ไทยตกชั้น Tier 2.5 ขอมือโปร ILO ติวเข้มขยับอันดับ

อภิญญา สุจริตตานันท์
อภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ขณะนี้ประเทศไทยตกอันดับการแก้ไขการค้ามนุษย์มาอยู่ที่ Tier 2 (Watch List) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 คือ ประเทศที่ไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ยังพบว่ามีการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น

จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2564 (TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ (1 กรกฎาคม 64) โดยมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้ไทยหล่นไปอยู่ใน Tier 2 Watch List ซึ่งนับเป็นปัญหาท้าทายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขให้เป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย

เปิดเหตุผลไทยอยู่ Tier 2

“อภิญญา สุจริตตานันท์” อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่าการอยู่ใน Tier 2 หรืออาจจะเรียกว่า Tier 2.5 ก็ว่าได้นั้น มีข้อกังวลหลากหลายประเด็นที่เกิดขึ้นจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอก 2 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร คือ

1) พบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาตามตะเข็บชายแดน เพื่อเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย

2) การประกาศล็อกดาวน์และประกาศให้แรงงานผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องมีจำนวนมากตามสถิติของกระทรวงแรงงาน

ADVERTISMENT

3) ตามสถิติในการจับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวมถึงการตัดสินในคดีค้ามนุษย์ในปี 2563 ที่ผ่านมาน้อยลงมาก 4) กลุ่มแรงงานบังคับ มีหลายคดีที่ไม่สามารถระบุคนทำผิดได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัยจากการลดอันดับในครั้งนี้นั้น “อภิญญา” ระบุว่า ที่กฎหมายของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ส่งผลให้ ILO มองว่าไทยยังไม่มีความพยายามมากพอที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ จึงทำให้อันดับลดลงในขณะที่ฝ่ายไทยก็มองว่าแม้จะเป็นกฎหมายไทยก็ตาม แต่มีการเทียบเคียงตามหลักสากล

ADVERTISMENT

อีกทั้งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้กฎหมายกำกับดูแลเข้มข้นในเรื่องของ “บทลงโทษ” เพราะถือว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ทำลายเสรีภาพและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ระวางโทษ จำคุก 4-12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-1.2 ล้านบาท

ส่วนการกระทำกรณีที่กระทำกับผู้มีอายุเกินกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ต้องระวางโทษหนักขึ้น ตามควรกรณี รวมถึงหากกระทำความผิดจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเป็นโรคร้ายแรง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8-20 ปี ปรับตั้งแต่ 8 แสนบาท จนถึง 2 ล้านบาท เป็นต้น

“เรามองว่าการพบผู้กระทำความผิดด้านค้ามนุษย์น้อยลงนั้น น่าจะมาจากกฎหมายที่เข้มข้นมากขึ้น และในการร่างหรือการแก้ไขกฎหมายเทียบเคียงตามหลักสากล ไม่ได้เขียนกฎหมายขึ้นมาเอง แล้วใช้เอง ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องอธิบายให้กับองค์กรระหว่างประเทศให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น”

ดึง ILO เป็นพี่เลี้ยง

ทั้งนี้ “อภิญญา” ระบุเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ถูกต้องตามที่ ILO กำหนด จึงได้หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ประสานงานกับ ILO ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเป็น “พี่เลี้ยง” โดยเฉพาะในเรื่องของหลักมนุษยธรรม หรือแนะนำมาตรการที่ทำให้อันดับของไทยดีขึ้นบนพื้นฐานที่ว่าต้องไม่ขัดกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่น สร้างระบบการคัดแยกเหยื่อ เป็นต้น

“การประกาศ lockdown เพื่อคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ตาม จะต้องมีการปิดสถานประกอบการ พร้อมทั้งขอความร่วมมือแรงงานให้อยู่-ทำงานที่บ้าน (WFH) แต่แม้แต่นายจ้างก็ไปไหนไม่ได้เช่นกัน แต่เขาก็คิดว่าเป็นเรื่องการทำผิดต่อแรงงาน ปิดกั้นอิสระ เสรีภาพ ในประเด็นค้ามนุษย์ ซึ่งในความจำเป็นคือต้องการสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19”

“อภิญญา” ระบุอีกว่า ปัจจุบันในประเทศมีสถานคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นสถานที่พักพิง ดูแลเหยื่อจากคดีค้ามนุษย์ตามที่กฎหมายสากลกำหนด ขณะเดียวกันต้องเข้าใจก่อนว่า กฎหมายด้านแรงงานของแต่ละประเทศต่างก็มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศ

และเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ตัดสินใจที่จะนำแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องให้ขึ้นทะเบียนโดยไม่ดำเนินการทางกฎหมายในขณะนี้ เพราะการเข้าระบบเป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายของไทยนั้นยังจะได้รับเข้าสู่ระบบประกันสังคม

แต่เงื่อนไขต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกับแรงงานไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับแรงงานในสถานการณ์วิกฤต

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างไม่ถูกต้องนั้น ยังมีองค์กรเอกชน (NGO) ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบเชิงลับกับแรงงานโดยตรง โดยที่หน่วยงานภาครัฐหรือแม้แต่จ้าของสถานประกอบการที่ไม่ทราบเช่นกันว่า มีการสำรวจข้อมูลกันถึงหน้าโรงงาน แต่เมื่อพบการกระทำดังกล่าวได้รับการอธิบายว่า หากการสอบถามต่อหน้านายจ้างพนักงานและลูกจ้างอาจจะไม่ได้พูดตามความจริง ทั้งที่ในทางปฏิบัติควรขออนุญาตเจ้าของสถานประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐได้

เปิดสถิติค้ามนุษย์ปี’63

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า สำหรับสถิติจำนวนคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2521 โดยกระทรวงยุติธรรม ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลทั่วราชอาณาจักร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2564) รวม 556 คดี แบ่งเป็นคดีที่มีการพิพากษาที่พิจารณาแล้วเสร็จ 420 คดี

จำแนกเป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษรวม 378 คดี คดีที่ศาลยกฟ้อง 14 คดี และคดีที่จำหน่าย 28 คดี ซึ่งคิดเป็นปริมาณคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ หรือคิดเป็น 75.54% ของปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณา ขณะที่ในปี 2561-2562 ที่ผ่านมามีคดีที่เข้าสู่การพิจารณารวม 650 คดี คดีที่พิพากษาแล้ว 38 คดี คิดเป็น 70% ของคดีที่เข้าสู่การพิจารณา

ขณะที่ตามรายงานการตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยง ทั้งแรงงานเด็ก แรงงานบังคับแรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในปี 2563 ได้ตรวจสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยงรวม 475 ลำ มีแรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายรวม 61,391 คน และเพื่อคุ้มครองแรงงานในเรือประมงรวม 22 จังหวัดติดทะเล เพื่อคุ้มครองแรงงานในเรือประมง พร้อมทั้งได้รับผลประโยชน์ ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด มิให้มีการใช้แรงงานเด็กในเรือประมงทะเล แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้านแรงงานในรูปแบบที่เลวร้ายมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการตรวจเรือประมงทะเลรวม 475 ลำ มีแรงงานได้รับการคุ้มครองรวม 6,713 คน

สำหรับ 4 ระดับของ Tier ประกอบด้วย Tier 1 มาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ ทุกประการ Tier 2 ไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำในการกำจัดการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน

ตามมาด้วย Tier 2 (Watch List) ประเทศที่ไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำในการกำจัดการค้ามนุษย์ มีความพยายามแก้ปัญหา แต่กลับมีการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือไม่สามารถส่งหลักฐานชี้แจงในปีที่ผ่านมาได้

และ Tier 3 คือ ประเทศที่ไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำในการจัดการการค้ามนุษย์ทุกประการ และไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหา