
คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com
ช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลเริ่มให้คนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทยอยเข้ารับการฉีดกันแล้วนะครับ ผมเองก็ไปรับการฉีดวัคซีนมาแล้วเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ ท่านก็ไปรับการฉีดวัคซีนกันบ้างแล้ว
เมื่อได้รับวัคซีนแต่ละคนจะมีการสนองตอบกับวัคซีนที่แตกต่างกันไป จากน้อยไปหามาก บางคนก็อาจจะแทบไม่มีอาการอะไรเลย บางคนก็อาจจะปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อตัว หนาวสั่น ฯลฯ แล้วอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังจากการฉีดวัคซีน
ปัญหาที่เราจะพูดกันวันนี้ คือ เรื่องการลาของพนักงานที่เกิดจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนนี่แหละครับ
มีคำถามอยู่ 2 ข้อ คือ
1.ถ้าพนักงานลาในกรณีนี้ควรให้เป็นลาป่วยหรือลากิจ เพราะไม่ใช่เป็นการเจ็บป่วยตามปกติ
2.ในกรณีที่พนักงานมีอาการเยอะกว่าปกติแล้วลาเกิน 3 วัน แต่พักอยู่ที่บ้านแล้วไม่ได้ไปหาหมอ แต่พนักงานกินยาพาราเซตามอลลดไข้เอาเอง จะทำยังไงเพราะพนักงานไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง
ผมขอตอบจากความเห็นส่วนตัวของผมอย่างนี้ครับ
1.ผมเห็นว่าควรถือเป็นการลาป่วยเพราะเป็นผลข้างเคียงมาจากการฉีดวัคซีน แม้จะไม่ใช่เป็นการเจ็บป่วยตามปกติทั่วไปก็ตาม แต่อาการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นอาการป่วยครับ เพราะถ้าจะให้พนักงานลากิจยิ่งจะทำให้ไม่สมเหตุสมผล
เนื่องจากการลากิจควรจะเป็นเรื่องของการไปทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ เช่น ลากิจเพื่อไปแต่งงาน, ลาบวช, ลาไปซื้อขายโอนที่ดินของพนักงาน เป็นต้น
2.ในกรณีพนักงานบางคนที่อาจจะมีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมากกว่าคนอื่น ๆ แล้วจำเป็นต้องลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป แล้วไม่ได้ไปหาหมอ โดยพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หากเป็นเช่นนั้นจริงบริษัทก็ควรอนุญาตให้ลาป่วยโดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์มาแสดงก็ได้
เพราะพนักงานไม่ได้ไปหาหมอเนื่องจากอาการดังกล่าวมีมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งคนที่จะมีอาการมาก ๆ จนต้องหยุดเกิน 3 วันไม่น่าจะมีมาก ซึ่งถ้าพนักงานลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป หัวหน้าอาจจะไปเยี่ยมลูกน้องเพื่อดูว่ามีอาการมาก-น้อยแค่ไหนก็ได้นะครับ
จากกรณีดังกล่าวผมหวังว่าคงไม่มีผู้บริหารบริษัทไหนจะมาเอาเป็นเอาตายกับใบรับรองแพทย์ในกรณีนี้นะครับ เพราะคุณหมอหลาย ๆ ท่านก็ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปในเวลาประมาณ 2-3 วัน
นอกจากคนที่มีอาการข้างเคียงหนักมาก ๆ (ซึ่งคุณหมอบอกว่ามีน้อยมาก ๆ ที่จะมีอาการหนัก) ถึงกับแอดมิตเข้าโรงพยาบาล นอกนั้นก็นอนพักอยู่บ้านสักระยะก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเองมาทำงานได้ตามปกติ
ผมก็เลยสรุปว่ากรณีดังกล่าวให้ดูตามข้อเท็จจริง และปฏิบัติกับพนักงานแบบใจเขาใจเราโดยไม่มองพนักงานในแง่ร้ายให้มากจนเกินไป แบบจ้องจับผิดว่าพนักงานจ้องจะหยุดกินเปล่าแบบเอาเปรียบบริษัท
ในขณะที่พนักงานที่ดีก็ไม่ควรอาศัยจังหวะนี้ทำมั่วนิ่มลาป่วยเอาเปรียบบริษัท ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้มีอาการข้างเคียงมากจนถึงขนาดต้องหยุดงาน
ผมเชื่อว่าในองค์กรที่เข้มแข็ง หรือ healthy organization และมีปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์น้อยไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องที่เราคุยกันในวันนี้
แต่ถ้าองค์กรไหนเป็น “องค์กรเป็นพิษ” หรือ “unhealthy organization” ก็เชื่อได้ว่าเรื่องทำนองนี้จะกลายเป็นดราม่าระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร หรือกับ HR ได้เสมอ
ก็เลยปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยคำถามว่า…วันนี้องค์กรของท่านอยู่ในประเภทไหนครับ ?