เปลี่ยนศัตรูเป็นคู่คิด ด้วยการทำงานร่วมกันแบบยืดหยุ่น

การทำงานร่วมกันจะกลายเป็นเรื่องยาก หากผู้ร่วมงานเป็นคนที่ไม่ชอบกัน หรือแม้แต่ไม่เชื่อใจกัน ดังนั้น เราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไรบนความขัดแย้ง ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ และเกิดขึ้นในหลายองค์กร

อันสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้บริหารจากภาครัฐ ผู้บริหารในแวดวงวิชาการ และผู้บริหารภาคเอกชน เช่น “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์” อดีตนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, “กานต์ ตระกูลฮุน” กรรมการ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และ “อดัม คาเฮน” นักวิชาการด้านปรองดองสมานฉันท์ระดับโลก ทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “Collaborating with the Enemy” มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในงานบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “Collaborating with the Enemy” หรือ “เปลี่ยนศัตรูเป็นคู่คิด” ที่จัดโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Scenario Thailand Foundation

“ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา” กล่าวถึงการทำงานในฐานะผู้บริหารสถาบันการศึกษาว่าเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับบทบาทหน้าที่ จากเดิมที่เคยเป็นอาจารย์แล้วก้าวมาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทำให้รู้สึกมีความกดดันจากการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง

“สิ่งที่ทำให้ดิฉันสามารถเอาชนะใจคนในองค์กรได้ คือการมองคนอื่นเป็นเพื่อนไม่ใช่ศัตรู และการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ต้องเอาตนเองไปอยู่กับงาน และอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับผู้ร่วมงานคนอื่น ที่สำคัญต้องมีความสุขกับการทำงาน จึงจะทำให้เรามีพลังทำงานท่ามกลางปัญหา และความขัดแย้งต่าง ๆ ได้ดี”

“การทำงานกับองค์กรที่มีความเก่าแก่ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มากมาย เรายิ่งต้องพิสูจน์ตนเองให้มากกว่า ต้องลงไปศึกษาจริงจังว่าที่นี่เขาทำงานกันอย่างไร เพื่อจะได้รู้จักคน รู้ว่าพวกเขาคิดอะไร และต้องใจเย็น เมื่อมีคนที่เห็นต่าง เราต้องเอามาคิด เพราะบางครั้งความคิดของเราอาจไม่ถูก 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องมีสติและเป็นธรรม ให้เกียรติคนอื่น ตรงนี้แสดงให้ทุกคนเห็นว่าเรามาเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม”

“แต่กระนั้น หากจะเน้นการประนีประนอมเพื่อให้ได้การยอมรับ อาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะความสำเร็จอาจไม่ได้มาจากการมีความเห็นไปในทางเดียวกันเสมอ ดังนั้น บางครั้งผู้บริหารต้องเข้มข้น ต้องดูเป้าหมายเป็นหลัก และต้องทำตัวเป็นผู้นำพูดคุยจนผู้ร่วมงานต่างมองไปในทางเดียวกัน”

Advertisment

ขณะที่ “กอบศักดิ์” เล่าให้ฟังถึงตอนที่ตนเองเป็นนักเรียนทุนไปศึกษาต่างประเทศมานานกว่า 10 ปี พอกลับมาเมืองไทยจึงมีปัญหาการปรับตัวกับการทำงานในองค์กรของไทย เพราะตนเองมักจะมีความคิดที่แตกต่าง และบวกกับเป็นคนมั่นใจสูงจึงสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว

“กระทั่งผมได้ดูการถ่ายทอดสดงานศพริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยในงานมีการกล่าว
สุนทรพจน์เกี่ยวกับแนวทางการทำงานที่เขาฝากทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง โดยกล่าวว่าเราควรให้ความช่วยเหลือผู้อื่นก่อน เมื่อทำได้แล้ว คนรอบข้างที่เราเคยให้ความช่วยเหลือ จึงอยากร่วมมือกับเรา จากจุดนั้นผมจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความคิด จนตระหนักถึงการทำตัวให้เป็นที่รัก และได้รับการสนับสนุน รวมถึงต้องมีความอดทนในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ลุล่วง คำว่าความสำเร็จคือการทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะการทำงานของ 1 คนร่วมกับอีก 1 คนมักให้ผลลัพธ์มากกว่า 2 เสมอ”

Advertisment

“ตอนนี้ผมกลายเป็นมิสเตอร์สันติภาพ เป็นคนหนึ่งในองค์กรที่คนมักพูดถึงว่าทำงานได้กับทุกคน ทำงานด้วยง่าย ไม่ค่อยมีศัตรู ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้มาง่าย ๆ และเป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการทำงาน เพราะปัจจัยที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดมิตรภาพคือคนที่มีกิริยาอ่อนหวาน นุ่มนวล สุภาพ ดำเนินการใด ๆ ด้วยความไม่เย่อหยิ่ง ไม่เอาตัวเองเป็นหลัก พยายามไม่เอาหน้า ทำเพื่อคนอื่นก่อน ดังนั้น เมื่อมองย้อนกลับมาก็จะทำให้เราเป็นคนที่ทำงานกับใครก็ได้ ไม่มีศัตรู มีคนอยากช่วย และอยากทำสิ่งที่ยากให้เป็นไปได้”

สำหรับ “กานต์” บอกว่า การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในวงกว้างต้องมีการร่วมมือกับบริษัทอื่น อย่างที่ SCG ร่วมทางการค้า (joint venture) กับบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ดาวเคมิคอล ประเทศไทย จำกัด ที่ร่วมมือกันนานกว่า 30 ปี เพราะเมื่อเราเห็นโอกาสใหม่ ๆ เราควรพิจารณาถึงผลลัพธ์ ไม่ใช่มาคิดว่าใครเป็นคู่แข่ง

“นอกจากความร่วมมือทางด้านธุรกิจ เรามีการสร้างคอมมิวนิตี้ที่มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อยกระดับมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน เราต้องการทำให้อุตสาหกรรม และชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน รวมไปถึงเรื่องของการศึกษา ซึ่งตอนแรกของการรวมกลุ่มมีเพียงแค่ 5 บริษัท แต่ปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมเพิ่มอีก 11 แห่ง และตั้งเป็นสมาคมเพื่อนชุมชนที่เกิดจากการรวมกันของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในมาบตาพุด ถึงแม้ว่าในทางธุรกิจแล้วจะเป็นคู่แข่งกัน แต่เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเราต้องให้ความร่วมมือ แชร์ประสบการณ์กันได้”

“อีกตัวอย่างของความร่วมมือที่ SCG ทำมาตลอดคือการค้นคว้าวิจัยที่เราร่วมกับสถาบันชั้นนำของภาครัฐ และเอกชนทั้งของไทย และระดับโลก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ”

ส่วน “อดัม คาเฮน” แม้เขาจะเป็นนักเขียน แต่ยังเป็นหุ้นส่วนของบริษัท Reos Partners ที่เชี่ยวชาญด้านกระบวนการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยมีบทบาทเป็นผู้ออกแบบ และประสานงานร่วมกับผู้นำในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อแสวงหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่เผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในแอฟริกาใต้ที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมประชาธิปไตย ภายหลังการสิ้นสุดของยุคแบ่งแยกสีผิว หรือการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่โคลอมเบีย เป็นต้น

โดยเขาถอดบทเรียนจากการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากทั่วโลกให้ฟังว่า ความขัดแย้งมีในทุกสายงาน ทุกสังคม เป็นปัจจัยทำให้เกิดความตึงเครียด ความแตกแยก การกล่าวโทษกัน และการชี้เป้าว่าใครถูกใครผิด

“สิ่งที่ผมเรียนรู้มา 25 ปี คือการประสานความร่วมมือไม่ตรงไปตรงมาอย่างที่คิด เป็นเรื่องสลับซับซ้อน ดังนั้น เราต้องพึ่งพากัน โดยเฉพาะกับคนที่มีความแตกต่างจากเรา และลดการตั้งกำแพงอคติระหว่างกันให้น้อยลง ถึงแม้ว่าหลายภาคส่วนจะเลือกใช้วิธีการบังคับในการแก้ไขความขัดแย้ง เพราะเป็นวิธีง่ายที่สุด แต่ข้อจำกัดคือ การบังคับจะทำให้เกิดแรงต่อต้าน และการแก้แค้นกันไม่สิ้นสุด”

“ผมเคยพูดในหนังสือหลายเล่มว่าเราต้องรู้จักการทำงานร่วมกันแบบยืดหยุ่น (stretch collaboration) ที่จะช่วยให้ผู้คนที่ไม่ลงรอย ไม่ชอบหน้ากัน หรือคนที่ไม่ไว้ใจกันยอมรับความจริง และโฟกัสที่ประโยชน์ส่วนรวม และหันมาหาข้อตกลงร่วมกัน โดยเริ่มต้น เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบดั้งเดิม ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราทำอยู่ประจำ โดยออกจาก comfort zone พยายามหาว่าเราเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เพราะเป็นเรื่องยากกว่าที่จะทำให้คนทำตามที่เราต้องการ และการคิดว่าคนอื่นต้องทำอะไร นั้นไม่มีประโยชน์ เราต้องถามว่าเราต้องทำอะไร เราต้องผ่อนคลายจากท่าทีที่ยึดติด และมองศัตรูเป็นครู”

เพราะกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง แต่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น และการทำงานภายใต้ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งประสบการณ์ที่เหล่ากูรูข้างต้นได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นับเป็นเทคนิคที่เอื้อให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นสรรค์สร้างไปข้างหน้าได้ ทั้งยังช่วยให้เราก้าวข้ามสถานการณ์ยุ่งยากไปพร้อม ๆ กับผู้คนที่ไม่ลงรอยกันอย่างง่ายดาย