“งานออกแบบ จะต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยเฉพาะงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรมที่นอกจากเน้นดีไซน์แล้ว ต้องเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางด้วย และต้องกล้าหลุดจากกรอบเดิม ๆ” อันถือเป็นแนวคิดหลักของโครงการ Asia Young Designer Awards (AYDA)
โครงการประกวดออกแบบระดับนานาชาติ ที่บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จัดขึ้นเมื่อช่วงสิ้นปี 2563 ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “FORWARD : Human-Centred Design” หรือ “การออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง”
ด้วยจุดมุ่งหมายต้องการผลักดันให้นักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีทักษะความรู้ด้านสาขาวิชาสถาปัตยกรรม (architecture) และการออกแบบตกแต่งภายใน (interior design) สามารถสร้างสรรค์งานออกแบบโดยคำนึงถึงมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ใช้งานหลัก
ผ่านการสร้างกระบวนการคิด สังเกตพฤติกรรม และเรียนรู้ในรายละเอียดอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงปัญหาด้านการใช้งานที่แท้จริง ด้วยการนำผลจากการเรียนรู้ที่ได้รับมาสร้างสรรค์งานออกแบบ โดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐานในการตอบสนองความต้องการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น
โดยล่าสุด “ศุภกร ฉันทกิจวัฒนา” นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ออกแบบผลงาน Illegal Settlement in Chiang Mai คว้ารางวัล Gold Winner จากสาขาวิชาสถาปัตยกรรม และ “ทรวงชนก วงศ์พลกฤต” นักศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับผลงานออกแบบ Melodium คว้ารางวัล Gold Winner จากสาขาวิชาการออกแบบตกแต่งภายใน ประจำปี 2020 มาครองได้สำเร็จ
พร้อมกับเตรียมเข้าร่วมกิจกรรม Asia Young Designer Summit ในประเทศพันธมิตร เพื่อเปิดประสบการณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเข้าแข่งขันการออกแบบร่วมกับผู้ชนะจากอีกหลากหลายประเทศ เพียงแต่ปีนี้โครงการดังกล่าวดำเนินผ่านช่องทางออนไลน์
และหากสามารถชนะในระดับเอเชียจะมีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรพิเศษ Design Discovery Program ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง Harvard’s Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
“ณรงค์ฤทธิ์ มาลัยนวล” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า นอกจากการผลิตสีที่มีคุณภาพออกมาให้ผู้บริโภคแล้ว นิปปอนเพนต์ยังจัดทำกิจกรรมการประกวด AYDA อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งถือเป็นพาร์ตหนึ่งของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือซีเอสอาร์ขององค์กร ที่มีเป้าหมายอยากจะพัฒนาแต่ละประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของ UN Sustainable Development Goals 4 ข้อหลัก ๆ ได้แก่ เรื่องพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้, อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน, เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน และการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ซึ่งเป้าหมายทั้ง 4 ข้อ สื่อสารออกมาผ่านผลิตภัณฑ์ของนิปปอนเพนต์ ที่ให้ความสำคัญในการคิดหานวัตกรรมห่วงใยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมของโลกมากขึ้น เพราะการประกวดครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน
เนื่องจากนิปปอนเพนต์ดำเนินโครงการมากว่า 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 ในหลายประเทศทั่วเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ศรีลังกา, เวียดนาม, จีน, ฮ่องกง และไต้หวัน”
“เพื่อจุดประกายให้นักศึกษาสถาปัตยกรรม และการออกแบบตกแต่งภายใน เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยผลงานการออกแบบจะต้องสร้างประโยชน์แก่สังคม และชุมชนอย่างยั่งยืน เนื่องจากธีมหลักของทุกปีมักโฟกัสเรื่องของดีไซน์”
“แต่ปีนี้นิปปอนเพนต์มองว่า การออกแบบที่ยั่งยืน คือ การมองคนในอนาคต โดยให้โฟกัสที่สังคมนั้น ๆ หรือผู้คนที่อยู่ในสถานที่นั้น ๆ ว่าจะทำอะไรเพื่อไปตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่”
“เพราะที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ปัญหาเยอะมาก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ PM 2.5 น้ำท่วม หรือโควิด-19 ซึ่งเราอยากให้นักออกแบบคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำมาปรับใช้ในงานของตนเอง เนื่องจากโจทย์ของผมต้องการให้นักออกแบบฉุกคิด ไม่ต้องการให้มีกรอบเยอะ หรือคิดว่าจะต้องทำให้สร้างได้จริง ซึ่งการสร้างจริงสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลากหลายฝ่าย ที่จะนำผลงานไปพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานที่”
“ณรงค์ฤทธิ์” กล่าวต่อว่า แต่ทั้งนั้นทางนิปปอนเพนต์ต้องการผลักดันให้ผลงานจากโครงการเกิดขึ้นจริงอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีทั้งการโปรโมตไอเดีย และการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งยังมีการพูดคุยกับนักออกแบบบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองเป็นแผนต่อไปในอนาคต เพราะการทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้เกิดขึ้นจากหน่วยงานเดียว
“ดังนั้น กิจกรรมครั้งนี้เราอยากให้นักออกแบบเห็น และหลุดออกจากกรอบเดิม ๆ เพราะมีข้อจำกัดเยอะ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายปีผ่านมา งานประกวดส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงผู้อยู่อาศัยเท่าไหร่นัก จะเน้นแต่การดีไซน์ แต่ตอนหลัง ๆ ผมมองว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงเยอะ ไม่ว่าจะผลงานจากการประกวดเอง หรืองานออกแบบทั่วไป เช่น เริ่มคำนึงถึงผู้พิการมากขึ้น อีกทั้งนักออกแบบหลายท่านก็เริ่มหยิบเรื่องของดิจิทัลเข้ามาใส่ในผลงานด้วย”
ขณะที่ “ศุภกร” มองว่า ผลงาน Illegal Settlement in Chiang Mai เริ่มจากการพบเจอปัญหาของผู้คนในพื้นที่เทศบาลตำบลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการตั้งถิ่นฐานที่ไม่ถูกต้อง และปัญหาด้านการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัญหาของภาครัฐ และผู้คนในชุมชนที่ถกเถียงกัน
ซึ่งฝั่งชุมชนมองว่าพวกเขาอยู่ที่นี่มานานมากแล้ว แต่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน รวมถึงระบบบำบัดน้ำที่ไม่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ก่อนเคยตกปลาได้ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาน้ำเสียจนวิถีชีวิตดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ฝั่งภาครัฐเมืองเชียงใหม่มองว่าไม่สามารถสร้างอาคารได้ เพราะร่นออกมาในคลอง จนทำให้เกิดน้ำในคลองเน่าเสีย
“ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องเป็นความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝั่ง ผมจึงนำแรงบันดาลใจจากกลุ่ม Archigram สถาปนิกอังกฤษเจ้าของผลงาน Plug in City ซึ่งเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ปรับเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภคได้ตามต้องการ มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน โดยผลงาน Illegal Settlement in Chiang Mai ผมออกแบบเป็นแนวดิ่ง เนื่องจากระบบนิเวศเดิมเป็นพื้นที่ซึมน้ำ หากสร้างให้สูงขึ้นไปจะรักษาระบบนิเวศเดิมได้”
“ส่วนสำคัญของงาน ผมคิดว่าอยากให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างทุกฝ่าย เช่น ทางภาครัฐของเชียงใหม่ อาจจัดสรรโครงสร้างหลัก เช่น ระบบต่าง ๆ ส่วนชุมชนอาจเป็นผู้ร่วมออกแบบอาคารเอง เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยให้พื้นที่อยู่อาศัยภายในสามารถปรับเปลี่ยนได้เรื่อย ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละบ้านไม่ใช่สร้างเพียงครั้งเดียวแล้วจบ”
“นอกจากนี้ ยังออกแบบให้บ้านของชาวบ้านมีพื้นที่ใต้ถุนอันเป็นพื้นที่สาธารณะของบ้าน หรืออาจเป็นพื้นที่จอดรถ แต่จะต้องมีความร่วมมือกันเพื่อช่วยเรื่องของระบบการบำบัดน้ำเสีย ผลงานชิ้นนี้อาจเกิดขึ้นจริงได้ยาก แต่ผมคิดว่าถือเป็น statement ให้เกิดจากการเข้าใจกันจากหลาย ๆ ฝ่ายมากกว่า เพื่ออนาคตอาจนำไปพัฒนาโครงการอื่นต่อไปได้อีก”
สำหรับ “ทรวงชนก” มองว่า ผลงานออกแบบ Melodium มาจากการมองเห็นปัญหามากมายที่เกิดขึ้นรอบตัวของมนุษย์ อันก่อให้เกิดภาวะเครียด ไม่ว่าจะสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม ดิฉันจึงได้ศึกษาว่าอะไรที่สามารถช่วยบรรเทามนุษย์ได้
จนมาพบบทความของนักธุรกิจชาวอเมริกันคนหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่มนุษย์ต้องการเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตในสังคม มี 3 ด้าน ได้แก่ ความปลอดภัย (safety) การมีส่วนรวม (belonging) และการมีความสำคัญ (mattering)
“ดังนั้น เมื่อมนุษย์มีความต้องการพื้นฐานทั้ง 3 ด้าน ก็จะเข้าสู่สภาวะ smart state หรือสภาวะที่สามารถคิดวิเคราะห์ คิดเชิงสร้างสรรค์ และมีความรู้สึกร่วมไปกับผู้อื่นได้ (empathy) ฉะนั้น งานออกแบบของดิฉันจึงใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางเพื่อบรรเทาความเครียดของผู้อยู่อาศัย”
“โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการผสมผสานระหว่างดนตรี และสถาปัตยกรรม เพื่อให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลาย Melodium จึงเป็นการออกแบบตกแต่งภายในโครงการริมน้ำ ที่มีพื้นที่สำหรับนั่งชมวิว และสามารถเล่นดนตรีได้ด้วยตัวอาคาร”
“โดยเปรียบอาคารเป็นเหมือนดนตรี ส่วนมนุษย์ที่อยู่ในอาคาร คือ นักดนตรี ซึ่งดิฉันคิดไอเดียนี้ขึ้นมาจากกลไกความดันอากาศที่เกิดจากความแรงของคลื่นน้ำที่มากระทบอาคาร ส่งออกเป็นเสียงสูงต่ำตามท่อเสียง ทั้งยังให้ผู้คนเล่นดนตรีในอาคารได้คล้ายกับการเล่นเปียโน หรือออร์แกน”
“โดยใช้เท้าเหยียบคีย์จนเกิดเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนสามารถผ่อนคลายไปกับเสียงเพลงของธรรมชาติ จนช่วยบรรเทาความทุกข์ความเครียดของผู้คนทุกเพศทุกวัย ด้วยการใช้สุนทรียะในการเยียวยาจิตใจ และอารมณ์เพื่อเป็นสถานที่สังสรรค์ของชุมชน”
“โครงการนี้มีขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สังสรรค์ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ฟังเพลงหรือพักผ่อน ทั้งยังเป็นพื้นที่ออกกำลังกายหรือเป็นพื้นที่จัดแสดงก็ได้ เพราะเราออกแบบให้มีความ universal ปรับได้ทุกการใช้งาน และเปลี่ยนไปตามบริบทของผู้คนในชุมชนนั้น ๆ”
นับว่าไม่ธรรมดาเลย