ก้าวต่อไปโปรเจ็กต์รักษ์น้ำ “SCG” ปั้นวิสาหกิจเพิ่มมูลค่าข้าว

กว่า 10 ปี ที่หลายหน่วยงานระดมแก้ปัญหา และพลิกฟื้นพื้นที่ป่าต้นน้ำทั่วประเทศ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า “circular economy” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ อย่างเช่น พื้นที่จังหวัดลำปาง ที่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เข้มข้นกับการพลิกฟื้นป่าที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง ตัดความเสี่ยงน้ำแล้ง และน้ำหลากในช่วงฤดูฝน จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ภายใต้โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที สร้างคุณค่าหมุนเวียน เปลี่ยนโลกให้ยั่งยืน”

จนถึงวันนี้สิ่งที่ลงทุนลงแรงไปเริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม สีเขียวของป่ากำลังขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการรักษ์น้ำฯ ที่ต้องการฟื้นคืนสู่สมดุลธรรมชาติ และสะท้อนไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชนในพื้นที่

ในฐานะองคมนตรีและประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนายั่งยืน SCG “นายแพทย์เกษม วัฒนชัย” เน้นย้ำว่า…เป็นการช่วยเหลือชุมชนให้ยืนได้ด้วยขาตัวเอง

ทั้งนี้ เพื่อฉายภาพเส้นทางการช่วยเหลือชุมชนให้ยืนได้ด้วยขาของตัวเอง SCG จึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดในหัวข้อ “รักษ์น้ำ..ต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชน”

โดย “นายแพทย์เกษม” ได้พาย้อนกลับไปช่วง 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการว่า แนวความคิดของฝายชะลอน้ำเริ่มจากการต้องการจัดการกับปัญหาน้ำหลากและน้ำแล้ง ในแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกันไป เครื่องมือสำคัญในช่วงเริ่มต้น คือ การตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกว่า พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต “ปัญหาเริ่มจากคนก็ต้องแก้ไขที่คน”

“ทำลายป่า คนก็อยู่ไม่ได้ เพราะน้ำฝนที่ตกลงมาไม่ทันได้ซึมเข้าไปในดิน แต่ลงไปที่เชิงดอยทั้งหมด แม้แต่เมล็ดพันธุ์พืชตามธรรมชาติก็ไม่ได้แตะถึงความชื้น ป่าทำหน้าที่เสมือนแหล่งเก็บน้ำ ไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ ยกตัวอย่างในอดีต พื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีปัญหาเพราะน้ำมือคน มีการตัดไม้และปลูกต้นยางทดแทน เมื่อน้ำมา ต้นยางก็ถูกน้ำพัดเสียหาย เราต้องโฟกัสให้ได้ก่อนว่าจะปลูกป่าธรรมชาติ หรือปลูกป่าเศรษฐกิจ”

ADVERTISMENT

“นายแพทย์เกษม” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เป้าหมายของการดำเนินการพลิกฟื้นป่าด้วยฝายชะลอน้ำ คือ 100,000 ฝาย ปัจจุบันดำเนินการไปกว่า 85,000 ฝายทั่วประเทศ และเปิดให้ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ต้องร่วมกันดูแล

เครือข่ายชุมชนในแต่ละพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จกับการปรับสมดุลทางธรรมชาติ เช่น หมู่บ้านสามขา จังหวัดลำปาง โดย “ร้อยตรี ชัย วงศ์ตระกูล” แกนนำชุมชนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง บอกว่า…ที่เริ่มโครงการสร้างฝายร่วมกับ SCG ในปี”50 พร้อมกับพัฒนาระบบประปา และสร้างสถานีเรียนรู้ เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษา นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายจากองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมายที่ให้ข้อมูลว่า มีอีกจำนวน 6 หมู่บ้านที่ต้องการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เพิ่มเติม สะท้อนว่าแนวคิดนี้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

ADVERTISMENT

นอกจากเครือข่ายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีเครือข่ายจากชุมชนพื้นที่อื่น ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ คือ ชุมชนปลายน้ำอย่าง ชุมชนมดตะนอย จ.ตรัง กับโครงการบ้านปลา เพื่อแก้ปัญหาในช่วงฤดูมรสุมที่ไม่สามารถออกเรือได้ เมื่อมีบ้านปลาทำให้ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้ต่อเนื่อง พัฒนาไปถึงการพัฒนาป่าโกงกาง ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่อนุบาลปลาผสมผสานต่อยอดการแก้ปัญหา

เมื่อมีป่าและน้ำแล้ว สเต็ปต่อไป คือ ทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่ “วิสาหกิจชุมชน” อันเป็นเป้าหมายที่ SCG ต้องการผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง แต่บนเวทีแลกเปลี่ยนความคิดครั้งนี้ “นายแพทย์เกษม” โฟกัสให้เห็นถึงจุดแข็งเรื่อง “พันธุ์ข้าว” ซึ่งต้องมองในแง่ของความมั่นคงทางการบริโภคที่ควรดำเนินการใน 5 ประเด็น คือ 1) การสร้างแบรนด์ให้ข้าว 2) การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และต่อยอดไปสู่โปรดักต์อื่น ๆ ได้ เช่น สบู่ข้าว ข้าวกล้องลดการเสื่อมสลายของเซลล์ร่างกาย เป็นต้น 3) ผลักดันโรงสีข้าวชุมชนขนาดเล็ก โดยให้ชุมชนสร้างรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และชุมชนเข้ามาถือหุ้น 4) ภาครัฐควรมีการลงทุนวิจัยข้าวมากขึ้น และ 5) ส่งเสริมการซื้อขายข้าวบนออนไลน์ และให้ผู้ซื้อเป็นคนกำหนดราคา เมื่อพิจารณาสายพันธุ์ข้าวของไทยถือว่ามีคุณภาพสูง และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ขณะที่ “ชลณัฐ ญาณารณพ” รองผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน SCG ระบุว่า โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” เพื่อเดินตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับชีวิตและเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถจัดการกับน้ำและหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ได้ใหม่ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ต้นน้ำในการสร้างฝายชะลอน้ำ ที่ทำให้พื้นที่กลับสู่สมดุลธรรมชาติ 235,000 ไร่ รวมถึงพื้นที่กลางน้ำที่สร้างสระพวง ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีกว่า 30,400 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 500 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีระบบแก้มลิงที่ช่วยเก็บน้ำ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร กว่า 16,750 ไร่ สามารถทำการเกษตรได้ผล สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดผลตามมา คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ รวมกลุ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนฯบ้านแป้นใต้ กลุ่มตลาดวีมาร์เก็ต และกรีน มาร์เก็ตลำปาง และชุมชนในการจัดหลักสูตรวิสาหกิจและคุณธรรมชุมชนรักษ์น้ำ เพื่อเสริมรายได้ชุมชนจากวิสาหกิจมากกว่า 60,000 บาท/ครัวเรือน/ปี สร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

ดัน “บางซื่อโมเดล” จัดการขยะพลาสติก

นอกเหนือจากการแก้ปัญหาต้นน้ำแล้ว SCG ยังอยู่ในระหว่างศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสร้างโมเดลการเก็บขยะ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก “ชลณัฐ” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ SCG อยู่ระหว่างสร้างโมเดลใหม่ที่ทดลองใช้ในองค์กรก่อน คือ “บางซื่อโมเดล” ในพื้นที่ SCG สำนักงานใหญ่

เนื่องจาก SCG มีพนักงานกว่า 7,000 คน ซึ่งในชีวิตประจำวันมีการใช้พลาสติกเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงเริ่มต้นสามารถนำมารีไซเคิลได้เพียง 5% ของปริมาณขยะรวม แต่ภายหลังจากที่มีการรณรงค์อย่างจริงจัง ทำให้นำพลาสติกมารีไซเคิลได้ถึง 35% ภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะเริ่มใช้โมเดลดังกล่าวต่อยอดไปจนถึงองค์กรภายนอก

“SCG อยากให้ทุกโครงการของเราเกิด impact ใหญ่ที่สุด ต้องเป็นระบบที่ดี และคนปฏิบัติได้ ปัญหาขยะมันก็อยู่ที่เราที่ต้องคัดแยกและมีซัพพลายเชนที่จะรับขยะเข้าไปสู่การผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ ฉะนั้นอาจจะต้องมีพันธมิตรที่สามารถมาต่อยอด หรือขยะบางประเภทที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ อาจจะนำไปทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น เศษอาหารที่นำมาผลิตเป็นปุ๋ย หรือนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น สิ่งสำคัญ คือ การลดใช้ทรัพยากร ฉะนั้น การผลิตสินค้าต้องคงทน หรือเอากลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ องค์กรใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างก็กังวลกับปัญหาขยะพลาสติกและกำลังช่วยกันหาทางออก 

สำหรับในส่วนของอนาคต SCG อาจมีการจับคู่กับพันธมิตรในองค์กรระดับโลกที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับพลาสติกได้ เช่น บริษัท ดาว เคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด และอื่น ๆ เพื่อลงขันพัฒนาพลาสติกที่รักษ์โลกมากขึ้น