คอลัมน์ CSR talk
โดย พัทธ์ธีรา วงศราวิทย์
สอง พฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการ “ใช้งาน” แต่ไม่เน้น “ครอบครอง”-เทคโนโลยีดิจิทัล และ internet of things (IOT) รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในสังคมทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคหันไปใช้วิธีการเข้าถึงสินค้า และบริการในรูปแบบ “การเช่า” และ “การจ่ายเมื่อใช้งาน” (pay-per-use) มากขึ้นแทนการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าบริการนั้นมาครอบครอง
ยกตัวอย่าง Netflix บริการสตรีมมิ่งที่ผู้บริโภคสามารถใช้รับชมภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ กลายเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่าการซื้อแผ่นซีดีหรือดีวีดี หรือสตาร์ตอัพที่ให้บริการเช่าจักรยานเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีน
โมเดลธุรกิจดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งโมเดลธุรกิจที่ช่วยตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำมาสู่การปราศจากของเสียและมลพิษตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ ซึ่งรูปแบบธุรกิจการเช่า หรือการจ่าย เมื่อใช้งานนี้ช่วยลดภาระผู้ซื้อในการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ ช่วยลดการซื้อที่ไม่จำเป็น และทำให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เทรนด์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นทั้งความเสี่ยง และโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภค และสร้างตลาดใหม่ ๆ ซึ่งผู้ผลิตต้องจับตามองและนำมาทบทวนว่าสินค้าและบริการของตนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดจำหน่าย และการบริการให้ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง
สาม การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้สอดรับกับเทคโนโลยี และความต้องการในอนาคต-การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีต่าง ๆ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิต ขณะเดียวกันก็เริ่มสร้างความกังวลต่อตลาดแรงงาน และการจ้างงานทั่วโลก
ซึ่งจากผลการสำรวจในรายงาน The Future of Job Report 2018 ของ World Economic Forum ระบุว่า ภายในปี 2022 กว่า 75% ของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มจะนำเทคโนโลยี เช่น big data analytics, web-enabled market, internet of things (IOT), cloud computing มาใช้ในกระบวนการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการ
ขณะเดียวกัน แนวโน้มดังกล่าวได้ทำให้เกิดข้อกังวลถึงการเลิกจ้าง และการว่างงานปริมาณมหาศาลในกิจกรรมที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคนได้ แม้จะมีตำแหน่งงาน และกิจกรรมที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคลากรที่มีทักษะในกลุ่มงานที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนานวัตกรรมการออกแบบ และพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นจะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับทักษะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น การให้บริการ ความคิดสร้างสรรรค์, ภาวะผู้นำ, มีแนวโน้มที่ยังคงเป็นที่ต้องการต่อไป
การพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มทักษะให้แก่ทรัพยากรบุคคลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งทั้งต่อบุคลากรเอง และต่อองค์กร พนักงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะที่สอดรับกับความต้องการในอนาคตจะมีโอกาสในการก้าวสู่ตำแหน่งงานที่ได้ใช้ทักษะสูงขึ้น และได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่องค์กรสามารถสร้างบุคลากรให้เพียงพอที่จะรองรับการปรับตัวทางธุรกิจ และลดความเสี่ยงการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะตามที่บริษัทต้องการ
ทั้งนี้ องค์กรต้องเริ่มประเมินว่าทักษะประเภทใดที่มีความจำเป็นต่อการเติบโตขององค์กร ปัจจุบันพนักงานขององค์กรมีทักษะตามที่องค์กรต้องการแล้วหรือไม่ เพื่อให้สามารถวางแผนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรได้อย่างเหมาะสม และทันต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน องค์กรต้องพิจารณาด้วยว่ากิจกรรมทางธุรกิจใดที่อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรและจะส่งผลกระทบต่อบุคลากรในตำแหน่งใดบ้าง บริษัทควรวางแผนในการโยกย้ายบุคลากรควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะในสายงานใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้พนักงานสามารถปรับเปลี่ยน career path และมีโอกาสเติบโตในสายงานอื่น
ภาคธุรกิจจำเป็นต้องตระหนักถึงเทรนด์ด้านความยั่งยืนเหล่านี้ และปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงาน เพื่อให้ตอบสนองต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อ “ลดความเสี่ยง” และ “เพิ่มโอกาส” ให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง
-https://www.weforum.org/reports/the-global-risks-report-2019
-https://www.weforum.org/reports/the-future-of-jobs-report-2018
-https://www.mckinsey.com/featured-insights/future-of-work/retraining-and-reskilling-workers-in-the-age-of-automation
-https://www.forbes.com/sites/stephaniedenning/2018/12/27/2019-business-trends-executives-need-to-consider/#10a7f6ab229e
-https://www.ceguide.org/Strategies-and-examples/Sell/Digitization-and-virtualization
-http://www.businessendofclimate.org/
-https://www.c2es.org/content/internal-carbon-pricing/
-https://www.sustainablebusinesstoolkit.com/why-disclose-carbon-emissions-information/