คอลัมน์ CSR Talk
พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยให้ไปสู่อนาคตที่มุ่งหวัง ทั้งผลลัพธ์ที่วัดได้ในเชิงปริมาณ เช่น ตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้น และตัววัดในเชิงคุณภาพ เช่น ดัชนีความอยู่ดีมีสุขที่สูงขึ้น เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสมรรถภาพของ “คน” ที่ขาดทักษะความสามารถในการพัฒนา “นวัตกรรม” เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงและการก้าวทันต่อโลก
ครั้นเมื่อตระหนักในความสำคัญของเรื่องนวัตกรรม หน่วยงานต่าง ๆจึงตื่นตัวลุกขึ้นมาส่งเสริมกันขนานใหญ่ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องการส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ
โจทย์ที่สตาร์ตอัพต้องพิสูจน์ให้เห็นคือ สามารถคิดค้นและพัฒนาสินค้าและบริการอันเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างให้เกิดรายได้ กิจการสามารถอยู่รอดได้ในระยะเริ่มแรก และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในระยะยาว เวทีที่ส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนบางครั้งคำว่า “นวัตกรรม” และ “การประดิษฐ์” จึงถูกนำมาใช้แทนที่กันเพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน
แต่ในความเป็นจริง นวัตกรรมแตกต่างจากการประดิษฐ์อย่างมีนัยสำคัญ แม้สองเรื่องนี้จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่
การประดิษฐ์มาจากมองมุมต่าง มีความคิดใหม่ เกิดแนวคิดใหม่ สู่ขั้นที่พัฒนาต้นแบบ แต่อาจไม่สามารถแปลงไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่ใช้การได้ในวงกว้าง หรือไม่สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผล และอาจไม่ถึงขั้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อพฤติกรรมหรือแบบแผนทางสังคม
การประดิษฐ์เกี่ยวข้องกับการสร้างความคิดใหม่ (creating a new idea) ส่วนนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดใหม่ (using this new idea)
“Marc Giget” กูรูด้านนวัตกรรมชาวฝรั่งเศส ได้ให้คำจำกัดความว่า นวัตกรรม หมายถึง การผสมผสานองค์ความรู้ที่ทันสมัยในตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างสรรค์ในขั้นที่สามารถสนองตอบความต้องการพื้นฐานของผู้คนและสังคม
ผมขอขยายความต่อในคำสำคัญว่า “ทันสมัย” (state of the art) คือมีความก้าวหน้าล่าสุดเท่าที่จะหาได้ในปัจจุบัน ส่วนคำว่า “สร้างสรรค์” (creative) คือมีลักษณะริเริ่มในทางดี ก่อเกิดความสุขความเจริญให้แก่สังคม และคำว่า “ความต้องการพื้นฐาน” (needs) คือมีความจำเป็นใช้สอย (ปัจจัย 4) หรือแก้ไขสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น
นวัตกรรมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในระดับกระบวนการ (processes) ในระดับองค์กร(organizations) และในระดับสังคม (society)
โดยรูปแบบของนวัตกรรม แบ่งออกเป็น 2 จำพวกใหญ่ ๆ คือ แบบค่อยเป็นค่อยไป (incremental) สร้างการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้น และแบบหักร้างถางพง (breakthrough) ปรับรื้อสิ่งที่มีอยู่เดิม สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่หรืออย่างฉับพลันทันที
สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมประกอบด้วย ปัจจัยประการแรก คือ กลวิธี (techniques) ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง ปัจจัยประการที่ 2 คือ ความรู้สะสมที่มีอยู่ก่อนหน้าผสมผสานกับความรู้ใหม่จากการวิจัย และปัจจัยประการที่ 3 คือ ความคิดใหม่ (new ideas) กับอุปสงค์ใหม่ (new demands)
หวังว่าสตาร์ตอัพจะเข้าใจยิ่งขึ้นว่าตนเองกำลังพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม โดยไม่หลงไปกับการส่งเสริมของหน่วยต่าง ๆ ที่กำลังใช้คำเหล่านี้ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์สตาร์ตอัพตามที่ควรจะเป็น