
ประเทศไทยมีชาติพันธุ์มากกว่า 70 ชาติ ร่ำรวยด้วยมรดกทางวัฒนธรรม แต่สิ่งเหล่านั้นกำลังค่อย ๆ สูญหายไปตามกาลเวลา สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT ชูภารกิจการสืบสานงานหัตถศิลป์ไทย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หัวใจสำคัญคือการสืบสาน-สร้างสรรค์-ส่งเสริม สร้างเศรษฐกิจฐานรากเพื่อตอบโจทย์ SDGs
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานหัตถศิลป์ไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หากไม่มีการสืบสานจึงเสี่ยงที่จะสูญสลาย จึงเป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ “คน”

ปัจจัยสำคัญมาจากประโยชน์และการใช้งานไม่ตอบโจทย์กับสังคมในปัจจุบัน การที่จะทำให้งานหัตถกรรมคงอยู่ต้องดีไซน์ใหม่ให้ตอบโจทย์คน เช่น เครื่องเขินเชียงใหม่ที่ใช้ในบริบททางศาสนา ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้าถึงง่าย เป็นเคสโทรศัพท์ เพื่อความร่วมสมัย และส่งเสริมด้านการตลาด สร้างกระแสความต้องการ
“หัตถกรรมก็เหมือนกับชีวิต มีวัฏจักรที่เกิดขึ้น เติบโต และรีบอร์นกลับมาใหม่”
การสืบสานงานหัตถศิลป์เกี่ยวกับมิติความยั่งยืน หรือ SDGs ทั้งเรื่องคน, สิ่งแวดล้อม, การดูแลความเป็นอยู่ของภาคส่วนต่าง ๆ และการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
พื้นฐานงานศิลปหัตถกรรมไทย คือการนำเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ เช่น เส้นใยพืช-สัตว์ ได้แก่ ไหม, ฝ้าย, สีย้อม ทั้งลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และป้องกันสุขภาพของผู้ผลิต
“วัตถุดิบ” จากธรรมชาติก็จำเป็น เพราะไม่สามารถทดแทนได้ด้วยสิ่งอื่น เป็นเสน่ห์ของผลงาน หลายอย่างใช้แล้วหมดไป หรือบางอย่างต้องใช้เวลาในการผลิต จึงต้องมีการวางแผนหาทางออก
“เวลาพูดถึงสิ่งแวดล้อม คนมักจะนึกถึงรีไซเคิลอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วรีไซเคิลอาจไม่ได้ตอบโจทย์ทุกหัตถกรรม งานสิ่งทออาจทำได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า การเอาของมารีไซเคิลเป็นกระบวนการที่กระทบสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ดังนั้น เส้นใยธรรมชาติดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ทำให้ยั่งยืนได้ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุด”
SDGs ต้องมองเป็นกลุ่ม ทุก ๆ กิจกรรมของมนุษย์มีผลกระทบกับทุกสิ่งอย่าง ทั้งเรื่องคนที่เข้าสู่อุตสาหกรรม เรื่องของกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ GEN X ที่กำลังแก่ตัวลง และพอมีกำลังที่จะทำอะไรได้ ในขณะที่ GEN ใหม่ ๆ กำลังออกห่างจากงานศิลปหัตถกรรมขึ้นทุกที
จะทำอย่างไรให้ปลายทั้งสองด้านของช่วงอายุมาบรรจบกัน โดยอาศัยงานหัตถกรรมให้อยู่อย่างร่วมสมัยได้ ผศ.ดร.อนุชากล่าวว่า เรื่องปากท้องสำคัญ เพราะงานศิลปหัตถกรรมคือเศรษฐกิจฐานรากรูปแบบหนึ่ง เป็นเรื่องชุมชน เพราะผู้ผลิตไม่ได้เข้าสู่โรงงาน หาก SACIT ส่งเสริมงาน อาชีพ เกิดรายได้ จะทำให้คุณภาพชีวิตชุมชนมีชีวาขึ้น
การเปิดโอกาสให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงงานศิลป์ สามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้ด้วยตัวของมันเองอย่างมีทางเลือก รวมถึงกลุ่มของสิ่งแวดล้อม เมื่อประมวลทุกอย่างรวมกันแล้วจะตอบโจทย์ SDGs ได้
“หากคนสร้างรายได้ได้ก็ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน”
ปี 2568 SACIT เห็นโอกาสการต่อยอดงานหัตถกรรมภาคเหนือ อย่างจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก “เมืองหัตถศิลป์โลก” หรือ World Crafts City จากองค์การยูเนสโก ปี 2563 ด้วยความโดดเด่นของงานฝีมือพื้นถิ่นที่สะท้อนรากเหง้า วัฒนธรรม และภูมิปัญญาอย่างลึกซึ้ง

โดยมีตัวอย่างเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานงานศิลปหัตถกรรมไทยล้านนา แนวคิดร่วมสมัย อาทิ อุทัยย์ กาญจนคูหา ครูช่างศิลปหัตกกรรม ปี 2566 (หัตถกรรมเครื่องเคลือบดินเผา) ผู้สืบสานงานหัตถศิลป์ถิ่นลำพูนประเภทเครื่องดินเซรามิกแบบร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์ ณ เตาชวนหลง หรือศูนย์การเรียนรู้ชวนหลงเซรามิก
ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกลุ่มสินค้าเซรามิกคุณภาพในกลุ่มไลฟ์สไตล์ อาทิ สินค้าประดับบ้าน เครื่องสังคโลก ชุดจาน-ชาม เซรามิกเพนต์ลวดลายแนวอนุรักษ์ตามแบบโบราณสมัยสุโขทัย ตลอดจนดีไซน์และแบบร่วมสมัยที่ดึงดูดการใช้งาน โดยอาศัยทักษะความชำนาญ ผนวกกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานที่ไร้ขีดจำกัด ต่อยอดสู่ช่องทางการค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ

วัชรพงษ์ ต้องรักชาติ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2564 (หัตถกรรมงานผ้าทอล้านนา) ต้นแบบผู้สืบสานงานหัตถกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในงานผ้าทอล้านนาที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ โดยฟื้นฟูต้นแบบการทอผ้าที่ใกล้สูญหายให้ยังคงอยู่ อาทิ ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซิ่นตีนจกเชียงแสนโบราณ ซิ่นตีนจกจอมทอง และซิ่นยกมุกโบราณ
ทั้งสานต่อเจตนารมณ์สืบทอดงานผ้าทอภูมิปัญญาของชาวล้านนา ผ่านการออกแบบลวดลายให้มีความร่วมสมัยให้อนุชนคนรุ่นหลังเห็นผลงาน ภายใต้บทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการเปิดสอนให้ผู้สนใจทั่วไปศึกษาเทคนิคการทอผ้าที่หาชมได้ยากอย่างไม่มีเงื่อนไข