สจล.ขานรับนโยบาย อว. ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนบริการ 3 หมื่นราย

ศูนย์ฉีดวัคซีน ศจล.

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ขานรับนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้ง “ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สจล.” รุดเสริมภูมิคุ้มกันหมู่นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้สามารถเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติโดยเร็ว

โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมนักศึกษาและบุคลากร สจล.ที่มีกว่า 3 หมื่นราย ก่อนขยายผลการฉีดวัคซีนไปยังกลุ่มบุคคลที่ทำงานเพื่อสาธารณะ โดยเปิดให้บริการวัคซีนวันแรก 24 พฤษภาคม 2564 ผ่านมา

ศจล.ศูนย์ฉีดวัคซีน

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล.ขานรับนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้ง “ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สจล.” จุดกระจายวัคซีนนอกโรงพยาบาลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกับจำนวนนักศึกษา และบุคลากรที่มีกว่า 30,000 ราย เพื่อให้สถาบันสามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติโดยเร็ว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

“เมื่อฉีดวัคซีนได้ครบจำนวนตามเป้าหมาย จะดำเนินการให้กลุ่มบุคคลที่ทำงานเพื่อสาธารณะ ซึ่งมีความเสี่ยงจากการทำงานร่วมกับบุคคลอื่นจำนวนมาก ลงทะเบียนเข้ารับสิทธิการฉีดวัคซีนเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งวัคซีนให้สถาบันได้วันละ 1,000 โดส โดยที่บุคลากรทางการแพทย์ จากคลินิกเวชกรรม คณะแพทยศาสตร์ สจล. รวมถึงโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) จะเป็นผู้ดำเนินการให้ชาว สจล.ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างทั่วถึง”

สำหรับศูนย์ดังกล่าว พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนอย่างเป็นทางการวันแรก สำหรับนักศึกษาและบุคลากร สจล. ผ่านทาง https://co-vaccine.kmitl.ac.th ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ โดยพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุญนาค) สจล.

Advertisment

“รศ.นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์” รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) กล่าวเสริมว่าสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อป้องกันตนจากเชื้อดังกล่าว นอกเหนือจากสวมแมสก์ ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แล้ว สิ่งที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงคือการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายเชื้อระหว่างบุคคล พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อีกทั้งเชื้อโรคยังมีความอันตราย หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าการฉีดวัคซีน

รศ.นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์
รศ.นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH)

“เพราะที่ผ่านมาในทางการแพทย์ยังไม่พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน หากแต่พบเฉพาะผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ ในสัดส่วน 2 : 100 ราย กล่าวคือในจำนวนผู้ติดเชื้อ 100 รายจะพบผู้เสียชีวิต 2 ราย อย่างไรก็ดี ภายหลังการฉีดวัคซีนหากได้รับเชื้อ วัคซีนดังกล่าวจะช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อน ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้”

Advertisment

นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง