“จีเอสเค” ตอกย้ำเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยต่อต้านทุจริต

จากรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในเรื่องดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2016 (Corruption Perceptions Index 2016) พบว่า 2 ใน 3 ของจำนวน 176 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยประเทศไทยได้ 35 คะแนน อยู่ในลำดับ 168 ประเทศ สำหรับประเทศที่ได้อันดับหนึ่งยังคงเป็นประเทศเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ ที่ได้ 90 คะแนนเท่ากัน ขณะที่อันดับ 1 ของทวีปเอเชียและอันดับ 7 ของโลก คือประเทศสิงคโปร์ ได้ 84 คะแนน สถิติเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญและยิ่งใหญ่มาก

หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย ต่างก็มิได้นิ่งแน่นอนใจกับปัญหานี้ เห็นได้จากการจัดตั้งโครงการ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่ปี 2553 และดำเนินงานโดยความร่วมมือของ 8 องค์กรหลัก ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หอการค้าไทย หอการค้าต่างชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่สร้างและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบและทุกวงการในประเทศไทยให้เกิดความโปร่งใสและปลอดการทุจริต โดยเน้นไปที่การใช้ระบบกลไกตลาดและการแข่งขันด้วยราคาและคุณภาพของสินค้าและบริการ พร้อมผลักดันให้ภาครัฐปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างโปร่งใส ยอมรับการมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้จากภาคเอกชนและประชาสังคม เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะจากการทุจริตคอร์รัปชัน

หนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจที่มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต คือ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น ประเทศไทย) จำกัด) หรือ จีเอสเค ซึ่งเป็นบริษัทยารายแรกและรายเดียวที่ได้รับการรับรองเป็นครั้งที่ 2 ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ และโปร่งใส ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้การดำเนินนโยบาย “ยาดีเข้าถึงได้” ที่มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาดีมีคุณภาพให้กับคนไทยอย่างทั่วถึง

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการและเลขานุการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต กล่าวว่า “โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเชิญชวนให้ภาคเอกชนได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการเข้าร่วมนั้น บริษัทต้องแสดงเจตนาในการแก้ไขปัญหาการทุจริตผ่าน 3 เรื่อง คือ หนึ่ง บริษัทต้องมีนโยบายที่ป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบ สอง บริษัทต้องมีระบบการควบคุมภายใน และสาม บริษัทต้องมีการดำเนินตามนโยบายอย่างจริงจัง ตัวอย่าง เช่น จีเอสเค หนึ่งในสมาชิกของแนวร่วมฯ ที่ได้ผ่านการประเมินหลักเกณฑ์เหล่านี้ ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างให้บริษัทอื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้ดีขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดก็ตาม หากมีการทุจริตหรือติดสินบน ก็อาจทำให้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพยังสามารถเสนอขายได้ ซึ่งคนที่เสียประโยชน์ก็คือประชาชนที่ต้องซื้อสินค้าเหล่านั้น แต่หากเราสามารถทำให้การดำเนินธุรกิจปลอดคอร์รัปชัน การแข่งขันอย่างแท้จริงก็จะเกิดขึ้น ประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาไม่สูงมาก เราจึงต้องพยายามทำให้กระบวนการเหล่านี้เติบโตและเข้มแข็ง เหมือนแก้วที่มีน้ำสกปรก ถ้าเราหยดน้ำสะอาดทีละหยด ๆ อีกหน่อยน้ำในแก้วก็จะสะอาดขึ้นเรื่อย ๆ”ดร.บัณฑิต กล่าว

ADVERTISMENT

นายแพทย์ทวิราป ตันติวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น ประเทศไทย (จำกัด) หรือ จีเอสเค กล่าวว่า “จีเอสเค ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 50 ปี เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย เราได้เพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้นโยบาย “ยาดีเข้าถึงได้” ซึ่งส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือ การดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส ถูกต้องตามจริยธรรม และเคารพต่อกฎหมาย ซึ่งเราได้ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเราในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน แต่ยังมอบผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนควรได้รับ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประเทศชาติที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองด้วย”

ทั้งนี้ บริษัทที่สามารถผ่านการรับรองเข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตได้นั้น จะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ ว่า มีการประกาศนโยบายต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ (Zero Tolerance on any form of corruption Policy) และสร้างระบบป้องกันการการจ่ายสินบนและการทุจริตทุกรูปแบบ (Anti-Corruption & Bribery Procedures Standard Setting) ซึ่งเมื่อได้รับการรับรองแล้ว บริษัทฯ จะมีหน้าที่ขยายแนวปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตไปยังคู่ค้าและบริษัทตัวแทนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการประกอบธุรกิจของตนเองต่อไป

ADVERTISMENT