ปิดทองหลังพระฯหนุน ปชช. เสริมอาชีพประมงเพิ่มรายได้

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จับมือกรมประมงมุ่งส่งเสริมอาชีพประมงในพื้นที่พัฒนาของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พร้อมขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูให้เป็นอาชีพรายได้งามแก่ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้

“การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ” ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า นับจากปิดทองหลังพระฯขยายพื้นที่พัฒนาไปยัง 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2560 รวม 7 พื้นที่ ปัจจุบันได้ร่วมกับประชาชนในการซ่อมแซมและปรับปรุงระบบน้ำสำเร็จแล้วหลายแห่ง เช่น ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำให้ประชาชนสามารถทำการเกษตรได้ดีขึ้น ทั้งยังมีการต่อยอดความร่วมมือกับกรมประมง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงปลาเพิ่มเติม

“เราเล็งเห็นว่าการเลี้ยงปลาเป็นทางเลือกหนึ่งของการประกอบอาชีพ เพราะการเลี้ยงปลาใช้เวลาสั้น และมีตลาดรองรับ โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอและสม่ำเสมอก่อน ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส, ยะลา, ปัตตานี และเพชรบุรี ด้วยเทคนิคการเลี้ยงปลาในระบบน้ำไหลเพื่อให้ได้ปลาคุณภาพสูง”

นอกจากนั้น จะส่งเสริมการขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพู เพื่อสร้างอาชีพแก่ประชาชนตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รวมถึงส่งเสริมอาชีพประมงให้แก่ประชาชนในพื้นที่พัฒนาของสถาบันส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ พร้อมค้นหาแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

“ศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์” ผู้อำนวยการกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กล่าวเสริมว่า กรมประมงเริ่มถ่ายทอดเทคนิคการเลี้ยงปลาในระบบน้ำไหลให้เกษตรกรหลายรายใน อ.เบตง จ.ยะลา แล้ว ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติที่ประหยัดต้นทุน ทำให้จำหน่ายปลาได้ราคาดี ทั้งยังเหมาะกับการเลี้ยงปลาหลายสายพันธุ์ เช่น ปลานิล, ปลาจีน และปลาพลวงชมพู จึงมีความเหมาะสมสำหรับพื้นที่การพัฒนาของปิดทองหลังพระฯ เพราะมีน้ำไหลตลอดปี

“จากการทดลองเลี้ยงปลานิลในระบบน้ำไหลที่ จ.ยะลา พบว่าใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่า คือประมาณ 8 เดือน แต่ได้ปลาขนาดใหญ่ และจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 110 บาท ถือว่าราคาดี โดยมีอัตราการทำกำไรประมาณ 50% รวมถึงยังได้ปลาที่มีคุณภาพไร้กลิ่นโคลน นับเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย”

ADVERTISMENT

ในส่วนของปลาพลวงชมพูนั้น เป็นปลาที่พบตามธรรมชาติที่ในเขตป่าฮาลาบาลา ทั้งยังมีการจับขายในตลาดมาเลเซีย ซึ่งมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3,000 บาท ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงเกิดเป็นพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ให้ขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูเพื่อเป็นอาชีพแก่ประชาชน และป้องกันการสูญพันธุ์

“ปัจจุบันกรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู และกำลังเร่งขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายพันธุ์สู่ประชาชนสำหรับการประกอบอาชีพไปพร้อมกับการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ซึ่งเรายังมีแผนที่จะร่วมกับกรมประมงในการศึกษาวิจัยด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประเทศไทยมีไว้กับองค์การสหประชาชาติ”

ADVERTISMENT

ซึ่งนับว่าน่าสนใจทีเดียว