กุมารแพทย์ฯ ออกโรงเตือนใช้สื่อออนไลน์ในเด็กเล็ก 4 ข้อ หวั่นกระทบการเรียนรู้ระยะยาว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (รวทก.) และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (สกท.)ได้ออกประกาศเรื่อง การใช้สื่อออนไลน์ ในเด็กและวัยรุ่น ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ว่า ได้เล็งเห็นว่าการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละวัน ผสมผสานกับการใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัว จะช่วยส่งเสริมความรัก เพิ่มคุณธรรม จริยธรรม และพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ รวมถึงการเรียนรู้ด้านวิชาการให้มากขึ้น

แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กและวัยรุ่นต้องใช้ชีวิตในบ้านและมีโอกาสใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เกิดผลเสียทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ที่สำคัญคืออาจจะส่งผลต่อการเรียนรู้ในระยะยาว ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะการใช้สื่อออนไลน์ในเด็กและวัยรุ่นว่า

1) ไม่สนับสนุนการแจกแทปเลตให้กับเด็กทุกคนเพื่อใช้ในการเรียนการสอน โดยที่ระบบสนับสนุนยังไม่พร้อม

2) การเรียนการสอนออนไลน์ สำหรับเด็กนักเรียนทั้งหมด ไม่สามารถทดแทนการสอนตามปกติ แต่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์พิเศษชั่วคราวได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความพร้อมของเด็กในแต่ละวัย พ่อแม่ ความสามารถของครู และบริบทที่แตกต่างกัน

3) ไม่แนะนำการเรียนการสอนโดยใช้สื่อออนไลน์ในเด็กอนุบาล โดยขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน (พ่อ/แม่/ครู)

และ 4) การปล่อยให้เด็กและวัยรุ่นอยู่กับสื่อออนไลน์นานกว่าที่กำหนดไว้คือ 1 ชั่วโมงในเด็กเล็ก และ 2 ชั่วโมงในเด็กโต อาจทำให้เกิดผลเสียทั้งสุขภาพกาย จิตใจและส่งผลต่อการเรียนรู้ในระยาวได้ ซึ่งประกาศดังกล่าวลงนามโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ โลห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และในฐานะนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

Advertisment

ด้าน “ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนราชินีบน ระบุว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งปิดโรงเรียนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 นั้น สำหรับโรงเรียนราชินีบนจะใช้รูปแบบการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติเท่านั้น โดยในช่วงปิดโรงเรียนนั้น โรงเรียนราชินีบนได้กำหนด “หลักการ” ของการเรียนการสอนออนไลน์ว่า ต้องจัดเนื้อหา สาระสำคัญตามตัวชี้วัดของหลักสูตร เน้นไปที่ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง จากสื่อ และได้ลงมือทำงานที่ครูมอบหมาย เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการใช้ระบบฯ มากขึ้น อีกทั้งระบบยังทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์แบบ Real time ผ่านแอพพลิเคชั่นที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีการประเมินผล เนื่องจากการตรวจสอบเน้นที่การสื่อสารให้เกิดความรู้ความเข้าใจเนื้อหาสาระมากกว่าการเก็บคะแนน

“ในช่วงแรกที่ใช้รูปแบบออนไลน์ต้องดูจากความพร้อมของเด็กและผู้ปกครอง ราชินีบนเน้นการเรียนด้วยตัวเอง สื่อสารผ่านระบบ Google classroom และนำแอปพลิเคชั่น Zoom เพื่อช่วยการเรียนการสอนให้ทั้งครูและเด็กมีปฏิสัมพันธ์ในเวลาเดียวกันได้และราชินีบนยังมีแผนที่จะนำแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ที่ตอบสนองต่อการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในอนาคตอีกด้วย” ดร.พิรุณ กล่าว

Advertisment