เปลี่ยนวิธีคิด…ชีวิตเปลี่ยน

ประกอบบทความ
เอชอาร์ คอร์เนอร์

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา 
สลิงชอท กรุ๊ป

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสโค้ชผู้บริหารในองค์กรใหญ่ท่านหนึ่ง เราแลกเปลี่ยนกันในประเด็นเรื่องการทำงานแบบไซโลที่ต่างคนต่างทำ ต่างฝ่ายต่างโฟกัสในงานของตนเอง โดยไม่สนใจช่วยเหลือคนอื่น และไม่ได้คำนึงถึงเป้าหมายรวมขององค์กร จนในที่สุดก็สร้างความเสียหาย เพราะทุกคนไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

แต่องค์กรไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ เข้าข่ายทำงานเสร็จแต่ไม่สำเร็จ

เราคุยกันต่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาองค์กรสอนพนักงานให้ทำงานของตนเองให้ดีที่สุด เท่าที่ทำได้ ผ่านค่านิยม “Do your best” ที่รณรงค์กันมากหลายปีจนเห็นผล แต่อย่างว่า พออะไรก็ตามที่มากเกินไป ก็มีผลเสียทั้งนั้น

พอเห็นปัญหา ก็มาช่วยกันหาทางออก เราสองคนนึกถึงแนวทางเดียวกันคือการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานแบบใหม่ทำให้ทุกคนมีความคิดแบบมองออกนอก (outward mindset) คือ การคำนึงถึงคนอื่น และเชื่อว่าเราจะสำเร็จได้อย่างยั่งยืนก็ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้อื่นสำเร็จก่อน

แนวคิดนี้มาจากหนังสือชื่อ “The Outward Mindset” ของสถาบัน “The Arbinger Institute” เนื้อหาบอกถึงวิธีการออกจากกล่องใบเล็กที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยตัวเราเอง โดยการฝึกฝนให้เป็นคนมองออกนอก (outward) แทนการมองที่ตัวเองเพียงอย่างเดียว (inward mindset)

หนังสือได้ยกตัวอย่างบริษัทแห่งหนึ่งที่ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา ไม่ว่าบริษัทจะพยายามทวงถามเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผล พนักงานจึงช่วยกันระดมสมองโดยการลองคิดแบบมองออกนอก (outward mindset) ว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้

Advertisment

ซึ่งพบว่าเป็นเพราะคนพวกเขาเหล่านั้นขาดรายได้ ไม่มีงานทำ หรือใช้เงินไม่เป็น บริษัทจึงจัดตั้งโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การจัดหางาน, การอบรมเรื่องการบริหารเงิน, การสอนแนวทางการเริ่มทำธุรกิจเล็ก ๆ ด้วยตนเอง เป็นต้น

จนลูกหนี้ค่อย ๆ มีงานทำ และมีรายได้มากขึ้น ในที่สุดหนี้ที่เคยค้างชำระไว้ก็ได้รับการผ่อนจ่ายจนหมด

Advertisment

แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือ ความรู้สึกดี ๆ ที่ลูกหนี้มีให้กับองค์กร หลายคนพอลืมตาอ้าปากได้ ก็กลายมาเป็นลูกค้าที่เหนียวแน่นของบริษัทต่อไป ช่างเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมจริง ๆ

ความคิดแบบมองออก (outward mindset) ที่บริษัทนี้นำมาประยุกต์ใช้ มี 3 ขั้นตอนสำคัญ ย่อสั้น ๆ ให้จำได้ง่ายว่า “SAM” ประกอบไปด้วย

1.see other – มองให้ลึกถึงจุดมุ่งหมาย เป้าประสงค์ เหตุผล หรือปัญหาที่ผู้อื่นมี ทำความเข้าใจว่าเขาทำสิ่งนี้ หรือไม่ทำสิ่งนั้น เพราะอะไร ? เขาคิดอย่างไร ? มีปัญหาติดขัดตรงไหน ? พูดง่าย ๆ คือลองมองเรื่องที่เกิดขึ้นจากมุมของอีกฝ่ายหนึ่งบ้าง อาจทำให้เรามองเห็นปัญหาในหน้าตาที่ต่างไปจากที่เคยเห็นก็เป็นได้

2.adjust efforts – ปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด และแนวทางปฏิบัติของเรา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้มากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายไม่เพียงแต่ให้เกิดประโยชน์แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองด้วย พยายามค้นหาทางออกที่ชนะทั้ง 2 ฝ่าย (win-win) เขาก็ได้ เราก็ได้ ซึ่งการทำแบบนี้ จะช่วยสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนได้มากกว่าการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าเขาหรือเรา เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งสิ้น

3.measure impacts – เมื่อลองปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำงานโดยคำนึงถึงผู้อื่นให้มากขึ้นแล้ว ต้องหมั่นประเมินผลลัพธ์ที่ได้เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วยว่าวิธีการดังกล่าวส่งผลอย่างไร หากสัมพันธภาพดีขึ้น ทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงานร่วมกันสูงขึ้น ประโยชน์เกิดขึ้นทั้งกับเขา และแก่เราแล้ว ก็นับว่าเป็นแนวทางที่ดีให้ทำต่อไป

แต่หากยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ ก็หาทางปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอหนทางที่ใช่

หลังจากถกกันได้สักพักใหญ่ ๆ ก็เห็นดีเห็นงามตามกันว่าต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้กับพนักงานเรื่อง outward mindset จากนั้นจึงกำหนดให้แนวทางนี้เป็นวิถีการทำงานแบบใหม่ ใช้ทั้งกับบุคลากรภายในองค์กรด้วยกันเองและกับการให้บริการลูกค้าภายนอกด้วย

จริงอยู่ แม้ฟังดูอาจเป็นเรื่องยาก แต่การเดินทางไกล ต้องเริ่มต้นด้วยก้าวแรกก่อนเสมอ