คอลัมน์ CSR Talk
โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา
สวัสดีค่ะ เมื่อเร็ว ๆ นี้ดิฉันมีโอกาสเข้าร่วมอบรมในโครงการ Happy Ambassador ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ธนาคารจิตอาสา, กลุ่มจิตอาสาพลังแผ่นดิน และสถาบัน Jimi The Coach ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับการถ่ายทอดทักษะและความรู้สำหรับการเป็น life coach เพื่อนำกระบวนการเรียนรู้ไปถ่ายทอด หรือสามารถให้คำปรึกษา รวมทั้งเป็นโค้ชให้แก่ผู้คนในองค์กร ชุมชนของตนเอง หรือชุมชนที่ตนเองเลือก
ทั้งนั้นเพื่อสร้างและส่งต่อความสุขให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น ๆ ต่อไป ซึ่ง สสส.เป็นผู้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย โดยโครงการนี้เปิดรับทั้งหมด 3 รุ่น รุ่นละประมาณ 15 คนค่ะ
สำหรับหลักสูตรการเรียนรู้นั้นแบ่งออกเป็น
– การสอนเรื่องความคิด (mindset) เป็นเวลา 2 วัน
– การสอนเรื่องทักษะการโค้ชเป็นเวลา 2 วัน
– การฝึกเพื่อเป็นเทรนเนอร์เป็นเวลา 1 วัน
– เรียนออนไลน์ผ่านระบบ webinar จำนวน 8 ครั้ง
– ฝึกฝนปฏิบัติ 1 วัน ด้วยการเป็นทีมโค้ชผู้ช่วย
เมื่อจบหลักสูตรแล้ว พวกเราทุกคนมีภารกิจที่จะต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการไปส่งต่อความรู้เพื่อสร้าง หรือส่งต่อความสุขให้คนอีก 100 คน หรืออีกนัยหนึ่งสามารถเรียกว่าเป็นการ pay it forward นั่นเองค่ะ
ตัวดิฉันเองยังอยู่ในช่วงระหว่างการฝึกอบรมค่ะ แต่สิ่งที่ได้รับหลังจากการเข้ามาอบรมไปสักพักคือเรามองเห็นว่าทักษะของโค้ชนั้นสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานได้เป็นอย่างดี
สำหรับดิฉันแล้ว ทักษะสำคัญที่สุดของการเป็นโค้ชคือ “การฟัง” อันหมายถึง “การฟังอย่างตั้งใจ” และให้ความสำคัญกับคนตรงหน้า ไม่ใช่เพียงฟังเพื่อรอให้คนตรงหน้าพูดจบ แล้วเราจะได้พูดต่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด แต่ฟังโดยปราศจากอคติ ฟังให้ได้ยินถึงสิ่งที่คนตรงหน้าเป็น ความเชื่อของเขา ฟังให้ได้ยิน แม้สิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมา
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือการมีความคิด (mindset) เพราะหลักที่ดีในแบบของโค้ชมี 4 ประการคือ
1.ทุกคนมีศักยภาพมากกว่าที่เขาแสดงออกมา
2.ทุกคนทำดีที่สุดแล้วท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น
3.คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
4.ไม่มีความล้มเหลว มีแต่เพียงผลสะท้อนกลับ
การมีความคิดตามข้างต้นนี้จะทำให้เราไม่ตัดสินผู้อื่น และไม่กลัวความล้มเหลว ในการทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม เพราะทักษะ และแนวคิดเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่ทำงานด้านความยั่งยืน เนื่องจากลักษณะของงานไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำด้วยตนเอง แต่เป็นการสร้างความเข้าใจให้คนในองค์กรทราบว่าความยั่งยืนคืออะไร แนะนำ บอกเล่าถึงความเป็นไป แนวโน้ม รวมไปถึงการปฏิบัติที่ดี (best practice) ในเรื่องต่าง ๆ ที่ส่งเสริม
สนับสนุนความยั่งยืนขององค์กร
ลักษณะงานอีกประการหนึ่งคือการสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลการทำงานจากส่วนต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อนำมาถ่ายทอดให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบถึงแนวคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนขององค์กร เปรียบเหมือนที่ปรึกษาภายในองค์กรที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
เมื่อพูดถึงความยั่งยืน หลาย ๆ คนยังมีความเข้าใจที่เชื่อมโยงอยู่กับความรับผิดชอบ หรือการทำเพื่อสังคมเพียงประการเดียว ซึ่งเมื่อมีโอกาสดิฉันมักจะถามคู่สนทนาก่อนเสมอว่าเขามีความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนอย่างไร ? จากนั้นจึงแบ่งปันความคิด ความเข้าใจของเรากับเขา สำหรับดิฉัน ความยั่งยืนไม่ได้มีความหมายตายตัว แต่อยู่ที่แต่ละบุคคลจะเข้าใจและให้นิยามอย่างไร
หลายครั้งที่ดิฉันพบว่าเมื่อเราไปคุยงานกับหน่วยงานหนึ่ง ๆ ด้วยความคาดหวังว่าจะได้ข้อมูลแบบหนึ่ง มักจะลงท้ายด้วยการได้ข้อมูลอีกแบบหนึ่งมาแทน และอีกหลาย ๆ ครั้ง เราได้ข้อมูลมากกว่าที่คิดไว้เสียอีก หลังจากได้ใช้เวลาฟังและตั้งคำถามกับพี่ ๆ ในแต่ละหน่วยงานไปเรื่อย ๆ
ซึ่งเมื่อแต่ละท่านเริ่มเข้าใจมากขึ้น เขายิ่งมีความยินดีที่จะให้ข้อมูล ยิ่งเล่าเรื่องราวมากมายออกมาให้ทราบ จดตามไม่ทันกันเลยทีเดียว และเมื่อเราวางแผนการทำงานร่วมกัน เราจะช่วยเขาคิดว่าจากงาน ณ ปัจจุบันที่เขากำลังทำอยู่ สามารถทำอะไรเพิ่มเติมลงไปได้บ้างที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และเขาสะดวกใจที่จะทำมากน้อยแค่ไหนทั้งนั้นเพื่อค่อย ๆ วางแผนงานร่วมกันไปเรื่อย ๆ
ดิฉันมองว่าความท้าทายในการทำงานนี้จึงอยู่ที่เราจะฟัง ตั้งคำถาม และหาจุดตรงกลางเพื่อ win-win ของทุกฝ่ายได้อย่างไร
และด้วยลักษณะงานที่เป็นแบบนี้ ความสามารถในการฟัง ตั้งคำถาม และมีความคิด (mindset) ที่ดีจึงจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้หน่วยงานภายในต่าง ๆ ที่เราไปคุยด้วยนั้นไม่เกร็ง ไม่เครียด ไม่รู้สึกว่าเรากำลังเอางานไปเพิ่มให้กับพวกเขา ทั้งยังสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันให้เกิดขึ้น และรู้ว่า
การทำงานโดยใส่แนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปด้วยนั้น จะปรับปรุง และส่งเสริมให้งานของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร ยินดี และเต็มใจที่จะลงมือทำตามคำแนะนำ พร้อมกับให้ข้อมูลเพื่อการสื่อสารสู่ภายนอกต่อไป ทั้งนั้นเพื่อสร้างพลังงานทางบวกสำหรับบรรยากาศในการทำงานจนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ดีต่อองค์กรในที่สุด
ฉะนั้น หากใครสนใจนำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วได้ผลอย่างไร มาแบ่งปันกันได้นะคะ
และสุดท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ธนาคารจิตอาสา, กลุ่มจิตอาสาพลังแผ่นดิน และสถาบัน Jimi The Coach สำหรับโครงการดี ๆ นี้ พร้อมกับขอขอบคุณทีมโค้ชทุกท่าน (โค้ชพี่กิต, โค้ชพี่หมี, โค้ชพี่อ๋อ, โค้ชน้องตั้ก, โค้ชน้องมิง, โค้ชน้องตอม, โค้ชน้องทิพ และ ฯลฯ หากตกหล่นชื่อใครไป ต้องขออภัยด้วยค่ะ) สำหรับความรู้ ประสบการณ์ คำแนะนำดี ๆ ที่มีให้ตลอดการอบรม
ที่สำคัญ ต้องขอขอบคุณโค้ชพี่อ้อม-ทัศนีย์ จารุสมบัติ และโค้ชพี่นัท-ณัฏฐ์ เพิ่มทรัพย์ ที่ช่วยให้โค้ชปุ้ยเข้าใจและเกิดความตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น จนละทิ้งอะไรบางอย่างที่เป็นปมในใจมาโดยตลอด จนเกิดเป็นความโล่งเบา และความสงบในจิตใจ จนพร้อมเป็นทูตส่งต่อความดีและความสุขให้กับคนอื่น ๆ ในสังคมต่อไปเพื่อทำตามปณิธานของโครงการค่ะ
ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!