คอลัมน์ CSR Talk
โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ได้ไปร่วมฟังวงเสวนาเกี่ยวกับแนวโน้ม และผลกระทบของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ Bio Thai ร่วมกับ Grain จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา มีประเด็นที่ทำให้คิดถึงงานในชุมชนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของความยั่งยืน
ผู้นำเสนอข้อมูลในวงนั้นมาจากหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก, แคนาดา, ยูกันดา, อินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศไทย แต่ผู้ร่วมวงเสวนาทั้งห้องยังมีอีกหลายประเทศ ความกังวลที่เหมือนกันคือการเติบโตของซูเปอร์มาร์เก็ตมีผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ด้วยความต้องการเชิงปริมาณ มีต้นทุนต่ำ จึงหนีไม่พ้นวงจรการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่ต่างจากการเพาะปลูกเพื่ออุตสาหกรรม
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 15 “การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน…ปกป้อง บูรณะและส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศวิทยาบนดิน และจัดการทรัพยากรจากป่าอย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า และหยุดยั้งความเสื่อมโทรมของดิน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ” จะเป็นไปได้ต่อเมื่อมีการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ฟื้นฟูเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น ลดการผูกขาดการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ห่วงโซ่อุปทานของซูเปอร์มาร์เก็ตต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีกลไกสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและความหลากหลายของพืชพันธุ์ธัญญาหาร
แนวทางการทำเกษตรกรรมตามรอยพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพที่ชัดเจนที่สุด และเป็นแนวทางเดียวที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่รอด
เพราะวิถีชีวิตของเกษตรกรยุคปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ จากการที่ต้องพึ่งพาเครื่องอุปโภคและบริโภคจากภายนอกเกือบทุกชนิด การขยายตัวของซูเปอร์มาร์เก็ตไปในจังหวัดต่าง ๆ เป็นสิ่งที่อธิบายสถานการณ์นี้ได้ดี เมื่อไปสำรวจดูตลาดสดในท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของผัก ผลไม้ท้องถิ่นนั้นน้อยมาก ตามบ้านแต่ละหลัง หรือเรือกสวน ไร่นา ก็หายากขึ้น เด็กรุ่นหลังแทบไม่เคยรู้จักผัก ผลไม้พื้นถิ่นตนเอง
เมื่อ “อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ “อาจารย์ยักษ์” เผยแพร่โครงการโคก หนอง นาโมเดล ผ่านมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ และเรียกว่า เกษตรทฤษฎีใหม่นั้น สร้างความตื่นเต้นให้กับเกษตรกรหลายคน แสดงให้เห็นว่าแนวทางเกษตรดั้งเดิมรุ่นปู่ย่าตายาย ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพนั้นได้ตายจากชีวิตเกษตรกรไทยไปนานแล้ว นับแต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม จนมาถึงวันนี้ที่วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมมาถึงจุดที่ไม่มีทางไป
การคืนความหลากหลายให้กับผืนดิน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นคือการลดค่าครองชีพประจำวันของครอบครัว และที่สำคัญที่สุด คือ ความปลอดภัยในอาหาร ที่จะช่วยลดปัญหาสุขภาพไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะนอกจากเกษตรกรจะต้องเผชิญกับการใช้สารเคมีในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้ว ผัก ผลไม้ที่ซื้อมาจากตลาดสด และซูเปอร์มาร์เก็ตมีผลสำรวจระบุว่า เปอร์เซ็นต์ของสารตกค้างอยู่ในปริมาณสูง
นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กิจกรรม CSR ในการพัฒนาชุมชนสามารถทำควบคู่ไปได้ นั่นคือการสนับสนุนให้ชุมชนหันมาปลูกพืชพันธุ์พื้นถิ่น และสร้างธนาคารเมล็ดพันธุ์ของชุมชน เพื่อรักษาและเผยแพร่เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นอย่างเป็นกระบวนการ รวมทั้งพันธุ์ข้าวต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ข้าวสังข์หยดของพัทลุง, ข้าวแม่แป๊ดของสวรรคโลก และพญาลืมแกงของนครพนม เป็นต้น
เมื่อลองเข้าไปค้นข้อมูลพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่ามีสถาบันวิชาการทั้งภาครัฐ และภาคการศึกษาทำงานวิจัย และเก็บรวบรวมไว้มากทีเดียว แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่เช่นเดียวกับงานวิจัยอื่น ๆ นั่นคือการนำมาสู่ท้องตลาด หรือนำมาปลูกเพื่อบริโภคอย่างจริงจัง เพื่อลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวกระแสหลักในตลาด ลดต้นทุนการใส่สารเคมี ปุ๋ยเคมีในการดูแล และฟื้นฟูสภาพดิน เช่น ที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย มีการส่งเสริมการปลูกพันธุ์ข้าวแม่แป๊ดมาหลายปี โดยทีมงานเกษตรอำเภอและผู้นำเกษตรกร
มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ไร่เชิญตะวัน ของ “พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี” เผยแพร่คลิปวิดีโอ “อ้ายลือ นักเรียนชาวนา” นำเสนอวิธีคิดใหม่ของอ้ายลือ ซึ่งมีร่างกายพิการท่อนล่าง ที่นำเอาความรู้ตามหลักวิชาการที่ถูกต้องมาปลูกพืชผักที่หลากหลาย ผักที่ปลูกคือผักพื้นบ้าน ที่ดูแลง่าย ได้ผลเร็ว จนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งให้พ่อค้าตามคำสั่งซื้อ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
ออกมาเดินตลาด ลองหาผักพื้นบ้านไปทำอาหาร แทนการฝากชีวิตไว้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และความยั่งยืนของพื้นดินกันเถอะ