ตั้งรับซึมเศร้าจาก “ดิสรัปต์” ปรับตัวให้ทัน เข้าใจงาน-คน

มิติของเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนา หรือ disruptive นั้น ถือเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจ เพราะไม่เพียงจะส่งผลกระทบทั้งเชิงบวก และเชิงลบให้กับหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับผลกระทบต่อ “สุขภาพจิต” ของผู้บริหาร และพนักงาน ที่ต้องนำพาองค์กรให้ก้าวข้ามภาวะดังกล่าว เพื่ออยู่รอดในธุรกิจต่อไปได้ บริษัท มิส คอนซัลท์ จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับผู้บริหาร เพื่อรับการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จึงฉายภาพสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบันว่าอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบ วิธีการแก้ไข และแนวโน้มการพัฒนาคนเพื่อรองรับอนาคต

“กัลยา แก้วประเสริฐ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิส คอนซัลท์ จำกัด ระบุว่า สำหรับประเทศไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีมากกว่าที่จะเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี เพื่อสร้างความสะดวกสบาย และเสริมศักยภาพขององค์กรให้แข่งขันในตลาดได้ มีผลศึกษาจากนักวิชาการ สหรัฐอเมริกา บอกว่า disruptive ที่เข้ามาจำนวนมาก ภาคธุรกิจต่างมองว่าจะแข่งในเรื่องที่แข่งไม่ได้หรือไม่ โดยเฉพาะการแข่งขันกับ “หุ่นยนต์” ได้ถูกพัฒนาให้ทำงานแทนมนุษย์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่น่าสนใจต่อประเด็นนี้ คือ เทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปต์ความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง ที่สำคัญ คือ พบว่าเมื่อสถานการณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลงมากกว่าภายในองค์กรแล้ว องค์กรเหล่านั้นมักจะ “ไม่รอด”

ในศตวรรษที่ 21 นี้ “กัลยา” บอกว่า ไม่สามารถหลีกเลี่ยงดิสรัปต์ได้ โดยดิสรัปต์ที่แท้จริงในปัจจุบัน คือ การดิสรัปต์ความสามารถของมนุษย์ หลักการคือองค์กรใดก็ตามที่ใช้เทคโนโลยี และคนในองค์กรมีเวลามากขึ้น เท่ากับจะเหลือเวลาที่ดูแลตัวเองน้อยลง ขณะเดียวกัน หากใช้เทคโนโลยีแล้ว คนทำงานไม่มีเวลาทำอย่างอื่น นั่นคือคนทำงานจะถูกดิสรัปต์อย่างไม่รู้ตัว

ตามมาด้วย “technology advancement” ในองค์กรใหญ่ ๆ ที่เข้าถึงเทคโนโลยี และมีพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่จะมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นเก่า อีกทั้งคนรุ่นใหม่จะมองว่าคนรุ่นเก่าไม่ทันสมัยด้านเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาคือทุกอย่างบนโลกใบนี้จะสามารถเข้าถึงกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะในโลกของตัวเองเท่านั้น (globalization)

“ยกตัวอย่าง การค้นหาข้อมูลจากกูเกิล เมื่อสามารถหาข้อมูล ความรู้อื่น ๆ ได้จำนวนมากแล้ว มักจะเกิดภาวะที่เรียกว่า overload information แต่จะไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นจริงหรือเท็จ แม้แต่ในประเทศสหรัฐยังต้องมีการสอนการรับข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตเพื่อให้รู้ว่า ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นอย่างไร เป็นวิชาที่ถูกบังคับให้ต้องเรียนทุกคน”

ภายใต้การแข่งขันทางธุรกิจท่ามกลางเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วนั้น “กัลยา” บอกว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอด คือ การเข้าถึง “คนเก่ง” ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด คือ กรณีสหรัฐประกาศแบนสินค้าจากประเทศจีน อย่างหัวเว่ย แต่กลับไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในเชิงธุรกิจ เพราะอะไร เพราะจีนมีเงินที่จะเข้าถึงความรู้ และเข้าถึงคนเก่ง ๆ ได้ องค์กรใหญ่ ๆ ในจีนมีการจัดอบรมแบบ “master class” ที่น่าสนใจ คือ เชิญคนเก่งระดับ “top person” จากหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อนำมาสอนด้วยระบบออนไลน์ ทั้งที่ในความเป็นจริง การเจอคนเก่งระดับท็อปของโลกเป็นเรื่องที่ยากมาก

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า รูปแบบคนทำงานที่ภาคธุรกิจต้องการอย่างมาก คือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นฟรีแลนซ์ “กัลยา” ยกตัวอย่างอาชีพนักข่าวที่มีอายุการทำงานค่อนข้างมาก จะกลายเป็นนักข่าวที่มีมูลค่าสูง เพราะในโลกอนาคตผู้เชี่ยวชาญจะหาได้ยาก แต่ละองค์กรต่างต้องการความเป็น “มืออาชีพ” มากขึ้น และการว่าจ้างแบบพนักงานประจำจะลดลง บรรดาเหล่าเอเยนซี่ที่จัดหาคนจะมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” หากเปรียบเทียบกับมนุษย์ในแง่ของการจดจำข้อมูล มนุษย์ไม่สามารถสู้ได้แน่นอน เพราะ AI มีความแตกต่าง คือ ทุกอย่างทำงานอย่างเป็นระบบ ระบบปฏิบัติการที่เกี่ยวเนื่องกัน และจะเชื่อมต่อข้อมูลกันได้ทันที

“กัลยา” ยังวิเคราะห์ถึงฝ่ายพัฒนาบุคลากรในอนาคตว่า การลงทุนกับฝ่ายบุคคลจะไม่ใช่เรื่องที่วัดผลไม่ได้อีกต่อไปและอะไรก็ตามที่วัดผลไม่ได้ ไม่ถือเป็นการลงทุน เนื่องจากก่อนหน้านี้ หากมองเรื่องการพัฒนาบุคลากรจะเป็นเรื่องที่วัดผลไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของศักยภาพ แต่ในโลกปัจจุบันต่อให้เป็นเรื่องของศักยภาพก็ต้อง “วัดผลได้”

ที่สำคัญ คือ การบริหารองค์กรต่อจากนี้จะเริ่มกลับด้านกัน นั่นคือ 1) ผู้บริหารจะต้องเริ่มเข้าหาลูกน้องในทีมมากขึ้น 2) ทุกคนจะต้องได้รับอิสระในการทำงานมากขึ้น รับผิดชอบตัวเองได้ และ 3) และเชื่่อมโยงไปถึงทุนคนในองค์กรได้

“ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่าง disruptive จะทำให้คนทำงานเกิด “ความเครียด” มากขึ้น เพราะคนแตกต่างจากเทคโนโลยีตรงที่มีอารมณ์และความรู้สึก “ดิสรัปต์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างส่งผลกระทบต่อคนจริง ๆ ยังไม่ต้องไปคิดถึงการสู้กับหุ่นยนต์ แค่มีอินเทอร์เน็ต ข้อมูลถูกส่งในอัตราที่เร็วมาก จะทำให้มนุษย์มีความเครียดมากขึ้น”

เมื่อมนุษย์มีภาวะเครียดมากขึ้น จะตามมาด้วยโรคภัยอย่าง “โรคซึมเศร้า” ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาอย่างเช่น “นักจิตบำบัด” หรือการเข้าอบรมเพื่อบริหารจัดการความเครียดของคนทำงาน อีกทั้งองค์กรอาจต้องปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ด้วย อย่างเช่น คนรุ่นใหม่ชอบทำงานจากที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ซึ่งต่างจากความคิดของผู้ประกอบการ เมื่อมุมมองไม่สอดคล้องกัน ทำให้พนักงานลาออก ส่งผลให้เกิดสงครามการแย่งชิงคนเก่งเกิดขึ้น องค์กรจะเริ่มไม่พัฒนาคน เพราะช้อนซื้อในตลาดได้ง่ายกว่า

“กัลยา” ระบุให้เห็นว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากการกักเก็บประสบการณ์แห่งความผิดหวังที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และมักปฏิเสธว่าไม่มี เพราะสังคมไทยจะถูกปลูกฝังว่า “ไม่เป็นไร” แต่เมื่อความผิดหวังสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ระบบสมองหลั่งสารอะไรบางอย่างมากขึ้น โดยกลุ่มคนทำงานที่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า คือ คนทำงานในเมืองที่มีการแข่งขันสูง เพราะอาการซึมเศร้ามาจาก “สิ่งแวดล้อม” เป็นหลัก อีกทั้งในระหว่างการเดินทางของมนุษย์จะเลือกคิดลบเสมอ เพื่อให้ตัวเองนั้นอยู่รอด อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะดิสรัปต์นั้น คนทำงานต้องรู้วิธีกำจัดความเครียด ถ้ากำจัดเองไม่ได้ก็ต้องหาผู้ช่วย

ที่สำคัญ คือ ในอนาคต “การสื่อสาร” จะกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และตัวองค์กรจำเป็นที่ต้องให้คนในทีมมีความเข้าใจคนอื่น ๆ และมีการทำงานบนเป้าหมายที่ชัดเจนต่อให้ดิสรัปต์เกิดขึ้นทุกนาทีบนโลก หากคนทำงานบริหารงาน บริหารจิตใจได้ดี องค์กรก็ไปรอด