SET จับมือ KBTG พัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล เตรียมให้บริการปี’64

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) พัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจรบนเทคโนโลยีประมวลผลและจัดเก็บแบบกระจายศูนย์  (Distributed Ledger Technology หรือ DLT) เพิ่มโอกาสความหลากหลายของการระดมทุนและลงทุน ตอบสนองไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล ตั้งเป้าให้บริการได้ภายในปี 2564

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้ง บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร ได้แก่ ระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก (Initial Coin Offering Portal หรือ ICO Portal) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Wallet)

 “ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนจับมือกับพันธมิตรรายอื่นเพิ่มเติม เพื่อร่วมมือกันพัฒนา ecosystem ของสินทรัพย์ดิจิทัลร่วมกัน ทั้งนี้ KBTG จะเป็นผู้ให้บริการ ICO Portal รายแรกที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ         จะพัฒนาขึ้นนี้ โดยขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการประเมินความเป็นไปได้และวิเคราะห์ประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการระดมทุนโทเคนดิจิทัลบนแพลตฟอร์มนี้ในปี พ.ศ. 2564” นายภากรกล่าว

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)  กล่าวว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจรด้วยเทคโนโลยี DLT เกิดจากวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันในการเพิ่มช่องทางการลงทุนในผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มใหม่ ที่เพิ่มโอกาสให้แก่ธุรกิจในการระดมทุน และเป็นทางเลือกแก่นักลงทุนที่มองหาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่แตกต่าง มีรูปแบบผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงที่หลากหลาย เพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินในปัจจุบัน โดยเชื่อว่าการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของการระดมทุนและลงทุนในประเทศไทยภายใน 2-3 ปี

นายญาณวิทย์ รักษ์ศรี Senior Principal Visionary Architect บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวในการเสวนา “รู้จักและเข้าใจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมการลงทุนและการใช้ชีวิตไว้ในที่เดียว” ความว่า แพลตฟอร์มนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และ KBTG ได้ออกแบบร่วมกันตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้เทคโนโลยี DLT หรือ Blockchain เสมือนซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งที่มีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ทุกคนจะเห็นข้อมูลตัวเดียวกัน เหมือนกัน ไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากนี้ยังสามารถเขียนสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) เป็นสัญญาที่ทุกคนยอมรับ เป็นกลาง ไม่มีการแก้ไข   และสามารถยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม (Transaction) ได้ นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยี DLT เปลี่ยนแปลงโลก ปัจจุบันก็มี Use case ในหลายประเทศ ประเทศไทยก็เป็นอันดับต้น ๆ ที่ประยุกต์ใช้ Blockchain เช่นเดียวกัน 

นายกิตติ สุทธิอรรถศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสำนักผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการระดมทุนสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่กึ่งกลางระหว่าง Leasing (การทำสัญญาเช่าสินทรัพย์) และ Debt Financing (เงินกู้) ซึ่งโทเคนดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นนี้ได้นำเอา 3 รูปแบบของโทเคนดิจิทัล มาบูรณาการไว้ด้วยกัน (Hybrid contact) คือ Investment token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) Utility token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์) และ Payment token (โทเคนในการซื้อขาย) ซึ่งโทเคนดิจิทัลนี้จะรองรับสำหรับสินทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Asset-Backed Token) เท่านั้น ดังนั้นคริปโทเคอร์เรนซี่ บิทคอยน์ อีเธอร์เลียม จึงไม่สามารถเข้าร่วมในแพลตฟอร์มนี้ได้ 

“แรงขับเคลื่อนของแพลตฟอร์มระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เกิดขึ้นนตอนนี้เริ่มมาจาก Personalization Informatization, Globalization และ Platformization สิ่งที่เราทำทุกวันนี้ เราไม่ได้คิดเหมือน Amazon หรือเราไม่ได้คิดเหมือนAlibaba ที่เขาคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง สิ่งที่เราและ KBTG คิดด้วยกันก็คือว่า เราจะไม่ได้เป็นเจ้าตลาดคนใดคนหนึ่ง เราเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนเข้ามาและมี Fixation cost น้อยที่สุด”

 “ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในตำแหน่งที่ทุกคนเชื่อมั่น เชื่อถือ เชื่อมือ และเชื่อใจ การที่ตลาดหลักทรัพย์ เข้ามาทำแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะใช้ระบบหลังบ้านร่วมกัน ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน แต่ต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ได้ต้องการแข่งกับผู้ประกอบการรายใด แต่เป็นการแข่งกับจินตนาการของตัวเอง ที่จะทำให้สิ่งประดิษฐ์ เป็นนวัตกรรมที่สามารถทำเงินได้ และเป็นการเชื่อมโยงโลกของเศรษฐกิจจริง (Real sector) กับภาคการเงิน (Financial sector) เป็นหนึ่งเดียวกันได้” นายกิตติกล่าวทิ้งท้าย