“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” ย้ำ ถึงเวลาสืบสานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง ทำให้มากกว่าพูด

วันที่ 16 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ปาฐกถาพิเศษ “ประสบการณ์ 5 ทศวรรษ สืบสานแนวพระราชดำริ”

ในเวทีสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า หากเล่าย้อนหลังไป 50 ปี ต้องจินตนาการไปเมื่อชีวิต 50 ปีที่แล้ว สุภาษิตไทยในน้ำมีปลาในนามีข้าว น่าจะตรงความจริงที่สุด เมื่อปี 2512 ประชากรมี 35.8 ล้านคน แต่ตอนนี้ 66.8 ล้านคน คนไทยอยู่ในเขตเมือง 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้มี 56 เปอร์เซ็นต์ GDP ประเทศไทยตอนนั้น 6.7 พันล้านเหรียญ

แต่ตอนนี้ 505,000 ล้านเหรียญ สัดส่วนการเกษตรต่อ GDP 32.19 เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้เหลือแค่ 8-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น งบประมาณรายจ่ายประจำปีตอนนั้น 2.3 หมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้ 3.3 ล้านล้านบาท ห่างกันลิบ ประเทศเรามีของดีๆ เกิดขึ้นมาเยอะ แต่การเปลี่ยนแปลงมากเช่นนี้ ในน้ำนอกจากมีปลาแล้วยังมีถุงพลาสติกเยอะแยะ น่าตกใจอย่างมหาศาล

ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาเราได้ยินหนี้ครัวเรือนอยู่บ่อยครั้งฝ่ายหนึ่งบอกว่าน่าวิตก อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ายังสบายๆ ขอยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้มาเป็นเครื่องเตือนใจ การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี เพราะถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน รัชกาลที่ 9 ไม่ได้ห้ามกู้ ทรงแนะนำให้กู้ไปทำในสิ่งที่งอกงามขึ้น แต่คนมักกู้เพื่อการบริโภคเป็นจำนวนมาก และคนชนบทกู้เพื่อการเกษตร ทั้งสองกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น คนเหล่านี้ฟุ้งเฟ้อ คำเดียวคือคำว่าไม่พอ คำว่าพอไม่มี เกษตรก็ล้มเหลว”

งานพระราชดำริของราชวงศ์ ไม่ได้มาลอยๆ แต่เกิดขึ้นจากการสังเกต วิเคราะห์ จึงได้ทำพระราชดำริต่างๆ สอดคล้องและตอบโจทย์สถานการณ์บ้านเมืองตลอด เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 2 มีวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก คนไทยจนมาก ลัทธิคอมมิวนิสต์และยาเสพติดระบาดในพื้นที่ จึงเป็นจุดกำเนิดของโครงการหลวงและฝนหลวงตามมา

มาถึงแผนฉบับที่ 3 ประเทศไทยยังไม่ฟื้นดี ก็เกิดวิกฤตน้ำมันโลก เงินเฟ้อในประเทศไทยสูงถึง 10.3 เปอร์เซ็นต์ สินค้าขาดแคลน จึงเป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิพระดาบส มูลนิธิศิลปาชีพ โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ และเป็นครั้งแรกที่ทรงเตือนว่าอยู่อย่างพอมีพอกิน สุขสงบสุข ระยะเวลาฉบับ 4 และฉบับที่ 5 เกิดวิกฤตน้ำมันอีก เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ทรงคิดค้น เรื่องไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์

ADVERTISMENT

เมื่อเข้าสู่ฉบับที่ 6 ประเทศไทยฟื้น มุ่งหน้าพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ภาคเกษตรเสื่อมถอย จึงได้พระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่วัดมงคลชัยพัฒนา เพื่อให้ประเทศรักษาภาคเกษตรเอาไว้ให้ได้ หลังจากนั้นยังพระราชทานโครงการอีกมากมาย เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ถนนบรมราชชนนี คลองลัดโพธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล จึงเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงงานเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ของประเทศอย่างมีเหตุมีผลมาโดยตลอด

ดังนั้น จึงร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ก่อตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานงานพระราชดำริเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เพราะมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงไม่สามารถทำเรื่อง scalability ได้ มูลนิธิมาทำในสิ่งที่ข้าราชการเข้าไปไม่ถึง และทำเป็นตัวอย่างถ้าเห็นว่าดีแล้วรัฐบาลควรเอาไปทำเอง ผมทำตามรัชกาลที่ 9 มาโดยตลอด พระองค์ทรงทำโดยไม่ได้แย่งงานของรัฐบาลทำ

ADVERTISMENT

แต่ทำในสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ถึง ซึ่งพระองค์แอบทำในบ้านคือพระตำหนักจิตลดารโหฐาน จะเป็น วัว ไม้ ข้าว ปลา ทรงทดลองเองก่อนจนสำฤทธิ์ผลแล้วจึงนำข้าราชการมาเรียนรู้จากพระองค์ท่าน ว่าพิสูจน์โดยถ่องแท้แล้วพระองค์ทรงพาทำ จึงนำข้าราชการที่เกษียณไปแล้วแต่ยังไฟแรงอยู่ที่ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวมจริงๆ แปลศาสตร์พระราชาตำราแม่ฟ้าหลวงให้ข้าราชการเหล่านี้ทำ และให้ไปพูดกับข้าราชการกันเอง เพราะภาษาราชการกับราชการจะพูดกันรู้เรื่อง เพราะนับถือเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน

หลายคนชักชวนจากผู้ว่าราชการจังหวัด คนหนึ่งนำมาจากรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มาทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระยังเชื่อมไปในระบบราชการ ยังตั้งมูลนิธิรากแก้ว เพื่อเป็นแกนกลาง ปลูกฝังและส่งเสริมให้เยาวชนและภาคการศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้เยอะ แต่ไม่สามารถ translate ออกไปถึงชาวบ้านได้ ถ้าเราทำกับชาวบ้านโดยดูว่าถ้าชาวบ้านขาดอะไร นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย จากอาจารย์ไปช่วย ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง จะเป็นการถ่ายทอดลงไปช่วยเหลือคนที่ขาดโอกาสให้ขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่ฝากให้พิจารณาคือ 1.เกษตรกรมีสัดส่วน 33 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด มีสัดส่วน GDP ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์จะทำอย่างไรดี 2.เกษตรมีรายได้เดือนละ 4,750 บาท 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ใต้เส้นความยากจน พวกเขาจะอยู่อย่างไรถ้าไม่อพยพมาเป็นแรงงานในเมือง และแรงงานในเมืองเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของหนี้ครัวเรือนและเป็นการกู้เพื่อบริโภค เรื่องต่างๆ เหล่านี้มีพระราชดำริที่ทรงพระราชทานไปแล้วหรือไม่ ทำไมเราจึงกลับมาสู่ความเสื่อมในวัฏจักร ขาดภูมิสังคม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเชื่อมั่นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง

ที่สำคัญคือลงมือทำให้มากกว่าพูด ดังพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่จะทรง สืบสาน รักษาและต่อยอด ทรงขอให้ทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามฐานะและหน้าที่ของตน ด้วยความสามัคคี ตัวอย่างคือ โครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เริ่มจากเล็กๆ จากความเต็มใจของประชาชน ซึ่ง จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่ที่จะช่วยปลดล็อกความแตกแยกของสังคมได้ เพราะเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง