การดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจในปัจจุบันได้รับผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้องค์กรธุรกิจในไทย และทั่วโลกต่างเผชิญกับความท้าทายในการทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
โดยจากผลสำรวจเพื่อจัดอันดับ Top Business Priorities ในปี 2564-2565 ของการ์ทเนอร์ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ พบว่าซีอีโอส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหัวใจสำคัญ
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล (G-Able) องค์กรผู้นำการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัลโซลูชั่นครบวงจร ที่ดำเนินงานมากว่า 32 ปี จึงเห็นช่องทางการพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ให้มากที่สุด
ทั้งยังตั้งเป้าทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปจนถึงพัฒนาบุคลากร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้กลยุทธ์ “Beyond Limits ก้าวข้ามทุกข้อจำกัด สู่อนาคตที่เติบโตและยั่งยืน” โดยมี “ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เป็นผู้นำในการเดินหน้ากลยุทธ์
“ดร.ชัยยุทธ” กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ จากที่เคยมองว่าการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ทำก็ดี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร ต้องเปลี่ยนมาเป็น ต้องทำถึงจะอยู่รอด ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2564-2565 จะเห็นว่าสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่
หนึ่ง การปรับกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว
สอง การนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI-artificial intelligence)
สาม การปรับเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นแบบแอนะล็อกไปเป็นดิจิทัล (digitalization)
สี่ การทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้า และบริการได้จากหลากหลายช่องทาง
ห้า การทำงานบนระบบคลาวด์
หก การปรับเปลี่ยนภายในองค์กร ด้านบุคคลและโครงสร้าง
“ดังนั้น จีเอเบิลจึงจับเทรนด์ดังกล่าวมาพัฒนาเทคโนโลยี 4 ด้าน เพื่อตอบโจทย์การให้บริการลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งธนาคาร, มหาวิทยาลัย, อสังหาริมทรัพย์, ผู้ให้บริการเครือข่าย รวมไปถึงบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของประเทศ โดยประกอบด้วย G-cloud ส่งเสริมการทำงานแบบยืดหยุ่นขององค์กรรุ่นใหม่ในทุกอุตสาหกรรม เปลี่ยนจากการทำงานแบบติดอยู่กับที่ สู่การทำงานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ผ่านระบบคลาวด์”
“G-security ส่งเสริมความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ที่นับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจุดอ่อนของเทคโนโลยีคือความปลอดภัย ดังนั้น จีเอเบิลจะเน้นเรื่องนี้ ป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ป้องกันข้อมูลรั่วไหล และสร้างความตระหนักรู้ให้องค์กรต่าง ๆ,
G-big data กลุ่มโซลูชั่นที่มุ่งเน้นการจัดการบิ๊กดาต้าและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ และ G-RPA นำแรงงานหุ่นยนต์ดิจิทัล (robotic process automation) ตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนให้กับการดำเนินธุรกิจ”
“ดร.ชัยยุทธ” อธิบายว่า ผมเองมาเริ่มงานที่จีเอเบิลเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ด้วยเป้าหมายการปรับองค์กรสู่เทคคอมปะนี จากบทบาทเป็นบริษัท system integration (IS) หรือการเป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี สู่การเป็น IS++ ที่มีจุดเด่นและความแตกต่าง เช่นเดียวกับหลาย ๆ บริษัทในซิลิคอนวัลเลย์
“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงสร้างกลยุทธ์ Beyond Limits ที่จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยกลยุทธ์ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.กลยุทธ์ผันองค์กรสู่ System Integration Plus Plus (SI++) เพื่อทำโซลูชั่นที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการของลูกค้ามากขึ้น เน้นการให้บริการวางรากฐานทางเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดทางธุรกิจให้มีประสิทธิผลสูงสุด และปลอดภัยมากที่สุด”
2.กลยุทธ์ Transformation As a Service (TAAS) การหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการทำเรื่องของดิจิทัลทราส์ฟอร์เมชั่นแบบครบวงจร โดยนำเสนอโซลูชั่นที่ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์ไปจนถึงการต่อยอดทางธุรกิจ
และ 3.กลยุทธ์สร้างความแตกต่างด้วยการต่อยอด Own IP Platform แพลตฟอร์มที่เป็นลิขสิทธิ์ของจีเอเบิล 2 ตัว คือ Blendata (เบลนเดต้า) เพื่อช่วยองค์กรต่าง ๆ จัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ให้มีประสิทธิภาพ และ InsightEra (อินไซท์เอรา) ช่วยการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าในเชิงลึก และวางกลยุทธ์ในการทำการตลาดดิจิทัล
“ซึ่งสมการแห่งความสำเร็จ 3 ข้อ ผมเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้พนักงานทุกคนก้าวไปถึงจุดหมายของบริษัทร่วมกัน คือ vision ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน, faith to believe มีศรัทธาและเชื่อมั่นในการก้าวไปสู่เป้าหมาย และ courage to do กล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่าง ออกจากพื้นที่ปลอดภัย ทำแต่สิ่งที่ถนัด (comfort zone) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป”
“ผมเชื่อว่าการจะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความเชื่อมั่นของคนในองค์กร และทัศนคติของพวกเขาที่ต้องมีฝันที่ยิ่งใหญ่ และเป้าหมายร่วมไปกับบริษัท ทั้งยังต้องเป็นคนไม่ยึดติด (open minded) และมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่แข็งแรง”
“ดร.ชัยยุทธ” กล่าวด้วยว่า จุดแข็งอย่างหนึ่งของบริษัทคือการมีนักพัฒนาระบบและซอฟต์แวร์ (developer in-house) จำนวนมาก โดยจากจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 1,300 คน แบ่งเป็นนักพัฒนาระบบและซอฟต์แวร์ถึงกว่า 1,000 คน ที่สำคัญ ในธุรกิจนี้ ทาเลนต์ค่อนข้างหายาก และมีการแย่งตัวกันสูง แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาอยากมาอยู่กับเรา คือชื่อเสียงของบริษัทที่มีกว่า 32 ปี
“นอกจากนั้น เราให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้คนเทครุ่นใหม่มาเติมเต็มกำลังคนสายเทคในองค์กร โดยเรามีการทำโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาหลัก ๆ 2 โครงการ ได้แก่ 1.G Beyond Limits Career เป็นการเฟ้นหาผู้ร่วมงานใน 4 กลุุ่มดิจิทัลเทคโนโลยีที่มาแรงในตอนนี้ คือ คลาวด์, ความปลอดภัยด้านไซเบอร์, บิ๊กดาต้า และ RPA โดยล่าสุดจัดไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2564”
ที่สำคัญ ภายในงานมีกิจกรรม G Inspire ซึ่งเป็นงาน talk แบบออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้เทรนด์ดิจิทัลเทคโนโลยี และสร้างแรงบันดาลใจสู่ในสายอาชีพเทคโนโลยีจากกูรูและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับองค์กรจีเอเบิลในตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้นด้วย
2.โปรแกรม G Freshy & Accelerator Program เพื่อให้นิสิต-นักศึกษาจบใหม่ที่กําลังมองหางานด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือนิสิต-นักศึกษาที่กําลังศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาคอมพิวเตอร์, ไอที หรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่กําลังมองหาสถานที่ฝึกงาน ด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ
โดยผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมทำงานจริง พร้อมกับพัฒนาศักยภาพจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัท มีเงินเดือน, เบี้ยเลี้ยงให้ตลอดระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ และหลังจากจบโครงการจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของบริษัท โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก
“ดร.ชัยยุทธ” บอกว่า วัฒนธรรมในองค์กรของจีเอเบิลเหมาะสมกับคนเจนวาย (Gen Y) ที่ชอบความอิสระ ต้องการทำงานที่ตอบโจทย์การสร้างคุณค่าให้ตัวเอง และมีความไว้เนื้อเชื่อใจพวกเขา ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในสายตาผู้บังคับบัญชา ซึ่งองค์กรของจีเอเบิลทำงานกันแบบพี่สอนน้อง ให้อิสระเรียนรู้ในสถานการณ์จริง ถ่ายทอดกันแบบโค้ช ไม่ใช่การออกคำสั่ง
“ตอนนี้จีเอเบิลทำงานจากที่บ้าน (work from home-WFH) 100% เราพบทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยการ WFH ในช่วงแรก พนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าการเข้าทำงานในสำนักงานแบบเดิมค่อนข้างมาก เพราะคนใช้เวลาทำงานมากกว่าเดิม
แต่หลังจากนั้นประสิทธิภาพการทำงานตกลงมา เพราะคนเริ่มตระหนักว่าการทำงานที่บ้านทำให้เส้นแบ่งชีวิตส่วนตัวกับการทำงานเลือนราง เนื่องจากสถานที่ทำงานกับสถานที่ใช้ชีวิตส่วนตัวเป็นที่เดียวกัน คนจึงเริ่มสร้างขอบเขตเพื่อความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว”
“ฉะนั้น การดูแลพนักงานที่ทำงานจากบ้าน เราให้ความสำคัญเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน จึงจัด COVID-19 Town Hall ออนไลน์ทุกเดือน เพื่ออัพเดตสถานการณ์ และอธิบายช่องทางที่พนักงานสามารถขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับโควิด-19 ครบทุกมิติ มีการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องสมุนไพรป้องกันการเจ็บป่วย และสิทธิประกัน
“นอกจากร่างกาย เรามองว่าโปรแกรมดูแลร่างกายและจิตใจของพนักงาน (employee wellness) ก็เป็นเรื่องสำคัญ เราจึงมีโปรแกรม Heart Talk ช่วยพูดคุยลดความเครียดระหว่างการทำงานที่บ้าน ผ่านระบบ teleconsulting, พอดแคสต์ และแชตบอต จนทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจ และมีความมุ่งมั่นในการทำงานมากขึ้น”
จนทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกวันนี้