คอลัมน์ : CSR Talk ผู้เขียน : นพ.จอส ฟอนเดลาร์, เรอโน เมแยร์
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับช่วงต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ห้า จนถึงปัจจุบันโรคโควิด-19 คร่าชีวิตคนไทยไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 21,000 คน สิ่งที่ทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกคือ ประเทศไทยยังคงต้องรับมือกับการระบาดของโรคที่คร่าชีวิตประชาชนกว่า 1,000 คนต่อวัน ซึ่งก็คือ โรคไม่ติดต่อ หรือ noncommunicable diseases (NCDs)
โรคไม่ติดต่อ ประกอบด้วย 4 โรคหลัก คือ โรคมะเร็ง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 4 แสนคนต่อปี และกว่าครึ่งของผู้ที่เสียชีวิตจาก NCDs เสียชีวิตก่อนวัยอันควร (เสียชีวิตตั้งแต่อายุ 30-70 ปี)
ถึงแม้ว่า NCDs จะเป็นโรคที่มีมาอยู่ก่อน และคร่าชีวิตคนไทยไปมากกว่าโควิด-19 แต่ความสนใจต่อโรค NCDs มีค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับผลกระทบรุนแรงที่เกิดจาก NCDs ทั้งนี้ การรับมือกับโรคโควิด-19 ของไทยสะท้อนให้เห็นแล้วว่าการให้ความสำคัญกับภาวะวิกฤตทางสาธารณสุขช่วยรักษาชีวิตประชาชนได้ รัฐบาลจึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นหน่วยบัญชาการระดับประเทศ โดยผู้บริหารระดับสูง และมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ จึงมีคำถามต่อการจัดการ NCDs ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 3 ใน 4 คนต่อปี ว่าเป็นอย่างไร
การเกิด NCDs สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโลกาภิวัตน์ ลัทธิบริโภคนิยม แคมเปญการตลาดที่ดุดันของอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำหวาน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, บุหรี่, การไม่มีกิจกรรมทางกาย, มลพิษทางอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในแถบนี้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงสุด (คิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก) อัตราการบริโภคโซเดียม และน้ำตาลของประชากรสูงเป็น 2 เท่า และ 4 เท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน
นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิต และเจ็บป่วยอันดับต้น ๆ ของคนไทย นอกจากนั้น เยาวชนไทย 9 ใน 10 คน ยังมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ (อย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์) และคนไทย ร้อยละ 42 มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งสูงเป็นลำดับ 2 ของประเทศในเอเชีย
ดังนั้น ความเสี่ยงทางพฤติกรรม และเมตาบอลิกเหล่านี้จึงสูงขึ้น เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การบริโภคอาหารจานด่วน การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เพิ่มขึ้น และบริการสร้างเสริมสุขภาพที่ต้องหยุดชะงักเพราะการระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรุนแรงของประเทศไทยจะยิ่งเร่งอัตราการเกิด NCDs ให้สูงขึ้นไปอีก ภายในปี 2583 โดยประชากร 1 ใน 4 คนของไทยจะมีอายุมากกว่า 65 ปี (เมื่อเทียบกับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่
1 ใน 8 คน)
ดังนั้น อนาคตของประเทศไทย ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก NCDs จะมีมูลค่าถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น ร้อยละ 9.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่สำคัญ ความสูญเสียจาก NCDs ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นจะคุกคามความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ซึ่งปัจจุบันงบประมาณกว่าครึ่งนั้นหมดไปกับการรักษา NCDs
นอกจากนั้น NCDs ยังสร้างผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากในแต่ละวัน ประชากรไทยกว่า 74,000 คน ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเจ็บป่วยจาก NCDs และ NCDs ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโควิด-19 เนื่องจากร้อยละ 90 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดในประเทศไทยมีโรคประจำตัว ซึ่งส่วนใหญ่คือ NCDs
ผลเช่นนี้ จึงทำให้รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะจัดการกับปัญหา NCDs โดยดำเนินการหลากหลายมาตรการ ซึ่งรวมถึงแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 2560-2565 และแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 2561-2573 นอกจากนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังเป็นแกนหลักในการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งยังประกาศบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ และแสดงภาพคำเตือนขนาดใหญ่บนซองบุหรี่ ในปี 2560
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมอีกมาก หากประเทศไทยต้องการจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจาก NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ผลเช่นนี้ จึงทำให้สหประชาชาติ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขทำการวิเคราะห์ต้นทุนของ NCDs และผลตอบแทนในการลงทุนเพื่อการป้องกันและควบคุม NCDs ในประเทศไทย
โดยผลการศึกษาพบว่าจะต้องใช้การลงทุนมูลค่า 211 พันล้านบาท เพื่อลดการบริโภคโซเดียม ควบคุมการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่จะช่วยรักษาชีวิตประชากรไทยได้ถึง 310,000 คน ทั้งยังสร้างผลตอบแทนทางเศรฐกิจ ซึ่งมีมูลค่า 430 พันล้านบาท ในช่วงเวลา 15 ปีข้างหน้า
ดังนั้น การดำเนินนโยบายเพื่อจัดการกับ NCDs ที่หลากหลาย และจริงจัง จึงมีความจำเป็นมาก ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด การออกนโยบายที่ส่งเสริมการออกกำลังกายและบริโภคอาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม และการออกมาตรการต่าง ๆ ที่คำนึงถึงสุขภาพประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ
นอกจากนั้น มาตรการทางภาษี และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ควบคุมการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคโซเดียมและน้ำตาลเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นมาก และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรอง และการให้บริการป้องกันและควบคุม NCDs ที่หน่วยบริการสาธารณสุขในชุมชน และในอนาคตข้างหน้า ภาคธุรกิจจะมีบทบาทที่สำคัญในการร่วมต่อสู้กับ NCDs และร่วมสร้างวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพของประชาชนเพิ่มมากขึ้น
เพราะความเจ็บป่วยมีต้นเหตุมาจากปัจจัยทางการค้าและสังคม และรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจะยังคงอยู่ต่อไป แต่เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศฟินแลนด์ หลังจากมีการออกนโยบายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การคัดกรอง และการรักษา NCDs การเสียชีวิตของประชากรก็ลดลงอย่างชัดเจน
ฉะนั้น การระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าการลดผลกระทบจากปัญหาสาธารณสุขจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากประชาชน การบูรณาการทั้งจากภาครัฐ และทุกภาคส่วนในสังคม และความเด็ดเดี่ยวของผู้นำทางการเมือง
เพราะหากประเทศไทยสามารถจัดการ และควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ก็จะสามารถจัดการกับ NCDs ซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล