
คอลัมน์ : CSR TALK ผู้เขียน : กษิติ เกตุสุริยงค์ ดีลอยท์ ประเทศไทย
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจทุกระดับในหลายภาคส่วน วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกันในระบบนิเวศเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านซัพพลายเชน การเข้าถึงเงินทุน และการจัดสรรทรัพยากร เมื่อธุรกิจต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของกลยุทธ์หลัก และการดำเนินธุรกิจ สิ่งสำคัญคือธุรกิจจะต้องยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และการกำกับดูแลกิจการและความซื่อสัตย์ เป็นบททดสอบของภาคธุรกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ภาคธุรกิจจะไม่สามารถเพิกเฉยต่อแรงกดดันต่าง ๆ อีกต่อไป
จากความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสภาพแวดล้อมและสังคมที่เสื่อมโทรมลง ปัจจุบันประเด็น ESG (Environmental, Social and Governance) กลับมาเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจในทางธุรกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิธีที่องค์กรนำความเสี่ยงและเปิดรับโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ระยะยาวของธุรกิจ
และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับความสนใจมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้ องค์กรต่าง ๆ จะถูกเรียกร้องให้ตอบสนองต่อประเด็น ESG หลังจากการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ขณะเดียวกันก็เผชิญกับวิกฤตครั้งนี้จนสิ้นสุดลง และเข้าสู่กระบวนการฟื้นตัวของธุรกิจในลำดับถัดมา
สิ่งแวดล้อม (E-Environmental)
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมถึงวิธีที่บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยง และโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาขยะ การปล่อยมลพิษ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เป็นผลจากการดำเนินธุรกิจ วิกฤตครั้งนี้
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งย้ำเตือนให้ภาคธุรกิจว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคย ภาคธุรกิจจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงเหล่านี้ และพิจารณาผลกระทบไม่เพียงแต่ในซัพพลายเชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำอีกด้วย
จากผลสำรวจของ Deloitte Global Resilience Report ปี 2564 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับ C-level จำนวน 2,260 คน รวมถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาครัฐจาก 21 ประเทศ พบว่ามากกว่า 60% ยึดมั่นในพันธสัญญาที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อม
โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ธุรกิจของตนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นเรียบร้อยแล้ว และ 28% อยู่ระหว่างการดำเนินการ หรือได้กำหนดกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้ซัพพลายเออร์ต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามได้พิจารณาให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นด้านความยั่งยืนอันดับต้น ๆ ที่ภาคธุรกิจต้องจัดการในอีกสิบปีข้างหน้า
สังคม (S-Social)
ธุรกิจจะต้องบริหารจัดการผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ หรือความสัมพันธ์ทางธุรกิจ มุมมองด้านสังคมของความยั่งยืนเป็นแนวทางที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งมุ่งสนใจประเด็นต่าง ๆ เช่น ด้านสวัสดิการ, สุขภาพ และความปลอดภัยของพนักงาน ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเด็นด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัย ความท้าทายทางสังคมต่าง ๆ ที่ธุรกิจกำลังเผชิญ และมีส่วนร่วมในทุกวัน ล้วนเป็นส่วนสำคัญของบริบททางสังคม
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจจะต้องพิจารณาผลกระทบทางสังคมจากมุมมองหลากหลาย เช่น ผู้ร่วมให้ข้อมูลโดยตรงที่มีการควบคุมการปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบ หรือผลกระทบที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับฝ่ายอื่น ๆ เช่น ซัพพลายเออร์ หรือผู้ร่วมลงทุน วิกฤตการณ์ในตอนนี้แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจสามารถตอบสนองต่อผลกระทบทางสังคมได้ดีขึ้นผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน
จากผลสำรวจ Deloitte Resilience Survey 2021 พบว่า สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน และลูกค้า ถูกจัดให้เป็นวาระการประชุมอันดับต้น ๆ ผลสำรวจพบอีกว่า มากกว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าองค์กรของตนดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และลูกค้าเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นว่าการให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตในปี 2563 นี้ไปได้
บรรษัทภิบาล (G-Governance)
ด้านบรรษัทภิบาลมุ่งเน้นแนวปฏิบัติของบริษัทที่สอดคล้องกับความรับผิดชอบทางธุรกิจ และมาตรฐานทางจริยธรรม รวมถึงความเสี่ยงในการบริหารจัดการธุรกิจ, ความโปร่งใส, โครงสร้างองค์กร, ความหลากหลายของคณะกรรมการบริหารช่องว่างระหว่างรายได้, การสนับสนุนทางการเมือง, การปฏิบัติตามข้อกำหนดความปลอดภัยของข้อมูล และความเป็นส่วนตัว, การระบุ
และผนวกรวมวัตถุประสงค์เป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจจะแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานในการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางด้านผลการดำเนินงานทางการเงิน และความรับผิดชอบต่อสังคม
ตลอดจนเพิ่มความมั่นใจในการตอบสนอง ความรับผิดชอบ และความไว้วางใจในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, การเพิ่มความสามารถในการปรับตัวตอบสนองต่อการหยุดชะงัก และการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอย่างรวดเร็ว
รวมถึงการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นที่ล้วนมีส่วนสำคัญของหลักธรรมาภิบาล ดีลอยท์พบว่าบริษัทที่มีความยืดหยุ่น มีลักษณะเด่น 5 ประการ ได้แก่ มีการเตรียมพร้อม, ปรับตัวได้, ให้ความร่วมมือ, เชื่อถือได้ และมีความรับผิดชอบ