รู้จัก ‘SSF-RMF’ ก่อนลงทุนโค้งสุดท้าย ประหยัดภาษีจริงไหม? ใครเหมาะลงทุน?

ปิดท้ายปลายปี ในงานสัมมนาออนไลน์ “Mutual Fund Fair: เปิดร้านออนไลน์ขายกองทุนประหยัดภาษี” จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม (Thai Mutualfund) “ธีรนาถ รุจิเมธาภาส” กรรมการอำนวยการ บลจ.ทิสโก้ มาช่วยไขข้อข้องใจว่า กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีแทน LTF คืออะไร? เคล็ดลับการบริหารเงินออมด้วย SSF-RMF ได้ประโยชน์อะไร และถ้าจะวางแผนประหยัดภาษี กองทุน SSF และ RMF ทั้งสองตัวนี้ ควรจะซื้ออะไรดี

ทำความรู้จัก กองทุน SSF

กองทุน SSF (Super Saving Funds) คือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว พิเศษกว่ากองทุนรวมทั่วไปตรงที่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ซึ่งจะสามารถลดหย่อนภาษีได้แบบปีต่อปี ซื้อปีไหนก็ใช้ลดหย่อนปีนั้น โดยมีช่วงระยะเวลาในการซื้อตั้งแต่ปี 2563 และสิ้นสุดโครงการในปี 2567 ส่วนจะมีการขยายเวลาลงทุนหรือไม่ต้องติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง 

SSF น้องใหม่ แตกต่างจาก RMF อย่างไร

SSF และ RMF มีเงื่อนไขของการลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้เท่ากัน แต่กองทุน SSF จะลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ขณะที่ RMF ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ซึ่งทั้ง SSF และ RMF เมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และอีกหนึ่งความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสองกองทุนนี้ก็คือ “ระยะเวลาในการถือครอง” ผู้ที่จะลงทุนใน SSF ต้องมั่นใจว่าจะสามารถถือครองกองทุนได้ไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันซื้อ โดยผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนต่อเนื่องทุกปี แต่ถ้าเป็น RMF จะต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปีไม่น้อยกว่า 5 ปี และจะขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปี โดยต้องซื้อกองทุนต่อเนื่องทุกปีด้วย

เจาะลึก SSF และ RMF เหมาะกับวัยไหนบ้าง?

การลงทุนใน SSF/RMF เป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ได้ประโยชน์หลายต่อ ต่อที่หนึ่ง เงินที่ลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ต่อที่สอง กำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไม่ต้องเสียภาษี และความพิเศษก็คือเงินที่ประหยัดภาษีได้สามารถนำเงินมาต่อยอดลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มเงินออมได้อีก

ด้วยความน่าสนใจของทั้งสองกองทุน จึงเกิดคำถามว่า SSF และ RMF เหมาะกับวัยไหนบ้าง ใครเหมาะที่จะลงทุนกับกองทุนแต่ละประเภท ซึ่งเงื่อนไขการลงทุนเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนจะต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน

ก่อนอื่นต้องรู้วัตถุประสงค์ของการลงทุนของตัวเองก่อน ซึ่งทั้ง SSF และ RMF ต่างมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ “ส่งเสริมการออมระยะยาว” ซึ่งให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแน่นอน เราจะเห็นว่าใครที่มีเงินออม รู้จักออมเงิน จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยในเจอวิกฤต ทั้งสองกองทุนนี้ จึงเหมาะกับคนที่อยากออมเงินระยะยาว 

คนที่อายุยังไม่มากประมาณ 25 – 35 ปี เป็นช่วงที่เริ่มทำงาน หรือมีรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน และเริ่มเสียภาษี หากอยากลดหย่อนภาษี อาจจะเหมาะกับ SSF เพราะถือครองเพียง 10 ปี ถ้าคนที่มีรายได้สูงขึ้นมาหน่อย อาจจะต้องซื้อทั้ง SSF/RMF เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก 

ส่วนคนวัยประมาณ 45 ปี กองทุน RMF อาจจะเหมาะมากกว่า SSF ยกเว้นแต่ว่าคุณมีเงินได้มาก และใช้สิทธิลดหย่อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้ว ก็ยังไม่ครบ 5 แสนบาท ก็สามารถซื้อ SSF ได้ตามความสมัครใจ

ก่อนลงทุนอย่าลืมศึกษานโยบายการลงทุน

    SSF เป็นกองทุนลดหย่อนภาษี แต่นโยบายการลงทุนก็ขอให้เลือกให้ถูกว่าเราเหมาะหรืออยากลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน รับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน และคาดหวังผลตอบแทนอะไร เพราะแต่ละคนมีเป้าหมายการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูง เติบโตในระยะยาว รับความผันผวนได้ ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ หรือบางคนอาจจะรับความเสี่ยงได้ไม่มาก ก็อาจจะลงทุนในกองทุนผสม หรือกองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น

“ส่วน RMF ที่หลายคนคุ้นเคยก็มีทั้งลงทุนในในประเทศและต่างประเทศ ทั้งหุ้นไทย ตราสารหนี้ และมีกองทุนผสมให้เลือกลงทุนได้เช่นเดียวกัน สามารถเลือกการลงทุนได้ตามความต้องการ ขอให้เลือกการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองจะได้ไม่ผิดหวัง ประสบความสำเร็จในการออมระยะยาว” ธีรนาถฝากทิ้งท้าย  

หากพอเข้าใจคอนเซ็ปต์การออมเพื่อประหยัดภาษีแล้ว คุณสามารถเพิ่มพลังการออมในอนาคตเพิ่มขึ้นได้ แนะนำให้ไปที่เว็บ www.settrade.com/mutualfund  ซึ่งจะมีข้อมูลของ SSF/RMF และกองทุนอื่นๆ ให้ศึกษาเพิ่มเติม  ทดลองใช้โปรแกรมคำนวณภาษี เพื่อดูรายได้ ภาระหนี้สิน และกำลังการออมของตัวคุณเองว่าสามารถซื้อกองทุน SSF/RMF ได้สูงสุดที่เท่าไหร่ จะได้ตัดสินใจง่ายขึ้น 

บทเรียนจากโควิด 19 สอนให้คนไทยตระหนักว่า การออมเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากคิดจะออมแล้ว นอกจากจะออมเก่งก็ต้องออมอย่างฉลาด เป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีมาเพิ่มพลังการออมให้กับตัวเองได้