“พลเอกประยุทธ์” กล่าวปาฐกถาในประชุมสุดยอดผู้นำ GCNT Forum 2021 หารือแนวทางลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชวนเอกชนปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปี 2565 และประกาศส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด และใช้รถยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน ภายในปี 2578
วันที่ 11 ตุลาคม 2564 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์ Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021
ภายใต้แนวคิด “A New Era of Accelerated Actions”การประชุมผู้นำธุรกิจไทยทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสหประชาชาติ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิก GCNT 74 องค์กรในประเทศไทยจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน
โดยนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) นับวันยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น World Economic Forum เป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของโลก ล่าสุดคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รายงานว่า หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซียลเซียส จะทำให้น้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 170 โดยเฉพาะภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูง เช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ย่อมจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั่วโลกถึง 1.1 เมตร ในปี ค.ศ.2100 ซึ่งเราจะเห็นว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย ประเทศไทยก็ประสบภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ขณะนี้รัฐบาลเองก็กำลังเร่งแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ประสบภัยในหลายพื้นที่
“ผมยอมรับว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจากปัญหา climate change โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจากน้ำท่วม พื้นที่แนวชายฝั่ง และการทรุดตัวของดิน และเมื่อปี 2563 จาก global climate lisk 2020 ได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจาก climate change มาเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ฉะนั้นในอนาคตประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์สภาพอากาศรุนแรง เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือวาตภัย ที่ยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ประเทศ มีต้นทุนในการบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงควรมีการเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน อย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน”
อย่างไรก็ดี รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ ที่ผ่านมายังได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสให้กับเลขาธิการสหประชาชาติด้วยตนเองเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งเวทีสหประชาชาติได้ใช้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีสเป็นแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค
ที่ผ่านมาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดกระแสการต่อต้านในสินค้าบางประเภทแล้ว เช่น กรณีการต่อต้านน้ำมันปาล์ม ที่ผลิตโดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในสหภาพยุโรป เนื่องจากเห็นว่าการปลูกปาล์มทำให้เกิดการบุกรุกป่ามากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันในสหภาพยุโรป (อียู) อยู่ระหว่างร่างระเบียบมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon border Adjustment Mechanism) ซึ่งอาจจะกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของมาตรการกีดกันทางการค้า และอาจจะต้องมีการฟ้องร้องกันภายในกรอบขององค์กรการค้าโลก ทั้งนี้คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566ในการควบคุมสินค้า อาทิ ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก เหล็กกล้า และอลูมิเนียม และมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังสินค้าอื่น ๆ ในอนาคต ขณะเดียวกันก็เริ่มมีกระแสในสหรัฐ และแคนาดา ที่พิจารณาใช้มาตรการคล้ายคลึงกันอีกด้วย
เพื่อเป็นโอกาสที่ไทยจะพลิกโฉมประเทศไปสู่เศรษฐกิจการสร้างคุณค่า จะนำพาซึ่งการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ เป็นโอกาสที่เราจะสร้างพลวัตใหม่ให้แก่เศรษฐกิจของเรา และเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด ดังนั้นไทยต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้ และต้องเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม โดยสามารถเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ และใช้ประโยชน์จากกองทุนระหว่างประเทศในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซ และการปรับตัวท่ามกลางผลกระทบและสร้างภูมิคุ้มกัน นอกจากนั้นไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการทวิภาคี เพื่อจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ และโครงการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้ในการลดการป่อยก๊าซภายในองค์กรได้
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยได้ประโยชน์จากกลไกโครงการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2558 และกำลังขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่น ๆ และเมื่อคำนึงถึงทิศทางโลก ผมเล็งเห็นว่าภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องปรับตัว ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่าย แต่ผมขอย้ำว่าการไม่ปรับตัวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่า ภาคเอกชนของไทยหลายบริษัทเริ่มปรับตัวแล้วก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะพยายามเต็มที่ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ขณะนี้รัฐบาล อยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการพัฒนาที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ โดยภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงพลังงานก็จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2565 รัฐบาลเองก็ได้บรรจุประเด็น climat change ในนโยบายหลักประเทศภายใต้กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน โดยมีหมุดหมายที่สำคัญคือ หมุดหมายที่ 10 ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยง จากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสองหมุดหมายที่จะตอบประเด็น climate change โดยตรง
ขณะเดียวกันรัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะเป็นกฏหมายครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ ทั้งการจัดเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจก การลดก๊าซ การปรับตัว และการส่งเสริมหน่วยงาน และองค์กรท้องถิ่นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินการในระดับประเทศ
รวมถึงการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG เน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อันเป็นการต่อยอดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย ที่เน้นสร้างการเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 เรื่อง climat action รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่นๆ ได้เร็วขึ้น และขณะเดียวกันผมเห็นว่าการแก้ไขปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เป็นอีกแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหา climat change ได้ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีองค์ความรู้ และมีภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิโครงการปลูกป่าชายเลน จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และยังสามารถป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งได้อีกด้วย
ในเรื่องนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปี 2565 ผมขอเชิญชวนภาคเอกชนมีส่วนร่วมโครงการนี้ รวมทั้งการริเริ่มโครงการอื่น ๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีการปรับตัวตามทิศทาง และรากฐานใหม่ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ
โดยที่ผ่านมารัฐบาลช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทำความเย็นในการลดละเลิกใช้สารไฮโดรคลอออโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) ที่ทำลายชั้นบรรยากาศและก๊าซเรือนกระจกสูง และล่าสุดมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไห้ฟ้า และเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2578
“ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การติดตามประเมินการ ดำเนินการตามแผน ที่กำหนดไว้เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเพื่อให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย ปรับตัวและก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามทิศทางของไทยและของประชาคมโลกได้อย่างมั่นใจ ผมเชื่อว่าภาคเอกชนไทยจะเป็นผู้นำเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและบริการ ภาคเอกชนหลายบริษัทให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างดียิ่ง ในการนำร่องต่าง ๆ อาทิ โครงการจัดทำฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่มีผลิตภัณฑ์ในโครงการเกือบ 300 รายการ และโครงการในสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทยและภาคี ในการร่วมส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) ในการก่อสร้างและเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งถือเป็นทางเลือกในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยกว่า
ประการสำคัญคือการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของบริษัทต่าง ๆ และขยายเป็นเครือข่าย โครงการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบทบาทของภาคเอกชนนั้นสำคัญในการขับเคลื่อนให้ไทยประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา climat change และผมหวังว่าภาคเอกชนที่ดำเนินการแล้วจะขยายความร่วมมือต่อไปยังภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อให้เราได้ดำเนินการอย่างแข็งขันขึ้นอีก”