
ตลอดช่วงบ่ายของงานสัมมนา “SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้าน ถึงกระดานหุ้นโลก” มีสัมมนาพิเศษ “ค้นหาคำตอบ…อนาคตไทย” ที่ไม่เพียงจะมี “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ประธานกรรมการบริหารเทสโก้ โลตัส หากยังมี “สมศักดิ์ บุญคำ”ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Local Alike และ “รังสฤษฏ์ คุณชัยมัง”ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง จ.ลำปาง มาแลกเปลี่ยนแนวคิด และประสบการณ์ เพื่อสะท้อนภาพการดำเนินงานขององค์กร และหาคำตอบถึงอนาคตของไทยในมิติต่าง ๆ
สร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่
“สมพงษ์” กล่าวในเบื้องต้นว่าจุดเริ่มต้นในการทำงานเพื่อความยั่งยืนของเทสโก้ โลตัส มาจาก 2 ส่วน คือ ความตระหนักว่าองค์กรเป็นส่วนสำคัญในสังคมไทย ด้วยพนักงานที่มีอยู่กว่า 6 หมื่นคนทั่วประเทศ มีซัพพลายเออร์กว่า 3 พันราย และมีลูกค้าวันละกว่าล้านคน นอกจากนั้นคือความเชื่อว่า การใส่ใจช่วยเหลือสังคมเพียงเล็กน้อยสามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้ (every little help makes a big different) ความคิดนี้ก่อให้เกิดเป็นแนวทางความยั่งยืนที่เรียกว่า Little Help Plan อันสอดคล้องกับ SDGs เกือบทุกเป้าหมาย
Little Help Plan ครอบคลุมงาน 3 กลุ่ม ได้แก่ people การดูแลใส่ใจพนักงานให้มีความสุข, products การจัดซื้อสินค้าอย่างมีจริยธรรม สินค้ามีประโยชน์ต่อผู้บริโภค และการจัดการขยะอาหาร โดยเรามีดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) ว่าจะลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และกลุ่มที่ 3 คือ places การช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นเจริญเติบโต มีส่วนร่วมในเชิงบวก ทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ โดยทั้ง 3 กลุ่มยังเป็นแนวทางที่เทสโก้ระดับโลกยึดถือปฏิบัติด้วย
“ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใดก็ตาม หากต้องการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนแก่ธุรกิจ และสังคม ต้องมีเป้าหมายระยะยาว ไม่ใช่ทำโครงการระยะสั้นที่ทำเป็นครั้งคราว เพราะโครงการระยะสั้นอาศัยเงินทุนเป็นหลัก พอเงินหมดโครงการก็ไปต่อไม่ได้ แต่โครงการระยะยาวจะสร้างชุมชนให้มีความคุ้นเคย และสามารถสานต่อกิจกรรมต่อไปด้วยตนเองได้”
“กิจกรรมเพื่อสังคมถ้าเราทำอย่างมีแผนระยะยาว จะเป็นเรื่องของการสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่งาน พี.อาร์. โดยเทสโก้ โลตัส ใช้ความยั่งยืนเป็นความเชื่อขององค์กร และอยู่ในวิถีดำเนินธุรกิจ ที่ไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้ความเพียร และความต้องอดทนเพื่อทำให้สำเร็จ”
หากคนมองว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคม คือ การ พี.อาร์. “สมพงษ์” บอกว่า ไม่มีองค์กรเอกชนเจ้าไหนทำกิจกรรมใด ๆ โดยไม่หวังประโยชน์ แต่อยากให้มองที่ฝั่งของชุมชนมากกว่าว่า ชุมชนได้ประโยชน์อะไร แล้วได้ระยะยาวหรือไม่ สำหรับเทสโก้ โลตัสนั้นต้องการทำไปสู่จุดที่สร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ และชุมชน ซึ่งเป็นการ win-win ทั้งสองฝ่าย
“นอกจากนี้ พนักงานก็เป็นปัจจัยสำคัญ เราจึงปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนให้อยู่ในกระบวนการทำงาน และ DNA ของพวกเขา แต่ไม่ได้เป็นในรูปแบบบังคับ ซึ่งแต่ละปีเรามีโครงการ Community Day ให้พนักงานคิดทำโครงการเพื่อสังคม ตามความสนใจอีกด้วย”
“สมพงษ์” อธิบายต่อว่า เทสโก้ โลตัส ใช้แนวทางเพื่อความยั่งยืนเป็นกลไกทางธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การจัดหาสินค้า เช่น สินค้าเกษตรกรรม โดยเข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรกร ตั้งแต่การวางแผนการผลิตว่าควรผลิตอะไรที่ตรงกับจุดแข็งของชุมชน และผลิตเท่าไรถึงจะไม่เหลือทิ้ง จากนั้นจึงให้แต่ละท้องที่จัดตั้งผู้นำชุมชนเพื่อมาประสานงานกับเทสโก้ โลตัส ซึ่งการทำงานรูปแบบนี้ช่วยให้เกษตรกรเปิดใจ และเชื่อใจในการร่วมโครงการกับเราง่ายขึ้น
“เรามองว่าปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน คือ เกษตรกรต้องรู้ต้นทุนของตัวเอง ต้องเปิดใจรับฟัง เพื่อลองทำสิ่งใหม่ และมีความตั้งใจ เพราะความยั่งยืนเกิดขึ้นจากความตั้งใจ ทำให้มีผลสม่ำเสมอ ทั้งคุณภาพ และจำนวนผลผลิต และหากเกษตรกรรักษาความตั้งใจได้สม่ำเสมอ เราจะยังซื้อผลผลิตต่อไปเป็นสิบ ๆ ปี”
ในส่วนของลูกค้า เทสโก้ โลตัส ได้ทำโครงการลดการใช้ถุงพลาสติก นำร่องที่โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขานวมินทร์ โดยสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าไม่รับถุงพลาสติกในทุก ๆ ครั้งที่มาช็อปปิ้ง ด้วยการมอบคะแนนกรีนพอยต์เพื่อรับสิทธิประโยชน์หลากหลายรูปแบบ เป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน
“การลดใช้ถุงพลาสติกของเรายังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เราจึงมีแผนจะขยายโครงการไปยังสาขาอื่น แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำในครั้งเดียว เพราะการสร้างความเข้าใจให้ลูกค้า ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”
หนุนท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน
ขณะที่ “สมศักดิ์” ให้ข้อมูลว่า Local Alike มุ่งพัฒนา และต่อยอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือ ซึ่งดำเนินการมา 7 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ บริษัทถูกนิยามจากหลายฝ่ายว่าเป็นเอสเอ็มอี, ธุรกิจเพื่อสังคม หรือสตาร์ตอัพ แต่ส่วนตัวมองว่า Local Alike ทำธุรกิจที่เป็น fair trade และให้ความใส่ใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ
“การทำงานของเราคือการพัฒนาชุมชนเข้าสู่การท่องเที่ยว มุ่งเน้นว่าจะป้องกัน และส่งเสริมอย่างไรให้ชุมชนอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดย Local Alike จะเป็น facilitator ที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และคุณค่าให้กับการท่องเที่ยวของชุมชนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราทำงานกับ 100 กว่าหมู่บ้าน ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการจัดการที่ดี และคนที่มีศุกยภาพถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง”
สำหรับธุรกิจของ Local Alike มี 3 BU และ 1 core function ได้แก่ หนึ่ง Community Development Solution สร้างองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งให้ชุมชนพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีเอกลักษณ์ชุมชน และพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยวยุคใหม่
สอง Co-created Journey สร้างสรรค์เส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ตรงความต้องการของลูกค้า และออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามความต้องการของนักท่องเที่ยว
สาม Local Alike Community Fund จัดตั้งกองทุนชุมชน พร้อมเชื่อมต่อกองทุนกับแหล่งเงินจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนในหลายด้าน เช่น การศึกษา, การจัดการ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สี่ CBT Marketplace เชื่อมต่อชุมชนกับนักท่องเที่ยวผ่าน www.localailke.com ด้วยการนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่หลากหลาย และให้ความรู้ และเผยแพร่แนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ในส่วนของการออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยว “สมศักดิ์” ยกตัวอย่างกรณีชุมชนที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวอยู่บ้างแล้ว โดย Local Alike จะนำแนวทางของ business model เข้าไปให้ความรู้กับชุมชนก่อน ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการหากลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวของชุมชนนั้น ๆ ให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา คนทำงาน หรือบริษัท
หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การร่วมออกแบบการท่องเที่ยว โดยมีพื้นฐานสำคัญ คือ ชุมชนอยากให้เป็นแบบไหน แล้วนำทุนที่ชุมชนมีอยู่มาผสมผสานเข้ากับสิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากได้ ซึ่งแผนการท่องเที่ยวแต่ละแผนไม่สามารถใช้ได้กับทุกชุมชน เพราะแต่ละพื้นที่มีทุน และความต้องการที่แตกต่างกัน
“การทำงานของเรามีทั้งที่เข้าไปติดต่อเพื่อทำงานเอง หมู่บ้านติดต่อมา หรือบริษัทติดต่อมาทำงานร่วมกัน เพื่อเข้าไปร่วมกันพัฒนาชุมชน ทัวร์ของเรามีทั้ง CSR trip, outing และอื่น ๆ โดยการเข้าถึงชุมชนแต่ละครั้ง เราใช้ใจทำและใช้ใจเป็นตัวนำ เพราะชุมชนรู้ว่าใครเข้าไปทำอะไร ดังนั้น เราเอาใจเข้าสู้ในการทลายกำแพง เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับชุมชนก่อนที่จะทำงานร่วมกัน”
“สมศักดิ์” กล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายของ Local Alike ว่า ปัจจุบันเราทำงานกับระดับหมู่บ้าน แต่อยากขยายพื้นที่การทำงานไปสู่ระดับตำบล และจังหวัด เพราะมองว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม และอื่น ๆ ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายของ Local Alike ต่อไปในอนาคต
ผาปังยกระดับชีวิตด้วยไม้ไผ่
สำหรับกลุ่มของชุมชนเข้มแข็งอย่างบ้านผาปัง “รังสฤษฏ์” กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ชุมชนมีปัญหาน้ำแล้ง ทำให้มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกน้อยมาก คนในพื้นที่บางส่วนเริ่มทยอยออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในพื้นที่อื่น หรือย้ายไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างในประเทศเมียนมา จึงต้องเริ่มคิดแก้ปัญหาของชุมชนอย่างจริงจัง
“ตอนนั้นมองว่าต้องสร้างนวัตกรรมในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ โดยรวมคนในหมู่บ้านที่เรียนจบมาทั้งด้านวิศวะ การบริหาร การตลาด มาระดมสมอง ช่วยกันคิดร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งในช่วงเริ่มต้นชุมชนทำได้แค่ในระดับกิจกรรม แต่กิจกรรมเมื่อทำแล้วก็จบ ไม่มีความต่อเนื่อง และปัญหาของชุมชนยังคงอยู่ จึงพัฒนามาเป็นกิจการที่สร้างคุณค่าร่วมให้สังคม หรือ CSV (creating shared value) เพื่อให้ชุมชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งพึ่งพาตัวเองได้ หลังจากนั้นจึงพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากรูปแบบวิสาหกิจ สู่รูปแบบโฮลดิ้ง และมูลนิธิในปัจจุบัน
แต่กว่าจะสำเร็จเหมือนดังเช่นในปัจจุบันนี้ “รังสฤษฏ์” เล่าว่า ต้องเริ่มจากการถามตัวเองว่า ปัญหาของชุมชนคืออะไร เมื่อหาเจอแล้วต้องให้ความสำคัญการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ จะต้องหาจุดเด่นหรือพระเอกของชุมชนให้ได้ก่อนว่าคืออะไร สำหรับชุมชนบ้านผาปัง คือ “ไม้ไผ่” ที่เป็นทุกอย่างของชุมชน ทั้งอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และเป็นพลังงาน โดยมีการพัฒนาเป็นโปรดักต์มากมาย จนมีความแตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ
ล่าสุดได้พัฒนาถ่านชีวภาพเพื่อเป็นพลังงานใช้ในชุมชน และส่งจำหน่ายให้ลูกค้า ถือเป็นการยกระดับการเชื่อมโยงคนเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เท่ากับว่าในขณะนี้ ชุมชนบ้านผาปังมีการพัฒนาที่ชัดเจนในเชิงธุรกิจ รวม 3 ประเภท คือ ธุรกิจท่องเที่ยวที่เตรียมพัฒนาอุโมงค์ไม้ไผ่เป็นแลนด์มาร์กของชุมชน, ธุรกิจพลังงานที่ผลิตถ่านชีวภาพ และธุรกิจไฟเบอร์
“ต้องถามตัวเองก่อนว่า ในพื้นที่ของเรามีอะไรดี เมื่อตอบคำถามได้จะนำไปสู่การแก้ไข และพัฒนาให้คนในชุมชนสามารถมีรายได้ และพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว พร้อม ๆ กับการสร้างคนให้มีความรู้ แต่การพัฒนาของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกันออกไปตามปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วส่วนที่มีปัญหามากที่สุด คือ คน ดังนั้นต้องด่าตัวเองให้มาก เพราะการพัฒนาชุมชนมีทั้งที่สำเร็จ และล้มเหลว แต่ก็ต้องทำต่อไป เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ และน่าทำ”
“รังสฤษฏ์” ยังกล่าวอีกว่า การพัฒนาบางอย่างที่ชุมชนทำเองไม่ได้ ต้องหาพันธมิตรเข้ามาช่วย อย่างเช่น ในธุรกิจท่องเที่ยว ที่ชุมชนบ้านผาปังให้ Local Alike มาช่วยออกแบบให้ชุมชนบ้านผาปังเป็นได้ทั้งสถานที่ศึกษาดูงาน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจองคิวยาวไปจนถึงปี 2562 แล้ว
“การเป็นแค่ชุมชนขนาดเล็กแค่ 1,000 คน หรือประมาณ 462 ครัวเรือน ไม่มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาดูแล เป็นแรงบันดาลใจให้ผม และคนในชุมชนคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่างให้ชุมชนดีขึ้น จุดเริ่มต้นของการพัฒนาก็เหมือนกับการติดกระดุมครั้งแรกต้องไม่พลาด เพราะมันจะเป็นแผนดำเนินการที่จะต้องตอบโจทย์อนาคตในอีก 20-30 ปีข้างหน้า”
นอกจากนี้ “รังสฤษฏ์” ยังมองอนาคตของการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์คำว่า “ยั่งยืน” ว่า ในอนาคตอาจจะเกิดการจับคู่ธุรกิจของแต่ละชุมชนในแต่ละด้านที่มีศักยภาพ รวมไปถึงการจับคู่ร่วมลงทุนกับภาคเอกชนที่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากชุมชน อย่างเช่น กรณีที่ภาครัฐมีนโยบายลดการใช้พลาสติก ชุมชนบ้านผาปังก็สามารถร่วมมือกับเทสโก้ โลตัส ผลิตถุงแบมบูไฟเบอร์ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้านมูลค่า และสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
ทั้งนี้ หากธุรกิจของชุมชนขยายตัวมากขึ้น ยังมองไปถึงการลงทุนในรูปแบบของ startup โดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุน และหากทำได้จริง ขั้นตอนต่อไปยังมองถึงความเป็นไปได้ที่จะนำธุรกิจของชุมชนบ้านผาปัง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อไปอีกด้วย