คอลัมน์ HR Corner
โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ
วันก่อนมีโอกาสไปร่วมเสวนากับ ก.พ.เรื่อง “พลิกโฉมงานบุคคล บนถนนการปฏิรูป (ภาครัฐ) ที่ยั่งยืน” ซึ่งมีคำถามเกี่ยวกับ pain-pointของงานบุคคล โดยในความเห็นส่วนตัวคิดว่าความพร้อมของ HR เป็นหนึ่งในปัจจัยความ (ไม่) สำเร็จในการปรับเปลี่ยน (นอกเหนือจากความล่าช้าของระบบงาน ความไม่พร้อมของพนักงาน การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ take full ownership และอื่น ๆ เป็นต้น) จึงอยากนำเรื่องที่ว่า HR ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรภายใต้ business disruption มาเล่าสู่กันฟัง
โดยอ้างอิงจากเนื้อหาจากเว็บไซต์ของ HR Certification Institution ที่มีการกล่าวถึงบทบาทและสมรรถนะของ HR ที่จะต้องเปลี่ยนไปเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงหรือการ disrupt ของธุรกิจให้ได้ใน 3 เรื่องหลัก คือ
1.เราต้องถือว่า HR คือ “วิศวองค์กร” ซึ่งดิฉันชอบคำจำกัดความนี้มาก พูดง่าย ๆ คือ HR คือคนที่ต้องแก้ไขปัญหาของคนในองค์กรให้เกิดศักยภาพสูงสุด โดยทำงานร่วมกับ CEO ซึ่งการที่ HR จะเป็นวิศวองค์กรได้ต้องมีบทบาท (ที่เปลี่ยนไป) ดังนี้
a.HR ต้องรู้ธุรกิจแบบ “inside-out” ไม่ใช่รู้งู ๆ ปลา ๆ หรือถามทีไรก็บอกว่าต้องไปถามหน้างานตลอด
b.HR ต้องเป็นที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านคนของ CEO ต้องบอกได้ว่าถ้ากลยุทธ์ไปทางนี้ข้อจำกัดด้านคนคือ และจะทำอย่างไรดี ต้องคิดไปข้างหน้าให้ CEO ได้ในเรื่องคน
c.HR ต้องเป็นทั้งผู้ที่ทั้งเข้าใจและดูแลวัฒนธรรม (ให้ไปในทางเดียวกัน) และต้องเป็นนักปฏิบัติที่ได้รับความเชื่อถือ (จากพนักงาน) ด้วย คือไม่ใช่เอาแต่คิด ต้องคิดแล้วทำได้ด้วยจึงจะสมบูรณ์แบบ
d.HR ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเป็น สามารถบอก CEO ได้ว่า ควรลงทุนและไม่ลงทุนในเรื่องคนตรงไหนบ้างในองค์กร
e.HR เนื่องจากเรื่องการพัฒนาคนเก่ง ในองค์กรเป็น top priority ของ CEO ทุกคน HR ต้องทำตัวเป็น ตัวขับเคลื่อน (facilitator) ที่ดีในการพัฒนาคนเก่งในองค์กร และHR ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จของงานด้วย ไม่ใช่เอาแต่ขับเคลื่อนโดยไม่ดูผลลัพธ์เลยว่า work หรือไม่ work
f.HR มีหน้าที่ในการสร้างนวัตกรรมในวัฒนธรรมองค์กร ท่ามกลางความคิดต่างของพนักงานหลายรูปแบบให้ได้
2.HR ต้องเปิดรับความคิดในการจัดโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ ๆ เนื่องจากสภาพการทำงานและความต้องการของพนักงานเปลี่ยนไปเร็วมาก (ภาษาอังกฤษใช้คำที่แปลยากมาก คือ Embracing new organization model) ยกตัวอย่างเช่น พนักงานรุ่นใหม่ชอบทำงานเป็นโครงการ ๆ เข้ามาทำโครงการหนึ่งเสร็จแล้วก็จากไป ทำอีกโครงการหนึ่ง HR จะมีการพัฒนาผู้นำ การกำหนด career หรือการประเมินผลการทำงานแบบนี้ให้มีประสิทธิภาพได้ยังไง เป็นเรื่องที่ HR ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ให้ได้
3.HR ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำคัญ ได้แก่
a.HR ต้องสนใจใฝ่รู้เรื่องธุรกิจ และสร้างสัมพันธ์กับผู้นำธุรกิจในองค์กรให้ได้
b.HR ต้องทำเรื่องยากให้ง่ายได้ รู้จักการ simplify เรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะการสื่อสารให้พนักงานทราบ ต้องมีทักษะในการสื่อสารให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วย
c.HR ต้องมี empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ การที่ HR ต้องมีความสัมพันธ์กับพนักงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งสำคัญมาก หรือพูดง่าย ๆ แบบไทย ๆ คือ ต้องเอาใจเขา (พนักงาน) มาใส่ใจเรา (HR) นั่นเอง
d.HR ต้องมีความกล้าที่จะเห็นต่างในเรื่องสำคัญและตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
e.HR ต้องบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ดี
f.HR ต้องมีความอดทนและมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพราะการเปลี่ยนแปลงใช้เวลา
ก่อนจบขอฝากไว้สำหรับเพื่อน ๆ ชาว HR ว่า เราคือกุญแจดอกสำคัญของ CEO ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในยุคที่มีการ disrupt ธุรกิจอย่างมากมาย เราจำเป็นต้อง 1) พัฒนาทักษะที่จำเป็น 2) ปรับบทบาทให้ทันสมัย และสำคัญที่สุด คือ 3) มุ่งเน้นความสำเร็จขององค์กรเป็นหลัก (ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงาน HR) นะคะ