ภารกิจสร้าง “คนดี” พัฒนาทุกมิติขับเคลื่อนประเทศยั่งยืน

ต้องยอมรับว่าตลอดเวลา 8 ปี และกำลังจะก้าวต่อเนื่องในปีที่ 9 สำหรับโปรเจ็กต์ “AIS AcademyFor Thais ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย”ภายใต้คอนเซ็ปต์ “JUMP THAILAND” ของกลุ่มบริษัท AIS

และกลุ่มอินทัชที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายที่มีเจตนารมณ์เดียวกันคือการพาประเทศก้าวข้ามวิกฤต ด้วยการสร้างคนดี พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงช่องทางการเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลก็ตาม

เพราะคนคือองค์ประกอบสำคัญที่จะพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้า คู่ขนานไปกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างคนในแบบที่สังคมต้องการคือ “คนดี”

ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง

กลุ่มบริษัท AIS จึงเปิดตัวพันธมิตรที่จะร่วมกันเป็นแรงส่งให้คนไทยพ้นวิกฤตต่าง ๆ ด้วยศักยภาพของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ด้วยการรวมกลุ่มในการพัฒนาประเทศ

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ภายในงานดังกล่าว นอกจากจะมีปาฐกถาพิเศษของ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็น “ก้าวกระโดดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

เบื้องต้น “ชวน” เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนคือพระบรมราโชวาทของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสว่า…บ้านเมืองมีทั้งคนดี และคนไม่ดี

Advertisment

ไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ หากแต่ต้องส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง นั่นหมายถึงว่าในเชิงการพัฒนาก็ควรส่งเสริมคนดีให้มาพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยาก

เมื่อเทียบกับการหาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่าง ๆ เพราะยุคปัจจุบันนวัตกรรมเหล่านั้นสามารถมาต่อยอดการพัฒนาได้

Advertisment

“คนดี” ในที่นี้ “ชวน” ขยายความให้ฟังว่าหากพิจารณาโครงสร้างของการปกครองบ้านเมืองที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ จะพบว่าทุกส่วนมีหน้าที่ช่วยกันพัฒนาประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะบัญญัติเรื่องของหน้าที่พลเมืองเอาไว้ รวม 10 ข้อ

โดยเฉพาะในข้อ 10 ระบุว่าจะต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการกระทำทุจริตทุกรูปแบบ นั่นหมายถึงว่ากฎหมายจะให้ความสำคัญกับเรื่องความไม่สุจริต ที่ถือว่าเป็น “อุปสรรค” ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไม่ว่าเราจะมีเครื่องมือดีหรือคนเก่งอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าคนบริหารไม่สุจริต ก็ยากที่จะพัฒนาประเทศต่อไปให้ยั่งยืนได้

“หลายครั้งที่บ้านเมืองหยุดชะงักจากปัญหาต่าง ๆ บางครั้งก็ไม่ได้คำตอบว่าเกิดจากอะไร ส่วนใหญ่มักโยนไปที่กฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ ไม่ก็โยนไปที่กฎหมายบ้าง หรือโยนไปที่รัฐธรรมนูญบ้าง

แท้จริงปัญหาล้วนเกิดขึ้นมาจากคนทั้งสิ้น แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีการเขียนป้องกัน ทำอย่างไรจะวางรูปแบบเพื่อให้ผู้บริหารมีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามามีบทบาทปกครองบ้านเมือง

หรือใช้อำนาจตามใจ คำปรารภในรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้ แม้แต่กฎหมายหลักของประเทศก็เป็นที่น่ากังวลว่าจะมีคนปราศจากคุณธรรม จริยธรรม เข้ามามีอำนาจ

ดังนั้น ทุกคนในประเทศล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองที่พาประเทศก้าวกระโดดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

นอกจากนั้น “ชวน” ยังปรารภในช่วงท้ายว่าการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคประเทศที่อยู่ในการดูแลของภาครัฐนั้นจะเห็นความไม่สุจริตเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่นโครงการทำถนน, ก่อสร้างสนามบินที่ควรมีอายุใช้งาน 10-20 ปีแล้วจึงซ่อมแซม

แต่กลับพบว่าในความเป็นจริง กลับใช้งานได้ 1-2 ปีเท่านั้น เพราะมีคนแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ อย่างไรก็ตามอยากจะเน้นย้ำในประเด็นนี้ว่าปัญหาคนดีจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ในหลวง ร.9 ทรงย้ำเรื่องการพัฒนาคนเอาไว้

“เพราะในฐานะที่พระองค์มีประสบการณ์สูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ ทั้งยังมองเห็นประเทศไทยมานับ 70-80 ปี ไม่ว่าจะมีกี่รัฐบาลผ่านไป

ก็ยังคงมุ่งไปเรื่องของการสร้างคนดี เรื่องนี้จึงสำคัญมากและขอย้ำว่าถ้าเราไม่มีคนดี ประเทศแม้ว่าจะไปข้างหน้าได้ แต่อาจจะไม่ยั่งยืน”

ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย

“กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัชกล่าวเสริมว่าสำหรับโครงการ AIS Academy For Thais ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย เป็นโครงการที่มีความพร้อม

เพราะเกิดขึ้นจากพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายมิติ อีกทั้งยังมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 15,000 คน ด้วยความพร้อม AIS จึงมั่นใจผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคือการกระโดดได้ไกลมากขึ้น

เพราะภารกิจคิดเผื่อจาก AIS Academy For Thais มี 3 ด้านคือ นวัตกรรม, ด้านการศึกษา และด้านพัฒนาอาชีพ

“ทั้ง 3 ด้าน จะช่วยยกระดับสังคมไทย พร้อมกับช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ภารกิจของ AIS Academy For Thais จึงเริ่มต้นจากภายในองค์กรก่อน

ซึ่งพนักงานได้สร้างสรรค์นวัตกรรมจนนำไปช่วยแก้ปัญหา และนำมาใช้ได้จริง เพราะบางเรื่องต่อยอดจนไปถึงการสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน หรือ Hackathon เพราะพนักงานเสนอเข้ามามากกว่า 4,000 คน

นอกจากนี้ ในแง่ของการศึกษายังมีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อครูไทย ผลักดันการสร้างนวัตกรรมการสอนยุคใหม่”

“อีกทั้งยังมีโครงการห้องสมุดดิจิทัลที่ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการขยายห้องสมุดสู่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

อีกทั้งในปัจจุบันการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ห้องเรียน จึงเกิดโครงการอุ่นใจอาสา พัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และเรียนรู้วิชาชีพ”

อุ่นใจอาสาพันธกิจสอนอาชีพ

“กานติมา” อธิบายต่อว่า JUMP THAILAND ถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากพันธมิตรต่างมีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน แต่ใช้ AIS Academy เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้

เป้าหมายคือไม่ได้ต้องการเติบโตเชิงธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องการคืนคุณให้กับแผ่นดิน ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการสร้าง“JUMP THAILAND” โดยมีแกนสำคัญ3 อย่างคือ Jump Over The Challenge การสร้างและพัฒนาอาชีพ, Jump with EdTech

การขยายการเรียนรู้ โดยเฉพาะผ่านระบบดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพของครู ผู้สอน และ Jump To Innovation หรือการทำงานด้านนวัตกรรม

“ความตื่นตัวเรื่องดิสรัปชั่นของสังคมไทย แต่กลับมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้ ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของการมองความต้องการของสังคม

และจากการลงมือศึกษาข้อมูลยิ่งพบว่าโรงเรียนชายขอบ หรือกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่าผู้อื่น ไม่สามารถเอื้อมมือไปถึงความต้องการ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราคิด ยิ่งเมื่อเกิดโควิด-19

เรามองว่าจะเห็นคนตกงานมากมาย เราจึงทำโครงการ ‘อุ่นใจอาสา’ ด้วยการนำทักษะมาแบ่งปันเพื่อให้พวกเขานำกลับไปต่อยอด และสร้างอาชีพได้”

มิติความฉลาดสร้างคนดี

“จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่าไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใด ๆ ขึ้นกับประเทศก็ตาม แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องการคือรูปแบบการทำงาน “เป็นทีม”

ดังนั้น การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว จึงสอดคล้องกับภารกิจของ พม. อย่างเช่น การฟื้นฟูประเทศ ฉะนั้น เมื่อภารกิจคิดเผื่อยังสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวง พม. อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการฟื้นฟูประเทศ

จากโครงการอุ่นใจถือเป็นโครงการที่ดี มีหลักการสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน หากต้องการให้เยาวชนอยู่รอดในภาวะวิกฤต จะต้องปลูกฝังเรื่องคนดี บวกกับทักษะให้เป็นคนเก่ง โดยเฉพาะคนดี ต้องซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และมีความอดทน เป็นองค์ประกอบ

นอกจากนี้ ยังต้องมองถึง “มิติความฉลาด” และประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วย ฉะนั้น เมื่อถอดบทเรียน และสรุปคำว่า “คนดี” จึงต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้

หนึ่ง ถ้าจะทำความดีต้องเริ่มจากตัวเองก่อน มีความคิดบวก สัมมาทิฐิ และคิดเผื่อเพื่อนมนุษย์

สอง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว แต่หากต้องการให้ก้าวกระโดดจะต้องเพิ่มความร่วมมือกับผู้ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน อย่างเช่นโครงการ AIS Academy For Thais ที่คาดว่าจะมีสมาชิกใหม่เข้าร่วม 500,000 คน

สาม ทำหน้าที่ตัวเองให้ครบถ้วน

สี่ อย่าหยุดแสวงหาความรู้

“ช่วงวิกฤตลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 วันนั้นทุนสำรองหมดประเทศ สถาบันการเงินล้มกว่า 56 แห่ง ขาดความน่าเชื่อถือ รัฐบาลชุดนั้นจึงนำคนมาบริหารที่มีความซื่อสัตย์ สุจริตมาเป็นทีมเศรษฐกิจ สมัยนั้นรัฐบาลต้องทำ 2 อย่างพร้อม ๆกัน

คือการรัดเข็มขัด ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างงานไปในตัวได้ด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งออก ต้องกู้เงิน

ชำระหนี้ภายในเวลาเดียวกัน และต้องมีวินัยในการเดินตามยุทธศาสตร์เพื่อให้ประเทศรอด สิ่งสำคัญหลังจากนั้นคือเราต้องพึ่งพาตัวเองให้เข้มแข็งก่อน”

ช้อปปี้-NIA พร้อมร่วมขับเคลื่อน

“สุชญา ปาลีวงศ์” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ ประเทศไทย กล่าวว่านโยบายของช้อปปี้ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ดังนั้น

การมีโครงการอุ่นใจอาสา ที่อยู่ภายใต้ “JUMP THAILAND” จึงเชื่อมั่นว่าคนไทยเป็นคนเก่ง มีความสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ยังขาด “โอกาส” เราจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วย “ต่อจิ๊กซอว์”

“ทั้งนั้นเพื่อลดความยุ่งยากในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เราจึงนำเครื่องมือในการขายแบบครบวงจรมาช่วย ตั้งแต่การชำระเงิน, การจัดส่งครอบคลุม พร้อมทั้งเปิดร้านค้าโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับผู้ร่วมโครงการ

เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาส และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ไปจนถึงการสร้างโอกาสต่าง ๆ นอกเหนือจากการซื้อขายแล้ว ยังมองว่าการพัฒนาจะยั่งยืนนั้นต้องมีองค์ความรู้เป็นอาวุธที่สำคัญด้วย”

“ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่าเดิมที NIA มีโครงการด้านพัฒนานวัตกรรมอยู่แล้วคือ ย่านนวัตกรรมอารีย์, ย่านนวัตกรรมสามย่าน ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย

และโครงการเหล่านี้ถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมเชิงลึก อีกทั้งยังเตรียมที่จะพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน อย่างเช่น AIS ในโครงการอื่นต่อไป

“ขณะนี้เตรียมแผนดำเนินการระยะที่ 2 (roadmap) เนื่องจาก NIA มีเป้าหมายที่ต้องการสร้างแบรนด์ให้กับองค์กร เพราะเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นได้

จึงเกิดความร่วมมือกับ AIS ที่มีความต้องการพัฒนาเหมือนกัน เพื่อพัฒนาย่านอื่น ๆ ให้กลายเป็นเมืองฉลาดรู้ผู้อาศัยในย่านนั้น ๆ จะมีองค์ความรู้และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันออกไป”

“สำหรับพื้นที่มีศักยภาพเป็นเมืองฉลาด จะต้องมีเทคโนโลยีที่ชัดเจน และมีนวัตกรรมทางสังคม ทั้งในแง่ของกายภาพ และสิ่งที่จะตามมาคือโลกความจริงเสมือนจะถูกแทนที่ด้วยดิจิทัลแผนที่ของย่านนั้น ๆ ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”