เอชอาร์ คอร์เนอร์ ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com
ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ที่มักจะเกิดการตั้งกระทู้แล้วมีดราม่าตามมาในโลกโซเชียล คือเรื่องที่ผมจั่วหัวเอาไว้ข้างต้นแหละครับ ผู้สมัครงานที่เจอคำขอแบบนี้ในห้องสัมภาษณ์ก็มักจะนำมาขอความเห็นในห้องต่าง ๆ บนโลกออนไลน์
ลองมาดูกันไหมครับว่า มีคำตอบอะไรจากชาวเน็ตกลับมาบ้าง ?
1.ดูได้ครับ แต่ดูได้แล้ว ผมขอยกเลิกเพื่อนนะครับ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของผม
2.เป็นสิทธิของเขาครับ เขากำลังรับคนแปลกหน้ามีความเสี่ยง เขาควรมีสิทธิรู้ตื้นลึกหนาบางก่อนจะเปิดให้เข้ามาในบ้าน
3.ต่างฝ่ายต่างใช้สิทธิก็เท่านั้น HR อาจต้องทำตามนโยบาย คุณใช้สิทธิของคุณ
4.ผมถือว่าเสียมารยาท เป็นผมคงไม่ไปร่วมงานด้วย
5.ถือว่าละเมิดพื้นที่ส่วนตัว ขัดแย้งกับหลัก privacy และ diversity คงร่วมงานกันไม่ได้
6.มองในแง่พนักงานก็ถือว่าเป็นการก้าวล้ำ มองในภาพของบริษัทก็ถือว่าเป็นการป้องกัน ไม่มีผิดไม่มีถูกเสมอกันทั้งสองฝั่ง
7.ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ ผมเชื่อว่าแต่ละคนจะมีเหตุผลเป็นของตัวเองที่จะตัดสินใจว่าควรให้บริษัทดูหรือไม่ให้ดู แต่สำหรับผม ผมมีข้อคิดอย่างนี้ครับ
1.เรื่องนี้เป็น “นโยบายของบริษัท” หรือเป็น “ความต้องการส่วนตัวของผู้สัมภาษณ์แต่ละคน” ถ้าเป็นนโยบายของบริษัท ผู้สัมภาษณ์จะต้องขอดูทุกคน (ด้วยการ add friend กับผู้สมัคร) แต่ถ้าเป็นความต้องการส่วนตัวของผู้สัมภาษณ์ก็จะมีการขอดูบ้าง ไม่ขอดูบ้าง เรื่องนี้ผู้บริหารควรจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเอายังไง
2.บริษัทจะใช้เกณฑ์อะไรที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการตัดสินใจหรือไม่ว่าการโพสต์แบบไหนบริษัทจะรับ หรือไม่รับเข้าทำงาน เช่น การโพสต์เรื่องการเมือง, เรื่องศาสนา, ความเชื่อแบบมูเตลู ฯลฯ ถ้าไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้วปล่อยให้เป็นดุลพินิจของผู้สัมภาษณ์แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน การขอดูเฟซบุ๊กก็ไม่มีประโยชน์ เพราะผู้สัมภาษณ์ก็จะตีความและตัดสินไปตามความรู้สึกของตัวเอง
3.บริษัทให้น้ำหนักกับการขอตรวจสอบเฟซบุ๊กกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ ของผู้สมัครแต่ละคน เช่น ผลงานใน portfolio, ความรู้และทักษะที่ตรงกับตำแหน่งงาน, บุคลิกภาพ, ไหวพริบและการแก้ปัญหา, การสื่อสารประสานงาน, การทำงานเป็นทีม, มนุษยสัมพันธ์ ฯลฯ
4.ถ้าผู้สมัครงานไม่ให้ดูเฟซบุ๊กเพราะถือสิทธิส่วนบุคคลและรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว (รู้สึกถูกบังคับให้รับ add friend ทั้งที่ไม่ใช่ friend) โดยที่ผู้สมัครรายนั้นไม่เคยโพสต์เรื่องเสียหายอะไร และผู้สมัครรายนั้นก็มีคุณสมบัติเหมาะตรงกับงานในตำแหน่งที่สมัคร บริษัทจะปฏิเสธไม่รับผู้สมัครรายนี้หรือไม่ หรือตัวผู้สมัครเองอาจจะปฏิเสธบริษัทเพราะไม่พอใจหรือไม่
5.ถ้าผู้สมัครเปิดเฟซบุ๊กไว้หลายบัญชีแล้วให้ผู้สัมภาษณ์ดูบัญชีที่แต่งไว้แบบเฉพาะกิจ บริษัทจะว่ายังไง
6.บริษัทมีเครื่องมือในการคัดกรองผู้สมัครงานที่ดีแล้วหรือยัง เคยให้ความรู้กับผู้สัมภาษณ์เพื่อเพิ่มทักษะในการสัมภาษณ์ เช่น structured interview บ้างหรือไม่ หรือยังปล่อยให้มีการสัมภาษณ์แบบจิตสัมผัส (unstructured interview) อยู่
7.ผู้สัมภาษณ์มีทักษะในการสัมภาษณ์และสังเกตผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติเหมาะตรงกับตำแหน่งงานมากน้อยแค่ไหน เพราะการสัมภาษณ์คือทักษะ และทักษะการสัมภาษณ์ก็ไม่ได้มาตามตำแหน่ง
8.ถ้าบริษัทรับผู้สมัครเข้ามาทำงานโดยไม่ต้องขอดูเฟซบุ๊ก แล้วไปประเมินกันในช่วงทดลองงานว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมควรจะบรรจุหรือไม่ผ่านทดลองงานจะดีกว่าหรือไม่
สุดท้ายแล้วคงเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายแหละครับว่าทางฝั่งของบริษัทยังอยากจะขอดูเฟซบุ๊กผู้สมัครงาน หรือทางฝั่งผู้สมัครงานจะยินยอมให้ดูเฟซบุ๊กของตัวเองหรือไม่
ปิดท้ายด้วยคำถามว่า ถ้าบริษัทไม่ได้ขอดูเฟซบุ๊กจะมีผลกระทบกับการตัดสินใจรับผู้สมัครมากน้อยแค่ไหน ?
ฝากให้คิดครับ