SPBT ผนึก วงษ์พาณิชย์ ชวนคนไทยรีไซเคิลขวด PET

เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างถาวร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างความกลมกลืนระหว่างผู้คนและธรรมชาติ ด้วยการมอบสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยล่าสุดบริษัทสานต่อความร่วมมือกับตระกูล “วงษ์พาณิชย์” หนึ่งในผู้นำธุรกิจบริหารจัดการขยะรีไซเคิล ด้วยการรณรงค์ส่งเสริมการคัดแยกขยะ และการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET (polyethylene terephthalate) เพราะ “วงษ์พาณิชย์” ประกาศรับซื้อขวดเปล่าพลาสติก PET ใช้แล้วในเครือซันโทรี่ เป๊ปซี่โค โดยให้ราคาสูงกว่าขวด PET ทั่วไป ด้วยการให้ราคาเพิ่มขึ้นอีก กิโลกรัมละ 1 บาท

“จรณชัย ศัลยพงษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทใช้ PET ในการบรรจุเครื่องดื่มเป็นหลัก เนื่องจากมีคุณสมบัติใส สะอาด ปลอดภัย มีน้ำหนักเบา ทนต่อแรงกระแทก ไม่เปราะแตกง่าย ทั้งยังป้องกันการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี และสามารถรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ โดยสามารถนำมาแปรสภาพเป็นเส้นใยสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ ผ้าบุตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ พรม แผ่นกรอง สายรัด และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร


“เรามีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติก PET ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และด้วยความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะเลวร้ายลง อันเป็นผลมาจากการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ เราจึงร่วมมือกับบริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด ในการส่งเสริมการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลขวด PET ซึ่งความร่วมมือนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2012”

“โดยหนึ่งในกลไกที่เราใช้กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิลคือการกำหนดราคารับซื้อขวดพลาติก PET ที่ใช้แล้วของผลิตภัณฑ์ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคให้สูงขึ้นกว่าราคารับซื้อปกติ ที่สำคัญร้านรับซื้อขยะวงษ์พาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศได้ประกาศรับซื้อขวดพลาสติก PET ของเครื่องดื่มเป๊ปซี่, เป๊ปซี่แมกซ์เทสต์, มิรินด้า, เซเว่นอัพ, กู๊ดมู้ด, ชาพร้อมดื่มลิปตัน, น้ำดื่มอควาฟิน่า และเครื่องดื่มเกลือแร่เกเตอเรด สูงกว่าราคาปกติอีกกิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งมีจุดรับซื้อทั่วประเทศ 1,761 จุด”

“จรณชัย” อธิบายถึงนโยบายของเป๊ปซี่โคทั่วโลกว่า ถึงแม้เป๊ปซี่โคเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกา และซันโทรี่เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เรามีเหมือนกันคือความยั่งยืน เรามีแผนปี 2025 ร่วมกัน 10 ข้อ 3 ด้าน หรือ 3Ps หมายถึง หนึ่ง products มอบสินค้าที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สอง people การให้ความคุ้มครองด้านคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และการเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สาม planet มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมไปกับการสร้างความเจริญเติบโตให้บริษัท และตอบสนองความต้องการด้านเครื่องดื่ม และทรัพยากรธรรมชาติของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

“เป๊ปซี่โควางเป้าหมายให้ทุกบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มต้องรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2025 เช่นเดียวกับซันโทรี่ที่กำหนดไว้ในปี 2030 โดยมีกลยุทธ์กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิล สร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภค ผ่านการกำหนดราคารับซื้อขวด PET ที่ใช้แล้ว เรามีการดำเนินการตามกลยุทธ์ 2R+1B เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประกอบด้วย reduce, recycle และ bioplastic (พลาสติกที่มีส่วนผสมจากพืช)”

ADVERTISMENT

“ซีเอสอาร์จึงถูกรวมเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัท นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคม ยังแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบขององค์กรในด้านเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบด้านจริยธรรม ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง และความรับผิดชอบในด้านความเที่ยงธรรม ด้วยการผลิตแต่ผลิตภัณฑ์เพื่อทุกคน”

“ดร.สมไทย วงษ์เจริญ” ผู้ก่อตั้งบริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะ 27.93 ล้านตัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกอยู่ราว 2 ล้านตัน โดยจำแนกเป็นขวดพลาสติก PET จำนวน 330,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นขวดพลาสติกชนิดขาวใส 280,500 ตันต่อปี ขวดพลาสติกชนิดขาวออกฟ้า 222,500 ตันต่อปี เป็นแผ่นฟิลม์สำหรับทำบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และบรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ 45,900 ตันต่อปี

ADVERTISMENT

“ปัจจุบันการรีไซเคิลพลาสติก PET ในประเทศไทยสามารถจัดการได้ประมาณ 80% ของ PET ทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 20% ต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนเล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อม จนทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมลำดับต้น ๆ ของโลก หากมีการคัดแยกขยะอย่างจริงจังเพื่อสามารถนำกลับเข้าสู่วงจรรีไซเคิลได้อย่างเป็นระบบ จะสามารถลดปริมาณขยะที่ได้นำไปฝังกลบและเล็ดลอดออกสู่สภาวะแวดล้อมไปได้มาก”

“โดยวงจรชีวิตของขวด PET นั้นสามารถนำมารีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ โดยเริ่มจากผู้ผลิต สู่มือผู้บริโภค การจัดเก็บของผู้รับซื้อขยะ การคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบสู่กระบวนการรีไซเคิล สู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง จนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) อย่างไรก็ตามยังมีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่าขวด PET สามารถนำกลับมารีไซเคิล โดยสามารถนำมาแปรสภาพเป็นเส้นใยสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เราจึงร่วมมือกับซันโทรี่ เป๊ปซี่โคเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนโดยทั่วไปรับทราบว่าขวด PET มีมูลค่าการรับซื้อในตลาดค่อนข้างสูง เพื่อกระตุ้นการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับเข้าสู่วงจรรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ”

หากคนไทยใส่ใจ มีการคัดแยกขวดพลาสติก มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปรีไซเคิล ขวดพลาสติกก็จะไม่กลายเป็นปัญหาที่เรียกว่าขยะอีกต่อไป