ความท้าทายในโลกธุรกิจเกิดขึ้นเสมอ แต่หลังจากที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แพร่ระบาดเมื่อหลายเดือนผ่านมา ยิ่งเพิ่มภาระให้องค์กรต้องจัดการกับปัญหา และเผชิญความท้าทายใหม่มากมาย ทั้งด้านผู้นำ, โมเดลธุรกิจ และการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไป
ผลเช่นนี้ จึงทำให้กลุ่มบริษัทแพคริม จัดบรรยายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในหัวข้อ “Reimagine Leadership Development for the New Normal” เพื่อพูดคุยถึงความท้าทายใหม่ในหลายมิติ และผู้นำแบบไหนที่จะเหมาะสมกับจัดการกับสิ่งปกติใหม่ โดยมี “พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอกลุ่มบริษัทแพคริม เป็นผู้บรรยาย
“พรทิพย์” กล่าวว่า ข้อได้เปรียบที่บริษัทต่าง ๆ เคยมี จะไม่ใช่ศักยภาพที่ใช้แข่งขันได้อีกต่อไปบนโลกหลังโควิด-19 ทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ และการบริการลูกค้าที่ต้องเปลี่ยนแปลง รวมถึงองค์กรจะมีการใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์มาแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม องค์กรยังคงต้องการคนอยู่ แต่ต้องเป็นคนที่มีทักษะเปลี่ยนไป โดยมี skill-set ใหม่ ๆ ยิ่งเฉพาะคนเป็นผู้นำที่จำเป็นต้องมีทักษะที่เหมาะสม
“คำว่า ผู้นำ ถูกให้ความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กร บางองค์กรมองว่า ผู้นำ คือ ตำแหน่งงาน และใช้เป็นข้อจูงใจพนักงานให้ทำงานผลงานดี ๆ เพื่อจะได้เลื่อนขั้นสูงขึ้น จากพนักงานตำแหน่ง officer ไปเป็นผู้จัดการ แต่ความจริงแล้ว องค์กรควรมองว่า ทุกคน คือ ผู้นำ ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม ทุกคนต้องทำผลงานที่ดี และพยายามทำให้โดดเด่น เพราะผู้นำคือทางเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่ตำแหน่ง หากใช้คำว่า ผู้นำเป็นเพียงการเลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ สุดท้ายจะไม่มีตำแหน่งให้โปรโมตในอนาคต”
แต่ทั้งนั้น “ผู้นำ” มีทั้ง “ดี” และ “ไม่ดี” ในมุมมอง “ลิซ ไวส์แมน” นักวิจัย และนักเขียนที่เขียนเกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นำที่พูดถึงลักษณะของผู้นำ 9 แบบที่เป็นอุปสรรคต่อการทรานส์ฟอร์ม (การเปลี่ยนแปลง) องค์กรที่ไม่พร้อมต่อการเป็น “ผู้นำยุคใหม่”ที่ “พรทิพย์” นำมาเล่าให้ฟัง คือ
หนึ่ง ผู้นำที่มีไอเดียมากมาย และนำเสนอไอเดียของตนเองตลอดจนทำให้ลูกน้องไม่มีโอกาสแสดงความคิด
สอง ผู้นำที่ทำงานตลอดเวลาพูดคุยแต่เรื่องงาน โดยผู้นำแบบนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกเหนื่อย
สาม ผู้นำที่ยื่นมือช่วยลูกน้องมากเกินไป เพราะกลัวว่าจะทำผิดพลาด ซึ่งผู้นำแบบนี้จะทำให้ลูกน้องไม่มีโอกาสพัฒนาตนเอง
สี่ ผู้นำที่ทำงานรวดเร็วมาก ถึงแม้จะเป็นข้อดี แต่อย่างไรก็มีข้อเสียที่ต้องระวังด้วย เพราะผู้นำแบบนี้จะทำให้คนอื่นในองค์กรเดินตามไม่ทัน
ห้า ผู้นำที่ลงมือทำแทนลูกน้อง เพราะต้องการงานที่รวดเร็วทันใจ
หก ผู้นำที่มองโลกแง่ดีเกินไป โดยมักจะมองว่าโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เป็นเรื่องง่าย คิดว่าลูกน้องจะสามารถทำได้อย่างราบรื่นโดยไม่ได้มองถึงศักยภาพที่แท้จริงของว่าทำได้หรือไม่
เจ็ด ผู้นำที่ปกป้องลูกน้องเกินไป จนพวกเขาไม่ได้เจอกับปัญหาและได้เรียนรู้โลกความจริง
แปด ผู้นำที่เป็นต้นคิด ทั้งเรื่องกลยุทธ์และเรื่องอื่น ๆ เสมอ และไม่ถามความเห็นคนในองค์กร
เก้า ผู้นำที่นิยมความสมบูรณ์แบบ สร้างความกดดันให้ลูกน้อง และทำให้พวกเขารู้สึกว่าทำเท่าไหร่ก็ดีไม่พอ
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า…แล้วผู้นำแบบไหนถึงจะเป็นผู้นำชั้นเลิศ ?
“พรทิพย์” จึงอธิบายบอกว่า ต้องเป็นผู้นำจากภายใน (inside-out) ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากข้างใน จนทำให้เกิดความมั่นใจ ความมั่นคง และพลังงานที่ทำให้สามารถจัดการกับความยากลำบาก และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้ โดยจะมีศักยภาพแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้คือ
หนึ่ง ด้านจิตใจ-มีวิสัยทัศน์ และมุมมองที่เห็นในสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น ผู้นำแบบนี้สามารถมองได้ไกล มองได้ลึก มองเห็นความต้องการ โอกาส ทางออก สามารถมองเห็นจุดเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ มีความคิดเชิงเติบโต (growth mindset) มีใจที่เปิดรับ ใคร่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต คุณสมบัติเหล่านี้นั้น มาจากภูมิปัญญา ความรู้ประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาของผู้นำแต่ละท่าน
สอง ด้านร่างกาย-มีวินัยที่สูงมากกว่าคนทั่วไป โดยจะดูได้จากเรื่องส่วนตัว เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างสุขภาพและภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับตัวเอง การมีวินัยที่สูงมาก บ่งบอกถึงความประสบความสำเร็จในชีวิต และการเป็นผู้นำคนอื่นได้
“ยิ่งในโลกวันนี้ที่เส้นแบ่งระหว่างการทำงาน และชีวิตส่วนตัวเจือจางจนแทบจะมองไม่เห็น คนที่มีวินัยสูงจะสามารถบริหารจัดการชีวิต และแบ่งเวลาตัวเองได้ดี ให้มีความสมดุลลงตัว และสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็วไม่รอใคร นอกจากมีวินัยสูงแล้ว ผู้นำชั้นเลิศยังมีความมุมานะ อดทนไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและความยากลำบากง่าย ๆ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง”
สาม ด้านหัวใจ-หัวใจ คือ สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากหุ่นยนต์ มีความรู้สึกใส่ใจคนรอบข้าง และคนอื่น ๆ มีความรักในอาชีพ รักในบทบาทหน้าที่ และมีแพสชั่นกับสิ่งที่รับผิดชอบซึ่งฐานะผู้นำ อาจจะไม่มีใครมาคอยบอก หรือสั่งว่าต้องทำอะไรในแต่ละวัน แต่ถ้าผู้นำไม่มีแพสชั่นกับสิ่งที่รับผิดชอบ จะไม่มีพลังในการทำงาน นอกจากนี้ ผู้นำที่ใส่ใจกับทีมงาน และคนรอบข้างจะได้รับความเชื่อมั่นศรัทธา และมีแต้มต่อในการขับเคลื่อนองค์กรให้รุดหน้า ฝ่าวิกฤตไปได้
สี่ ด้านจิตวิญญาณ-เป็นผู้นำที่มีจิตวิญญาณที่รู้สึกผิดชอบ ชั่วดี ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ รู้ว่าสิ่งไหนทำให้เรามีความสงบในจิตใจ สิ่งไหนทำให้เราภูมิใจในความเป็นมนุษย์
“โลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้กระทั่งก่อนจะมีวิกฤตโควิด ดังนั้น องค์กร และผู้นำต้องเร่งสปีด และการทรานส์ฟอร์มให้ทันกับโลกได้ โดยผู้นำขององค์กรต้องเป็น role model ของการทรานส์ฟอร์ม องค์กรจะทรานส์ฟอร์มได้สำเร็จ ผู้นำควรเป็นคนแรกที่จะต้องทรานส์ฟอร์ม รวมไปถึงทีมผู้บริหารระดับสูงด้วยที่ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองให้พนักงานเห็นว่าเปลี่ยนได้อย่างไร”
“พรทิพย์” กล่าวว่า ยุคนิวนอร์มอล องค์กรต้องคล่องตัว (agile) และมีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อการอยู่รอด และความยั่งยืนขององค์กร และความท้าทายยากที่สุดในการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นคือ เรื่องคน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
“โจทย์สำคัญไม่ใช่เรื่องของการตระหนัก หรือไม่ตระหนัก รู้หรือไม่รู้วิธีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องของการลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนั้น การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มีพนักงานจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการจะทำอย่างไรให้คนเป็นร้อยเป็นพัน หรือกระทั่งเป็นหมื่นคน มาเปลี่ยนวิธีคิด และทัศนคติ ให้มีความเชื่อที่สอดคล้องเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เราต้องการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในอนาคตอย่างพร้อมเพรียงกันได้”
โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในแบบที่เรียกว่า VUCA คือเต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน และความคลุมเครือไม่ชัดเจน
ดังนั้น ผู้นำต้องเป็นผู้นำที่ทำงานแบบ agile คือ ผู้ที่มีทักษะการทำงานเพื่อเชื่อมต่อคนในทีมทั้งหมดในองค์กร เพื่อยกระดับสมรรถนะการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้นำต้องสำรวจปัจจัยภายนอกและภายในที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้องค์กรเป็น agile organization ที่พร้อมต่อการปรับเปลี่ยนเสมอ
ยิ่งโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเท่าไหร่ ผู้นำต้องนำพาองค์กรรับมือกับความไม่แน่นอนรวดเร็วเท่าทันกันด้วย ถึงจะสามารถสร้างความยืดหยุ่น และความว่องไวในการทำงาน เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ อย่างมั่นคง