
บ.ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ผู้ผลิตโฟร์โมสต์ ทำวิจัยภาวะโภชนาการเด็กไทย เผยเด็กไทย 60% ได้รับสารอาหารต่ำกว่ามาตรฐาน สนับสนุนภาครัฐนำข้อมูลไปพัฒนาการขับเคลื่อนด้านอาหารของประเทศ
“สถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่า” เผยผลงานวิจัยโครงการสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กไทยครั้งที่ 1 (Southeast Asia Nutrition Survey: SEANUTS I) ที่ได้ดำเนินการเมื่อปี 2553-2554 อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจภาวะโภชนาการเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย เพื่อเป็นประโยชน์ให้ไทยนำผลการสำรวจมาพัฒนาต่อยอดทั้งด้านผลิตภัณฑ์อาหาร และกิจกรรมที่ตอบโจทย์ภาวะโภชนาการของเด็กไทย เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนและบูรณาการงานด้านอาหารและโภชนาการของประเทศ
ในขณะเดียวกันสถาบันฯ ร่วมกับ “สถาบันโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล” กำลังสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กไทยครั้งที่ 2 (SEANUTS II) โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 พ.ย. 2563) เผยความคืบหน้าของเฟส 2 ว่า ลุล่วงไปกว่า 60% โดยกลุ่มข้อมูลเป็นเด็กไทยอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี
นายวิภาส ปวโรจน์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายนมพร้อมดื่มภายใต้แบรนด์ โฟร์โมสต์ (Foremost) กล่าวว่า ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยร้อยละ 20 มีภาวะทุพโภชนาการ (double burden of malnutrition) เด็กอยู่ในภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และมีภาวะโภชนาการเกิน คือได้รับอาหารในสัดส่วนที่มากเกินไปเกิดการสะสมทำให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน

นอกจากนั้น เด็กไทยร้อยละ 60 ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ทั้งแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ และวิตามินซี อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการรับประทานอาหารของเด็กที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แม้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแสงแดดตลอดทั้งปี แต่ 1 ใน 3 ของเด็กไทยยังได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายเพื่อการสร้างมวลกระดูก สืบเนื่องมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กในปัจจุบันเปลี่ยนไป เด็กอยู่กับอุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้นและถูกแสงแดดซึ่งเป็นแหล่งสังเคราะห์วิตามินดีตามธรรมชาติน้อยลง”
ล่าสุดสถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่าร่วมมือกับสถาบันโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มโครงการ SEANUTS II โดยได้ดำเนินการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กกว่า 18,000 คนทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนามและมาเลเซีย เพื่อให้ได้ทราบถึงข้อมูลความต้องการเชิงลึกด้านสารอาหารและโภชนาการของเด็ก
“อิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายที่แข็งแรงนอกจากพันธุกรรมแล้ว ยังเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ดังนั้น หากประชากรวัยเด็กเกิดภาวะทุพโภชนาการก็จะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้”
โดยเฉพาะเด็กวัยเจริญเติบโตที่อายุตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 12 ปี ถือเป็นช่วงวัยที่ควรส่งเสริมด้านโภชนาการที่ครบถ้วนทั้งการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเสริมด้วยการดื่มนมทุกวัน ฉะนั้นการมีโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของทุกเพศและช่วงวัย
นายวิภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟรีสแลนด์คัมพิน่าประเทศไทยได้นำข้อมูลจากการสำรวจครั้ง 1 มาสานต่อพันธกิจในการมอบโภชนาการที่ดีจากน้ำนมโคแก่เด็กและเยาวชนไทย ภายใต้แนวคิด Win with Nutrition เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเด็กไทยให้เป็นไปอย่างเหมาะสมตามวัย
ก่อนหน้านี้เรามีโครงการอื่น ๆ ที่สำเร็จลุล่วงไปแล้ว เช่น โครงการ ดื่ม.ขยับ.รับ.สุขภาพ (Drink.Move.BeStrong) ที่เน้นความสำคัญของการเลือกบริโภคน้ำนมโคคุณภาพสูง ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, โครงการจูเนียร์ เอ็นบีเอ ไทยแลนด์ โดยโฟร์โมสต์ (Jr. NBA Thailand presented by Foremost) เฟ้นหาสุดยอดเยาวชนไทยไปเปิดประสบการณ์บาสเก็ตบอลระดับโลก,
โครงการโฟร์โมสต์ ไอรอนคิดส์ ไทยแลนด์ (Foremost Ironkids Thailand) การแข่งขันไตรกีฬาสำหรับเด็กให้ได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งทางด้านร่างกายและจิตใจของตัวเด็กเอง และโครงการ Nutrifit Program ที่ร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ในโรงเรียนทั่วประเทศ ในเรื่องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่สมดุลและออกกำลังกาย
ในขณะที่ข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวยังได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาด้านโภชนาการ ในผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กของฟรีสแลนด์คัมพิน่าประเทศไทย ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการนำข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวมาศึกษาพัฒนา และต่อยอดนโยบายการพัฒนาและแผนการปฏิบัติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนและบูรณาการงานด้านอาหารและโภชนาการของประเทศ
ด้าน รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ SEANUTS กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์ของภาวะโภชนาการในเด็กไทยครั้งที่ 2 ลุล่วงไปกว่า 60% หรือคิดเป็นเด็กจำนวนกว่า 2,200 คน โดยคาดว่าจะครบถ้วนตามเป้าหมาย 3,545 คน ภายในสิ้นปี 2563
“การสำรวจ SEANUTS ครั้งที่ 2 จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการบริโภคโปรตีนและภาวะโภชนาการ”

ทั้งนี้จากข้อมูล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2562 รายงานสถานการณ์ปัญหาทุพโภชนาการในประเทศไทย พบเด็ก 0-5 ปี มีภาวะเตี้ยร้อยละ 10.6 ภาวะอ้วนร้อยละ 9.1 และภาวะผอมร้อยละ 5.6 หรือ 1 ใน 10 ของเด็กปฐมวัยไทยมีภาวะเตี้ยหรืออ้วน และเมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัยเรียนในช่วงอายุ 6-14 ปี มีแนวโน้มพบภาวะเตี้ยร้อยละ 8.3 และผอมร้อยละ 4.3
นอกจากนี้ยังพบว่ามีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.1 ตามลำดับ แต่ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มดีกว่าสถานการณ์เฉลี่ยระดับนานาชาติที่พบว่าอัตราเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ไม่แคระแกร็น อยู่ที่ระดับ 0.89 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานโลกที่กำหนดค่าไว้ในระดับ 0.77