได้ แต่สุนัขที่ออกไปค้นหาและกู้ภัยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ที่สำคัญโอกาสสอบผ่านไม่ถึง 10%
ซึ่งสุนัขกู้ภัย K9 ภายใต้ทีม USAR Thailand เคยไปปฏิบัติภารกิจช่วยผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวตุรกี (Thailand for Turkiye) มาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในปฏิบัติการครั้งนั้น ผู้คนได้ให้ความสนใจมากกับสุนัข K9 2 ตัวที่ชื่อ “เซียร่า” และ “ซาฮาร่า”
สุทธิเกียรติแนะว่า การฝึกสุนัขให้เป็น “สุนัขค้นหาและกู้ภัย” นั้น ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเล็ก หลักการสำคัญในการฝึกคือ ต้องมีความสุขในการทำงาน ทำงานเพื่อหา “เป้าหมาย” ที่เราต้องการ นั่นคือ “คน” ซึ่งเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ อาจมีเลือดไหล และไม่เหมือนคนอื่น ดังนั้น ฝึกอย่างไรถึงจะแยกแยะคนทั่วไปกับผู้ประสบภัย หรือผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตได้
ส่งสุนัขฮีลใจผู้ประสบภัย
“อลงกต ชูแก้ว” รองผู้อำนวยการองค์การสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ หรือ K9 USAR THAILAND ได้สั่งผู้ควบคุมให้เตรียมความพร้อมที่ตึกก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ริมถนนกำแพงเพชร 2 ตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร หลังจากได้รับสัญญาณ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ด้านใน โดยให้เตรียมกำลังของสุนัข K9 เข้าปฏิบัติภารกิจในพื้นที่
โดยกำกับผู้ควบคุมทุกคนให้ประจำสุนัขของตัวเอง และเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ทั้งอาหารและอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งครั้งนี้มีการเตรียมอุปกรณ์มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะถังออกซิเจนที่ใหญ่กว่าเดิม เนื่องจากด้านในตอนนี้มีอุปสรรคปัญหาหลายอย่าง ซึ่งอาจกระทบกับร่างกายของสุนัขได้
และนอกจากภารกิจการช่วยค้นหาผู้สูญหายที่ติดอยู่ภายในซากอาคารแล้ว บรรดาสุนัข K9 เหล่านี้ยังได้ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจญาติของผู้สูญหาย ซึ่งช่วงเช้านี้เจ้าหน้าที่ได้มีการนำสุนัข K9 ชื่อ “เล็ก” เข้าไปพบปะกับญาติ ๆ ที่อยู่ในศูนย์พักพิง เนื่องจากหวังว่าจะช่วยให้คลายเครียด
“ส่วนตัวมีความคิดว่าสุนัขสามารถรับรู้ถึงความกังวลใจของมนุษย์ได้ และเขาก็จะช่วยเยียวยาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าญาติของผู้สูญหายแต่ละคนมีรอยยิ้มขึ้นมา และคลายความกังวลใจไปได้บ้าง จากการได้พบปะกับความน่ารักของสุนัข ซึ่งสาเหตุที่เลือกสุนัขตัวนี้ เนื่องจากมีลักษณะนิสัยอ่อนโยน”
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ยังได้มีการนำสุนัขบางตัวออกมาคลายเครียดและเตรียมความพร้อม สำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะเจ้านวล สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ สีขาว ที่มีนิสัยซุกซนและชอบเล่น จึงต้องมีการนำออกมาเพื่อปรับพฤติกรรมก่อนที่จะเข้าปฏิบัติภารกิจ
ซึ่งทันทีที่นำออกมา เจ้านวลก็มีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก ผู้ควบคุมจึงได้นำไปที่กะละมังให้สุนัขได้ผ่อนคลายจากการเล่นน้ำ และสุนัขแต่ละตัวจะมีแอร์เคลื่อนที่ สำหรับใช้ในการคลายความร้อนให้ด้วยในช่วงพักคอย ก่อนจะเริ่มปฏิบัติภารกิจครั้งใหม่เป็นระยะ ๆ