คอลัมน์ CSR Talk
โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา
ช่วงนี้หลาย ๆ บริษัทคงวุ่น ๆ อยู่กับการจัดทำรายงานด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ซึ่งดิฉันได้มีโอกาสอ่านรายงาน Reporting Matters ของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ที่จัดทำทุกปีอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 6 ปี
Reporting Matters เป็นการสรุปภาพรวมรายงานด้านความยั่งยืนของประเทศสมาชิกกว่า 150 ประเทศทั่วโลก โดยรายงานของปี 2018 ยังคงให้ความสำคัญกับแนวทางในการประเมินผลข้อเท็จจริงที่ค้นพบต่าง ๆ จากตัวอย่างการรายงานที่ดี ตลอดจนบทสัมภาษณ์ของนักลงทุนสถาบันถึงมุมมองที่มีต่อรายงานด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงความคาดหวังของพวกเขา
“Mr.Sunny Verghese” ประธานของ WBCSD กล่าวไว้ตอนหนึ่งในรายงานฉบับนี้ว่า องค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวจะต้องเข้าใจ และสามารถเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกลยุทธ์หลัก และผลการดำเนินงานขององค์กรได้อย่างชัดเจน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของเหล่านักลงทุนในตลาด เพื่อการจัดสรรเงินลงทุน นอกจากนี้ ลูกค้าและพนักงานขององค์กรยังสามารถได้รับข้อมูลที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับพวกเขาอีกด้วย
ทาง WBCSD แนะนำ tips สำหรับการทำรายงานการพัฒนาสู่ความยั่งยืนไว้ 6 ประการ ดังนี้
1.มีความเข้าใจในบริบทต่าง ๆ ขององค์กรอย่างครบถ้วน ด้วยการศึกษาบริบทแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจ และเห็นถึงโอกาสตลอดจนความเสี่ยงขององค์กร อาจใช้เครื่องมือหรือแพลตฟอร์ม (platform) อื่น ๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถเข้าใจบริบทของอุตสาหกรรมขององค์กรได้ดีขึ้น
2.เรียงลำดับประเด็นที่ต้องการจะสื่อสาร ด้วยการวางแผนให้ชัดเจน และดูภาพรวมในประเด็นที่ต้องการจะบอกเล่ารวมไปถึงวิธีการบริหารประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาลภายในองค์กร สร้างวิธีการเก็บข้อมูลเพื่อการควบคุมจากภายใน และอาจสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการรับรองจากสถาบันภายนอกองค์กร
3.เข้าใจผู้อ่าน เพื่อสามารถนำเสนอรูปแบบ และเนื้อหาในลักษณะที่ผู้อ่านต้องการได้
4.ระบุประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ระบุประเด็นทั้งในด้านบวกและลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความยั่งยืนต่าง ๆ และเชื่อมโยงเนื้อหาการรายงานเข้ากับกลยุทธ์และผลลัพธ์
5.มองไปข้างหน้า ด้วยการพิจารณาถึงเป้าหมายในบริบทต่าง ๆ รวมไปถึงการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อสื่อสารให้เห็นว่าองค์กรได้สร้างคุณค่าต่อประเด็นด้านความยั่งยืนในวงกว้างอย่างไร
6.สร้างความสมดุล ด้วยการนำเสนอผลการดำเนินงานขององค์กรอย่างครอบคลุม ครบถ้วน ทั้งความสำเร็จ และความท้าทาย ทั้งแง่บวก และลบ รวมไปถึงประเด็นผลตอบรับจากภายนอกที่มีต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร
ในรายงานฉบับนี้ “Mr.Curtis Ravenel” global head of sustainable business & finance จาก Bloomberg LP ยังให้ความเห็นในการนำเสนอรายงานการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในมุมมองของนักลงทุนไว้โดยสังเขป ดังนี้
– การนำเสนอเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยง และโอกาสทางธุรกิจ กระบวนการ และกำลังคนที่องค์กรใช้ในการบริหารจัดการ รวมไปถึงการอธิบายให้เห็นถึงความสามารถในการรับมือต่อความเสี่ยง และโอกาสใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างกระชับ และชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนสำหรับพิจารณาถึงการลงทุนในองค์กรนั้น ๆ
– การนำเสนอประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ (materiality) ในมุมกว้างจะช่วยลดข้อสงสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจในประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG
และโอกาสในทางธุรกิจ เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญในประเด็นเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นจากในอดีต ทั้งนี้ มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ, สิ่งแวดล้อม, ประเด็นทางสังคม และบรรษัทภิบาลล้วนมีผลต่อสถานะทางการเงินขององค์กร
– ข้อจำกัดของการรายงานในปัจจุบันเป็นเรื่องการนำเสนอให้เห็นถึงความสอดคล้องระหว่างบริษัท การนำเสนอรายงานที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงาน และเป้าหมายที่สามารถสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้น และการวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อรายงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมุมมองเหล่านี้ถือเป็นการมองไปในอนาคต แสดงให้เห็นว่าองค์กรมีแนวทาง และวางตัวเองในประเด็นที่เป็นความท้าทายด้าน ESG อย่างไร รวมไปถึงจะช่วยเปลี่ยนมุมมองความคาดหวังของนักลงทุนอีกด้วย เพราะหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป ณ เวลาที่องค์กรแสดงให้เห็นว่ารับรู้ในประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะสายเกินไปสำหรับทั้งองค์กร และนักลงทุน รวมไปถึงการลงมือคว้าโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่ได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ WBCSD ยังยกตัวอย่างบริษัทที่นำเสนอเนื้อหารายงานความยั่งยืนได้ดี ในประเด็นต่าง ๆ ไว้อีกด้วย อาทิ
– ด้านความครบถ้วน สมบูรณ์ (completeness) : BASF, Novozymes, Philip Morris International
– ด้านกลยุทธ์ (strategy) : CRH, Olam International Ltd, Royal Philips
– ด้านประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ (materiality) : F.Hoffmann-La Roche, UPS
– ด้านความสมดุล (balance) : Norsk Hydro ASA, Solvay, Votorantim Cimentos.
– ด้านการเล่าเรื่อง (story & message) : HEINEKEN
หมายเหตุ – ผู้สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://docs.wbcsd.org/2018/10/Reporting_Matters_2018.pdf
https://www.wbcsd.org/Programs/Redefining-Value/External-Disclosure/Reporting-matters/Resources/Reporting-matters-2018