มุมมองการพัฒนาธุรกิจยุค Disruption ชี้องค์กรต้องมีโมเดลธุรกิจที่ดี มุ่งตอบโจทย์ลูกค้า

เนื่องจากเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ข้อมูล ข่าวสาร ที่เกิดขึ้น อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้การดำเนินชีวิต และพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ส่งต่อองค์กรธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการคิดค้นนวัตกรรมสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่เข้าใจ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างการเติบโต และการแข่งขันให้กับองค์กร

ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “เอสซีจี” จึงร่วมกับพันธมิตร จัดงาน “Inno Meetup: Business Model Workshop” โดยมี “Alexander Osterwalder” หนึ่งในนักคิดด้านการบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นผู้คิดค้น Business Model Canvas และ Value Proposition Design Canvas มาร่วมแบ่งปันความรู้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานที่มีทั้งคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า โดยมีผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปในครั้งนี้กว่า 600 คน

“ยุทธนา เจียมตระการ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมต่างต้องแข่งขันกันด้วยความเร็ว ความแตกต่าง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการขยายตัวของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

“เอสซีจีถือเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงชักชวนพันธมิตรหลากหลายองค์กรธุรกิจร่วมกันจัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่เป็นประโยชน์กับเหล่าสตาร์ทอัพ หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยใช้เครื่องมืออย่าง Business Model Canvas และ Value Proposition Design Canvas ซึ่งได้รับการนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรชั้นนำระดับโลกจนประสบความสำเร็จแล้วหลายแห่ง รวมไปถึงเอสซีจี”

“ทั้งนี้ เอสซีจี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ จะได้เรียนรู้การออกแบบสินค้าและบริการที่สร้างคุณค่าให้ลูกค้าและสังคม เสริมศักยภาพการแข่งขันในโลกธุรกิจที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานท่านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนวงการธุรกิจและนวัตกรรมของไทยต่อไป”

Advertisment

ขณะที่ “Alexander Osterwalder” ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการเวิร์คช็อปครั้งนี้ว่า ในการดำเนินธุรกิจ องค์กรส่วนใหญ่มักจะติดกับดักบางประการที่ทำให้ไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ ทั้งที่องค์กรเหล่านั้นก็มีศักยภาพ

Advertisment

โดยจากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า กว่า 74% ของผู้บริหารกังวลว่าจะมีคู่แข่งใหม่ๆ มาทำให้เกิดการ Disruption ในอุตสาหกรรมของตัวเอง – (KPMG International) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแค่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่านั้น ฉะนั้นการที่จะยึดติดกับความสำเร็จและกรอบเดิมๆ จึงถือเป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวได้มากที่สุด

ขณะที่อีกหนึ่งงานวิจัยระบุว่า 72% ของนวัตกรรมในตลาดไม่ประสบความสำเร็จ – (Simon-Kucher) ซึ่งไม่ใช่เพราะทีมคิดค้นนวัตกรรมไม่ฉลาด แต่เขามองว่าความล้มเหลวดังกล่าวเกิดจากกระบวนการที่ยังไม่ดีเพียงพอ ดังนั้น ถ้ารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงควรเลิกแล้วไปทำสิ่งใหม่แทนทันที

“องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ยังสร้างนวัตกรรมแบบ Innovation Theater หรือทำเพื่อสร้างชื่อเสียง ไม่ใช่เพื่อใช้งานจริง แต่สิ่งที่เราคาดหวัง คือ การทำอย่างจริงจัง เสมือนสร้าง Silicon Valley จำลองภายในองค์กร ที่สำคัญต้องเข้าใจว่านวัตกรรมไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นการสร้างนวัตกรรมจึงไม่จำเป็นต้องมีหรือใช้เทคโนโลยีที่ดีสุดในโลก”

“และถ้าองค์กรใดต้องการทำนวัตกรรมใหม่ๆ จะต้องเข้าใจว่าโมเดลธุรกิจขององค์กรใหม่ๆ กับโมเดลธุรกิจขององค์กรที่ดำเนินการมาอยู่ก่อนแล้วมีความแตกต่างกัน เนื่องจากองค์กรที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วจะมีความชัดเจนของรูปแบบธุรกิจ ไม่ต้องการให้เกิดความล้มเหลว และเน้นลงมือทำโดยวางแผนล่วงหน้า ขณะที่องค์กรธุรกิจใหม่ๆ จะไม่สามารถรู้ถึงสถานการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าได้ และมองว่าการล้มเหลวเป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้องทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม”

“สิ่งผมต้องการย้ำคือ ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องยอมรับให้ได้ เพราะทุกคนสามารถล้มเหลวได้ หลายคนไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก และเบื้องหลังความสำเร็จก็มีความล้มเหลวอีกมากมายที่เราอาจไม่เคยรู้ แต่เมื่อล้มเหลวแล้วต้องรีบลุกขึ้นมาใหม่ให้ได้ทันที”

และเพื่อให้แน่ใจว่าไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คิดขึ้นมานั้นะเป็นที่ต้องการของตลาด โดยก่อนที่จะลงทุนจริง “Alexander Osterwalder” จึงแนะนำว่าต้องมีกระบวนการและเครื่องมือ ดังนี้

หนึ่ง ภาษาและเครื่องมือ (Common Language and Tools) ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การจดบันทึก หรือการใช้ Visual tools เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อย่างรูปแบบของ Business Model Canvas ที่ช่วยให้สามารถกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Customer Segments) ได้อย่างชัดเจน การกำหนดช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้าแต่ละราย (Channels) กระทั่งการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customers Relationship) เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้ต้องมีความเชื่อมโยงกัน เพราะทุกส่วนล้วนแต่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน

“การใช้เครื่องมือมีสิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ เราไม่สามารถใช้เครื่องมือเดียวกับทุกวัตถุประสงค์ได้ จึงทำให้ต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมกับแต่ละงาน เช่น การใช้เครื่องมือที่สามารถบอกเล่าคุณค่าที่เราส่งมอบให้ลูกค้า อย่าง Value Proposition Design Canvas เพื่อสร้างความเข้าใจ และดึงความสนใจจากลูกค้าได้ เพราะแม้เราจะไม่สามารถออกแบบลูกค้าได้ แต่เราสามารถออกแบบคุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าได้ ด้วยการทำความเข้าใจและยึดถือว่าลูกค้าคือศูนย์กลาง”

สอง การสร้างต้นแบบ (Prototyping) ซึ่งมีความสำคัญต่อการทดลองไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยองค์กรจะต้องลืมสิ่งที่เคยรู้มาก่อน และหันมาตั้งคำถามในสิ่งที่ไม่เคยรู้ เพื่อให้ได้นวัตกรรมโมเดลธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ

“การตั้งสมมติฐานเพื่อสร้างต้นแบบ ต้องคิดว่ามีแนวทางอะไรที่จะเป็นไปได้อีก ไม่ใช่เฉพาะสิ่งเล็กๆ ที่เรากำลังจะทำเท่านั้น ดังนั้น คนทำธุรกิจจึงต้องกลายมาเป็นนักออกแบบนวัตกรรม และเรียนรู้ที่จะค้นหาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติม โดยไม่หลงรักกับไอเดียแรกที่คิดค้นได้”

สาม การทดลอง (Testing) ว่าสิ่งที่เราคิดมาแล้วจะตรงใจผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด โดยต้องจัดลำดับความสำคัญของสมมติฐาน และใช้การทดลองที่มีต้นทุนต่ำ จากนั้นหากนำไอเดียไปทดลองกับลูกค้าแล้วไม่เป็นที่ชื่นชอบ แม้ว่าจะเป็นความล้มเหลว แต่เราต้องมองว่ามันคือ ความล้มเหลวที่ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ เพราะไอเดียไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่การเปลี่ยนไอเดียให้เป็นคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าต่างหากที่สำคัญกว่า

“จะเห็นได้ว่าทุกสิ่งบน Business Model Canvas คือ การตั้งข้อสงสัย ฉะนั้นเราต้องออกไปหาลูกค้า เพื่อทดสอบไอเดียก่อนจะทำจริง โดยอย่าเพิ่งทดสอบที่ตัวเทคโนโลยีหรือความเป็นไปได้ แต่ต้องมองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ก่อนหาทางทดสอบที่ถูกและเร็วที่สุด โดยเฉพาะการพูดคุยกับลูกค้า ที่นอกจากจะทำให้เราปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้แล้ว อาจจะทำให้เราได้ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจด้วย ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งรีบสร้างสินค้าหรือตัวอย่างสินค้าที่สมบูรณ์ออกมา แต่ต้องเริ่มพูดคุยและทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อน”

สุดท้าย “Alexander Osterwalder” กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นโมเดลธุรกิจที่สมบูรณ์แบบเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้นั้น เราต้องคิดว่าโมเดลธุรกิจแบบไหนที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ โดยที่ต้องไม่ลืมที่จะเรียนรู้จากมุมมองของผู้อื่นด้วย

“ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกนวัตกรรม หรือทุกโมเดลธุรกิจที่เราลงทุนไปจะประสบความสำเร็จ และสร้างรายได้มหาศาล ดังนั้นเราจึงต้องทำ Portfolio ที่มีการหมุนเวียนของไอเดียใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจอยู่เสมอ”

“เพราะความล้มเหลว และการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ (Failure and invention are inseparable twins)” Jeffry Bezos, Amazon Founder & CEO ได้กล่าวไว้