ดูแลจิตใจ หลังแผ่นดินไหว อยู่กับ ‘ปัจจุบัน’ คือดีที่สุด

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติที่ทำลายสิ่งของและจิตใจ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นอีกหน่วยงานที่ระดมเจ้าหน้าที่และทรัพยากรภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ เพื่อดูแลด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

โดยส่งทีม MCATT (ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต) จำนวน 6 ทีม/วัน ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ประสบเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ทั้งดูแลญาติผู้ประสบเหตุ รวมถึงเจ้าหน้าที่กู้ภัย และทุกหน่วยงาน

พร้อมขยายบริการสายปรึกษาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จากเดิม 20 เป็น 30 คู่สาย เปิดให้บริการศูนย์เยียวยาจิตใจ 1667 อีก 30 คู่สาย รวมเป็น 60 คู่สาย รวมให้บริการ 1,598 ครั้ง

การที่กรมสุขภาพจิตพยายามสื่อสารกับประชาชนทุกช่องทางนั้น เพื่อให้ทุกคนรู้วิธีการรับมือกับสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ผู้คนไม่เคยชินจึงมีปฏิกิริยาค่อนข้างรุนแรง สังเกตจากข้อมูลในโลกออนไลน์จะมีอาการวิตกกังวล

ADVERTISMENT

ต้องดูว่า ระยะยาวความเครียดความกังวลจะยังอยู่หรือไม่ โดยให้เช็กตัวเองว่ามีความรู้สึกอย่างไร มีพฤติกรรมอารมณ์เปลี่ยนไปหรือไม่ กำลังกลัวอะไรอยู่ เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่ากำลังปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการวินิจฉัยโรคเครียด

กรมสุขภาพจิตแนะว่า เราต้องกลับมาอยู่กับปัจจุบันโดยเร็ว เพราะ “ชีวิตยังคงดำเนินต่อไป เมื่อเรากลับสู่ความปกติในแบบของเรา”

ADVERTISMENT

โดยแนะนำ “เทคนิค 5-4-3-2-1” พาสติและใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เริ่มต้นด้วยการบอกตัวเองเบา ๆ ว่า “ตอนนี้เราปลอดภัย” จากนั้นให้โฟกัสที่ลมหายใจ หายใจเข้าทางจมูก ลึกและช้า แล้วผ่อนออกเบา ๆ ทางปาก

แล้วค่อย ๆ ใช้ประสาทสัมผัสของคุณตามขั้นตอนนี้ 5 กวาดตามองสิ่งรอบตัวที่เห็นได้ เช่น โคมไฟ หนังสือ ต้นไม้ หรือสิ่งของเล็ก ๆ ใกล้ตัว, 4 สังเกตสิ่งที่ร่างกายกำลังรู้สึกถึง เช่น พื้นที่เหยียบอยู่ เสื้อผ้า แก้วน้ำ หรือเก้าอี้ที่นั่ง, 3 ตั้งใจฟังเสียงต่าง ๆ รอบตัว เช่น เสียงเครื่องใช้ เสียงคน หรือเสียงจากธรรมชาติ, 2 ลองหากลิ่นที่อยู่รอบตัว เช่น กลิ่นกาแฟ สบู่ หรือกลิ่นเสื้อผ้าที่เพิ่งซัก และ 1 สังเกตรสในปาก เช่น ยาสีฟัน อาหาร หรือถ้าไม่มีรส ให้ลองนึกถึงของโปรดที่คุณเคยทาน เพียงเท่านี้ก็จะสามารถพาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ง่าย ๆ และเสริมสร้างภูมิต้านทานให้จิตใจได้แล้ว

เหตุผลที่ต้องดึงสติกลับมา

1.ช่วยให้สมองรู้สึก “ควบคุมได้” ในช่วงวิกฤต สมองมักรู้สึกว่าทุกอย่างเกินควบคุม การกลับไปทำสิ่งคุ้นเคย เช่น อาบน้ำตอนเช้า ดื่มกาแฟถ้วยเดิม หรือจัดห้องนอนให้เรียบร้อย เป็นการส่งสัญญาณว่า “เรายังจัดการชีวิตของตัวเองได้”

2.ลดความเครียดและความวิตกกังวล กิจวัตรประจำวันช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยและคาดการณ์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อระบบประสาทเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด

3.ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว เพราะการหยุดกิจกรรมตามปกติเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือ PTSD ได้ การเริ่มต้นใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตได้ดีกว่า

4.เป็นแบบอย่างให้คนรอบข้าง เพราะการที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวหรือชุมชนพยายามกลับมาทำสิ่งเดิม ๆ ช่วยให้เด็กและผู้สูงวัยรู้สึกมั่นคงและกล้าฟื้นตัว

5.ช่วยฟื้นคืนพลังใจและความหวัง แม้โลกภายนอกยังวุ่นวาย แต่ความปกติเล็ก ๆ เช่น ทำอาหาร ดูแลต้นไม้ หรือออกไปเดินเล่น เป็นสัญลักษณ์ของ “ชีวิตที่ยังไปต่อได้” และเป็นพลังใจสำคัญของการฟื้นตัว เมื่อตัวเราเองกลับมาสู่สภาวะปกติได้ไว จะช่วยดูแลผู้อื่นได้ดีไปด้วย

ข้อควรระวัง สิ่งที่สะเทือนใจเราได้คือเฟกนิวส์ที่แฝงมาในรูปแบบ “ข่าวดี” จากการติดตามของกรมสุขภาพจิต พบว่า มีการแชร์ข้อมูลหลอกลวง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการช่วยเหลือ

สิ่งนี้อาจทำร้ายจิตใจผู้คนซ้ำเติม เพราะเมื่อความจริงปรากฏ ผู้ที่เฝ้ารอคอยก็จะเจ็บปวดอีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมา เพราะการสร้างหรือแชร์ข้อมูลเท็จ แม้จะด้วยเจตนาดีก็เหมือนส่งความสุขให้ชั่วครู่ แล้วยึดกลับพร้อมทิ้งความเศร้าคืนมาให้แทน

“ดังนั้นก่อนส่งต่อข้อมูลใด ๆ หยุดคิดสักนิดว่า ข้อมูลนี้จริงแน่หรือ ?”